ส.ส.โวยถูกแอบใส่ชื่อในก๊วนธรรมนัส ร้อง‘หัวหน้าป้อม’ทบทวนมติพปชร.ขับพ้นพรรค

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2565 ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ซึ่งเป็น 1 ใน 21 ส.ส. ที่พรรคพลังประชารัฐมีมติขับออก ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เพื่อขอให้ทบทวนมติพรรค ที่ให้สมาชิกออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 19 ม.ค. โดยหนังสือดังกล่าวมีทั้งหมด 8 หน้า มีสาระสำคัญ

1.ข้าพเจ้าไม่เคยทราบและไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา จะเสนอให้มีการปรับโครงสร้างขนานใหญ่ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคแถลง

2.ข้าพเจ้าไม่เคยเรียกร้อง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่มีส่วนร่วมใดๆในการเสนอข้อเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างพรรคของร.อ.ธรรมนัส กับพวก

3.ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเหตุใดจึงมีชื่อข้าพเจ้าเสนอต่อที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคและที่ประชุมส.ส.เพื่อพิจารณาว่า ข้าพเจ้าและร.อ.ธรรมนัส และพวก รวม 21 คนเรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างพรรค

4.จากการแถลงข่าวของนายไพบูลย์ ปรากฏว่านายไพบูลย์ กล่าวถึงร.อ.ธรรมนัส แต่เพียงผู้เดียวที่อ้างว่าหากไม่มีการดำเนินการปรับโครงสร้างพรรคจะมีการเคลื่อนไหวต่างๆ จากข้อเท็จจริงของการแถลงข่าวของนายไพบูลย์ จะเห็นว่า การกระทำที่อาจเข้าข่ายหลักเกณฑ์ข้อบังคับพรรคนั้นเป็นการกระทำของร.อ.ธรรมนัส แต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า และส.ส.ของพรรครายอื่นๆในรายชื่อ 21 คน

5.ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ของข้อเสนอร.อ.ธรรมนัส กับพวก ทำให้เกิดความเสียหายแก่หลักการแห่งพรรคพลังประชารัฐ

6.หากข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างพรรคตามข้อเสนอของร.อ.ธรรมนัส มีอยู่จริง แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติหรือดำเนินการใด

7.การมีมติให้ข้าพเจ้าออกจากการเป็นสมาชิกพรรค รวมไปกับร.อ.ธรรมนัสและส.ส.รวม 21 คน โดยอ้างเหตุว่ามีการก่อให้เกิดเหตุร้ายแรงต่อหลักการแห่งพรรค เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง เป็นผลกระทบต่อประวัติของข้าพเจ้าและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ข้าพเจ้าอย่างร้ายแรง ดังนั้น กรรมการบริหารพรรค จึงควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ข้าพเจ้าก่อนว่าข้าพเจ้าจะทำตามที่ถูกกล่าวอ้างจริงหรือไม่

และ8.รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (9) วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าการพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมกันของกรรมการบริหารพรรคและส.ส. แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในการลงมติในที่ประชุมนั้นมีสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยและยังมีข้อสงสัยว่าการดำเนินการของที่ประชุมเป็นไปตามข้อบังคับพรรคและกฎหมายหรือไม่ แต่ผู้ดำเนินการประชุมกลับดำเนินการให้มีการลงมติ

โดยการลงมติครั้งแรกนั้นผลการลงมติของที่ประชุมได้คะแนนไม่ถึง 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ร่วมประชุม ซึ่งถือว่าการลงมติเป็นอันสิ้นสุดแล้ว แต่ผู้ดำเนินการประชุมกลับดำเนินการให้ที่ประชุมอีกครั้ง โดยการลงมติครั้งที่ 2 มีการเจรจากับผู้ที่งดออกเสียงขอให้ลงมติให้ข้าพเจ้ากับส.ส.อื่นรวม 21 คนพ้นจากการเป็นสมาชิก แสดงให้เห็นว่ามีการกระทำที่เจตนาจงใจให้ข้าพเจ้ากับส.ส.อื่นรวม 21 คนพ้นจากการเป็นสมาชิกโดยไม่เป็นธรรม เป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ