‘ชัชชาติ’ ถกปม ‘ฝั่งธนฯ’ ชี้รัฐเน้นโครงการใหญ่ ลืมเส้นเลือดฝอย ‘รสนา’ เทียบคลองไม่ต่างระบบราง

‘ชัชชาติ’ ถกปม ‘ฝั่งธนฯ’ ชี้รัฐเน้นโครงการใหญ่ ลืมเส้นเลือดฝอย ‘รสนา’ เทียบคลองไม่ต่างระบบราง

เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) โครงการกรีนธนบุรี จัดเสวนา “รวมกัลยาณมิตร ชุบชีวิตคูคลองฝั่งธนบุรี” โดยมีผู้แทนชุมชนสำคัญในย่านฝั่งธนบุรี เช่น กุฎีจีน ตลาดพลู บางประทุน บางมด บางอ้อ พูนบำเพ็ญ โดยตัวแทนทั้ง 7 ชุมชนได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดกับชุมชมคลอง ที่เกิดปัญหาด้านการถูกไม่ให้ความสำคัญในวิถีชุมชน เช่น การปิดทางสัญจรการเดินเรือ การสร้างถนนทับ และการเกษตรที่กำลังจะหายไปเรื่อยๆ อย่างส้มบางมด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเสวนาดังกล่าวมีว่าที่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมด้วย ได้แก่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวรสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค

นางสาวรสนากล่าวว่า พื้นที่ฝั่งธนฯที่เคยเป็นกรุงธนบุรีในอดีตเคยเป็นเมืองท่าที่ทำให้เกิดการค้าขาย และมีคลองจำนวนมาก แต่ปัจจุบันนี้คลองได้เน่าเสียหมดแล้ว เพราะการพัฒนาได้ทิ้งวิถีชีวิตเดิมของชุมชน ทั้งยังมีการถมถนนทำให้คลองกลายเป็นแค่ที่ระบายน้ำ ซึ่งในความเป็นจริงคลองไม่ต่างจากระบบราง สามารถสัญจรได้เร็วเหมือนรถไฟฟ้า การกั้นทางเดินเรือสะท้อนให้เห็นผู้บริหารบ้านเมืองไม่ให้ความสำคัญกับคลอง ซึ่งการบริหารท้องถิ่นเป็นการบริหารเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ควรมีการหารือและให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกความเห็น เพราะชาวบ้านรู้วิธีแก้ปัญหามากกว่า และทำคลองให้เป็นทางสัญจรและที่ค้าขาย

นางสาวรสนากล่าวว่า ใน 26 ภารกิจของ กทม.ในข้อ 14 ระบุไว้ชัดเจนว่าให้มีการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และบำรุงรักษาศิลปะ จารีต ประเพณี ภูมิปัญญาอันดีและวัฒนธรรมอันดีของประเทศ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้เป็นหน้าที่ของผู้ว่าฯ

“ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง กทม. ประชาชนต้องส่งเสียงออกมาและบีบผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าฯคนต่อไปให้แก้ไขตามสิ่งที่ประชาชนต้องการ” นางสาวรสนากล่าว

ด้าน นายชัชชาติกล่าวว่า ปัญหาของพื้นที่ฝั่งธนหรือในกรุงเทพฯหลายพื้นที่ แบ่งเป็น 4 ประเด็น คือ 1.ปัญหาสำคัญคือกรุงเทพฯมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรวดเร็ว หากไม่เตรียมตัวรับมืออาจจะมีปัญหาที่หนักขึ้น 2.ที่ผ่านมาการพัฒนาในหลายด้านจะเน้นการทำโครงการใหญ่ แต่ลืมเส้นเลือดฝอยที่จะเดินทางไปสู่เส้นเลือดใหญ่ หรือการเดินทางของชาวบ้านที่เดินทางไปยังขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าสายต่างๆ

นายชัชชาติกล่าวว่า 3.หัวใจของการอยู่ในเมืองคือตลาดแรงงาน เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป คำถามคือชาวบ้านจะสามารถใช้อะไรเพื่อสู่กับสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ หัวใจที่จะตอบโจทย์คือ creative economy หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การเพาะปลูกพืชอย่างไรเหมือนที่ญี่ปุ่นที่มีฟาร์มอยู่ในเมือง ให้มีความสร้างสรรค์ เพื่อให้คนตัวเล็กตัวน้อยสามารถดำรงอยู่ได้ ที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยสนใจเศรษฐกิของชุมชนเลย ภาคชุมชนจึงต้องพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นมา สร้างแหล่งท่องเที่ยว สร้างเกษตรสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ 4.ความสำเร็จทั้งหมดไม่ได้ขึ้นกับภาครัฐ แต่หัวใจคือความเข้มแข็งของชุมชน และรัฐให้เกียรติชุมชน

“รัฐต้องไม่สั่งการแต่นำชุมชนมาเป็นทุน เป็นพวก ไม่ใช่มองชุมชนเป็นภาระ อย่าหวังว่าภาครัฐจะมาแก้ปัญหาทั้งหมด เพราะภาครัฐไม่มีทางสำเร็จ ต้องเอาชุมชน นักวิชาการ และเอกชน มาร่วมกันถึงจะสำเร็จ” นายชัชชาติกล่าว

ทั้งนี้ กิจกรรรมดังกล่าวจัดโดยโครงการกรีนธนบุรี ด้วยความร่วมมือระหว่างทุน บพท. มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันคลังสมองของชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสยาม สถาบันอาศรมศิลป์ กลุ่มยังธน กลุ่ม Chula Zero Waste กลุ่ม Less Plastic เป็นต้น เพื่อสร้างมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนคุณค่า ความรู้ ความคิดเห็น ปัญหา ระหว่างเครือข่ายชุมชน ภาควิชาการ ภาคการเมือง ไปสู่การขับเคลื่อนย่านคลองฝั่งธนบุรีฉันมิตรร่วมกัน