เทพไท เหน็บ พปชร. ลั่นถ้านโยบายทำไม่ได้ อย่าใช้หาเสียง จี้ กกต.สอบ หลอกลวงประชาชน

“เทพไท” เหน็บนโยบาย พปชร. ซัดถ้าทำไม่ได้ อย่าใช้หาเสียง
เมื่อวันที่ 8 มกราคม นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า “ผมเห็นข่าวการเกิดวิวาทะ ระหว่างคนรอบข้างนายกรัฐมนตรีกับทีมงานของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กรณีที่พรรคไทยสร้างไทย ได้ออกนโยบายให้บำนาญประชาชน เดือนละ 3,000 บาท จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบว่าขัดต่อกฎหมายการหาเสียงหรือไม่

ส่วนตัวเห็นว่า นโยบายของพรรคการเมืองนั้นจะนำเสนอนโยบายในการหาเสียงในเรื่องใดนั้น จะต้องรับผิดชอบในนโยบายนั้นๆ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ต้องทำตามที่โฆษณาหาเสียงไว้ สำหรับนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยนั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะยังไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่นโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2562 ถือว่าเป็นสัญญาประชาคม เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ได้นำนโยบายไปปฏิบัติตามที่ได้โฆษณาหาเสียงไว้ สามารถได้จริงหรือไม่ เช่น

นโยบายเพิ่มค่าจ้างและค่าแรง ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน จบอาชีวะ เงินเดือนเริ่มต้น 18,000 บาท จบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท

นโยบายดูแลราคาสินค้าเกษตร พรรคพลังประชารัฐได้เคยประกาศไว้ในหลายโอกาสว่า หากได้เป็นรัฐบาล จะดูแลราคาสินค้าเกษตร ไม่ให้มีราคาต่ำกว่านี้ เช่น ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาท/ตัน ข้าวเจ้า 12,000 บาท/ตัน อ้อย 1,000 บาท/ตัน ยางพารา 65 บาท/กก. ปาล์ม 5 บาท/กก. มันสำปะหลัง 3 บาท/กก.

นโยบาย “มารดาประชารัฐ” ซึ่งเป็นนโยบายสวัสดิการของพรรค ที่ตั้งใจมอบให้กับแม่และเด็ก ตั้งครรภ์รับ 3,000 บาท/เดือน โดยสามารถรับได้สูงสุดไม่เกิน 9 เดือน รวมไม่เกิน 27,000 บาท ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท ค่าดูแลเด็ก 2,000 บาท/เดือน โดยจะได้รับจนเด็กอายุ 6 ขวบ รวมแล้วเป็นเงิน 144,000 บาท/คน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่ประกาศออกมาอีก เช่น
-เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 5,000 บาท/เดือน
-ยกเว้นภาษีแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี
-ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10%
-พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 4 ปี
-ตั้งกองทุนพลังประชารัฐ หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท

นายเทพไทระบุด้วยว่า ผมอยากให้ กกต.และสังคม ได้ตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐว่าการที่ได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จนเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้นำนโยบายที่หาเสียงไปสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวงประชาชน เพื่อหวังผลคะแนนเสียงเท่านั้น เสร็จการเลือกตั้งแล้วมาเป็นรัฐบาล ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ได้ผลักดันนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ที่ใช้ในการหาเสียง มาเป็นนโยบายของรัฐบาลจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นการทำตามนโยบายที่ใช้หาเสียง และคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนแล้ว