‘ดร.เอ้’ ลงพื้นที่บางขุนเทียน ระดมไอเดียแก้น้ำทะเลกัดเซาะฝั่ง ชี้ปัญหากทม.แก้ได้ด้วยวิศวกรรม

“ดร.เอ้” ลงพื้นที่บางขุนเทียน ระดมสมองแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ แนะ ถมด้วยหินเทียมหล่อคอนกรีต ชี้ น้ำหนักเบา และ ไม่กระทบต่อ “ประมงชายฝั่ง” พร้อมทำกิจกรรมร่วมนักปั่นจักรยาน เสนอสร้างทางพิเศษ-จุดพัก เชื่อ ปัญหากทม.แก้ได้ด้วยหลักวิศวกรรม

วันที่ 28 ธ.ค. นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายสารัช ม่วงศิริ ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางขุนเทียน และนายสากล ม่วงศิริ อดีตส.ส. 4 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันลงพื้นที่บริเวณชายทะเลบางขุนเทียน เพื่อรับฟังปัญหาของเขตบางขุนเทียน ซึ่งกำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากน้ำทะเลหนุนสูง และในอนาคตเมื่อปัญหาโลกร้อนหนักขึ้นก็จะยิ่งทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น ปัจจุบันเขตบางขุนเทียนสูญเสียที่ดินจากการถูกน้ำทะเลกัดเซาะลึกเข้ามากว่า 2 กิโลเมตร สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนและที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชน

นายสุชัชวีร์ กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนป้องกันน้ำทะเลหนุนของ กทม. มีลักษณะเป็นไม้ไผ่ ซึ่งไม่ใช่วัสดุทำเขื่อนป้องกันทะเลได้ เพราะไม่มีความแข็งแรง เมื่อติดตั้งเพียง 1-2 ปี เจอแดดและความชื้นไม่นานก็เสื่อมสภาพ กลายเป็นขยะไหลเข้าไปในวังเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงหอยของชาวบ้าน ส่วนการไฟฟ้านครหลวงบริจาคเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้วมาปักเป็นแนวเขื่อนป้องกันทะเล แม้มีคุณภาพดีกว่าต้นไผ่ แต่ก็ยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาได้ เพราะเสาไฟฟ้าจะเอียงตามสภาพของแรงคลื่นที่กระทบตลอดเวลา ถือเป็นการช่วยเหลือเพียงชั่วคราว รวมทั้งการปลูกป่าโกงกางเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำทะเลก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากน้ำทะเลซัดจนต้นโกงกางไม่สามารถหยั่งรากได้

นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศที่ประสบปัญหาน้ำทะเลหนุน เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย หรือยุโรป จะนิยมใช้วิธีถมด้วยหินเทียมจากการหล่อคอนกรีต มีลักษณะสามขา โดยไม่ใช้หินจริงที่ต้องระเบิดจากภูเขาก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการถมด้วยหินเทียมมีข้อดี คือ มีน้ำหนักมาก และจะมีช่องให้สัตว์น้ำสามารถเข้าไปวางไข่ได้ ไม่กระทบกับการทำประมงชายฝั่ง อีกทั้งปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการหล่อคอนกรีตที่บริษัทของไทยสามารถทำได้

นายสุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตนและคณะได้เริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเช้า โดยได้ร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มนักปั่นจักรยานที่บริเวณสะพานรักษ์ทะเล พร้อมกับรับฟังปัญหาจากกลุ่มนักปั่นจักรยาน พบว่า บริเวณสะพานมีที่จอดรถไม่เพียงพอ จึงได้ร่วมเสนอจุดจอดที่วัดหลวงพ่อเต่า พร้อมกับสร้างทางจักรยานพิเศษ 3 กิโลเมตร พร้อมจุดพัก ซึ่งมีที่อาบน้ำและร้านอาหาร เพิ่มความสะดวกสบายให้นักปั่นจักรยานและดึงดูดนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ชาวบ้านในพื้นที่ยังประสบปัญหาจากการสัญจรบนสะพานที่มีขนาดทั้งเล็กและแคบ ทำให้ยามเจ็บป่วยไม่สามารถรับส่งคนเจ็บได้ และศูนย์สาธารณสุขในพื้นที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำให้ต้องเดินทางหาหมอได้ยากลำบาก

นายสุชัชวีร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับในช่วงบ่าย ตนและนายสารัชจะเดินทางเข้าพบปราชญ์ชาวบ้านไทยรามัญ กัลยา ปุงบางกระดี่ เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดท่องเที่ยว 2 วัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่สามารถช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากได้ ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหากทม.สามารถแก้ได้โดยหลักวิศวกรรม ในต่างประเทศเจอวิกฤตมาแล้วทั้งนั้น ตนจึงมั่นใจว่าการแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุนในบางขุนเทียนนั้น เราทำได้