“ดร.ศักดิ์สิน” กรรมการปฏิรูปฯ การศึกษา ชูกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ 5 สเต็ป กระตุ้นสร้างแอคทีฟเลินนิ่ง ตั้งเป้าเด็ก ป.1-ม.6 ยุคใหม่สร้างนวัตกรรมได้

กรุงเทพฯ 7 ธันวาคม 2564ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ชูโมเดลการคิดขั้นสูงเชิงระบบ 5 ขั้น (GPAS 5 Steps) เน้นกระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลินนิ่ง พร้อมทั้งเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ประกอบด้วย 1.แสวงหาข้อมูลรอบด้านเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ 2.คิด-วิเคราะห์-สรุปความรู้เพื่อวางแผนเตรียมปฏิบัติ 3.ลงมือทำจริง แก้ปัญหาจริง เพื่อพัฒนาหาแนวทางที่ดีที่สุด 4.สื่อสารและนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย 5.สร้างคุณค่าให้ผลงาน ต่อยอดประโยชน์สู่สังคม สอดคล้องกับแผนปฏิรูปฯ การศึกษาบิ๊กร็อคที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะความสามารถที่คงทนผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผลสำเร็จจาก 30 โรงเรียนต้นแบบ พบว่าเด็กนักเรียนในช่วงชั้น ป.1-.6 สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมกว่า 1,800 นวัตกรรม และคาดว่าจะมากขึ้นในปีการศึกษาต่อไป

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในด้านประชากร ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนการสอน มาเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Active Learning) ที่เน้นการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและสนับสนุนให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างการเรียนรู้ ผ่านการพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ (GPAS) โดย คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้วางกรอบนโยบายปฏิรูปการศึกษา เรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 (บิ๊กร็อคที่ 2) ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ 5 ขั้น (GPAS 5 Steps) มีสาระสำคัญ ดังนี้

·        แสวงหาข้อมูลรอบด้านเพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ (Gathering) ผู้เรียนเกิดการสังเกต หรือตั้งข้อสงสัยในปัญหาจากการกระตุ้นของครูผู้สอนผ่านกิจกรรมการเรียนการสอน เช่น การสร้างสถานการณ์เพื่อฝึกให้ผู้เรียนตั้งคำถามกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้ผู้เรียนต้องการหาคำตอบด้วยตัวเองด้วยการสืบค้นความรู้จากแหล่งข้อมูลรอบตัว

·     คิดวิเคราะห์สรุปความรู้เพื่อวางแผนเตรียมปฏิบัติ (Processing) ผู้เรียนนำข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่รวบรวมได้มาร่วมกันวิเคราะห์ ว่าจะสามารถนำไปแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร จากนั้นจึงจัดจำแนกข้อมูล และนำไปวางแผนการปฏิบัติ เช่น การคิดสร้างนวัตกรรมเพื่อนำไปแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน

·     ลงมือทำจริง แก้ปัญหาจริง เพื่อพัฒนาหาแนวทางที่ดีที่สุด (Applying 1) ผู้เรียนนำองค์ความรู้ที่ผ่านการวิเคราะห์และวางแผนแล้วไปปฏิบัติและลงมือทำ โดยจะเกิดการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการปฏิบัติจริง การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม เพื่อพัฒนาให้เกิดผลสำเร็จที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

·     สื่อสารและนำเสนอในรูปแบบที่หลากหลาย (Applying 2) ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานและการแก้ปัญหา จนสามารถสรุปออกมาเป็นหลักการ สื่อสารผ่านการนำเสนอในรูปแบบแผนภาพความคิด นำเสนอเป็นรายงาน การอภิปราย การบรรยาย หรือจัดทำเป็นสื่อต่างๆ

·      สร้างคุณค่าให้ผลงาน ต่อยอดประโยชน์สู่สังคม (Self-Regulating) ผู้เรียนมีจิตสาธารณะและเห็นคุณค่าในผลงาน สามารถขยายผลหรือต่อยอดองค์ความรู้นั้น เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือแก้ไขปัญหาสังคมในด้านต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงกับบริบทของแต่ละชุมชน

ทั้งนี้ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning คือ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอนที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้  มีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่คงทนผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย มีส่วนร่วมในทุกกระบวนการเรียนรู้ เกิดความกระตือรือร้นที่จะใฝ่รู้ สามารถใช้องค์ความรู้ผลิตผลงานหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ได้

 

“อย่างไรก็ตาม การปรับการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าว ผ่านการพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่ประสบผลสำเร็จแล้วอย่างมากในประเทศไทย คือ โรงเรียนต้นแบบในภาคเหนือจำนวน 30 โรงเรียน อาทิ โรงเรียนสระแก้ว โรงเรียนเทศบาล 1 (หนองกะพ้ออนุสรณ์) โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ โดยมีนักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถสร้างนวัตกรรมกว่า 1,800 นวัตกรรม แบ่งออกเป็น นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ นวัตกรรมเชิงวัฒนธรรม นวัตกรรมเชิงอุตสาหกรรม และนวัตกรรมเชิงบริการ โดยคาดว่าในปีการศึกษาต่อไปจะต้องเกิดนวัตกรรมจากเด็กในช่วงวัยดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่า 3,000 นวัตกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการขยายผลไปยังพื้นที่ภูมิภาคอื่นๆ ให้ครอบคลุมสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการยกระดับคุณภาพการศึกษา ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาต่อไป” ดร.ศักดิ์สิน กล่าวสรุป

ติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรม ของ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ได้ใน 4 ช่องทาง ดังนี้ เว็บไซต์ https://www.thaiedreform2022.org เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/Thaiedreform2022 ยูทูบช่อง ‘thaiedreform2022’ และทวิตเตอร์ https://twitter.com/Thaiedreform22  

Portrait lovely girl front of education blackboard in background
Group of Asian elementary students wearing protective mask to Protect Against Covid-19,Students in uniform with teacher studying together at classroom,Back to school reopen their school.
Group of Asian elementary school students wearing hygienic mask to prevent the outbreak of Covid 19 while back to school reopen their school.