‘โรม’ ชวนปชช.ติดตาม ร่างกม.ล้างมรดก คสช. เข้าสภา วอน ปธ.สภา อย่าดองฉบับ อนค.

ชวนติดตาม ร่างกฎหมาย ‘ล้างมรดก คสช.’ ฉบับประชาชน เข้าสภา ‘โรม’ จี้ ‘ประธานสภา’ อย่าดอง ร่างฯ อนค. ให้บรรจุเข้าพิจารณาพร้อมกันด้วย ยืนยันพรรคก้าวไกลพร้อมโหวตรับหลักการการล้างมรดกบาป คสช.

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สัปดาห์นี้ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญในการล้างมรดก คสช. เนื่องจากทางไอลอว์ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายภาคประชาชนที่ต้องการ ‘รื้อมรดกคสช.’ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ….ที่ เข้าชื่อเสนอโดยประชาชน 13,409 คน ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. รวม 35 ฉบับ ได้ถึงคิวการพิจารณาและจะบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 นี้
.
โดย รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ตนและพรรคก้าวไกลขอสนับสนุนร่างกฎหมายของประชาชนและการอภิปรายที่กำลังจะมีขึ้นในครั้งนี้อย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้อยากเชิญชวนให้สื่อมวลชนและพี่น้องประชาชนติดตามการอภิปราย เพื่อช่วยกันส่งเสียงไปให้ถึง ส.ส.ในสภาทุกคน ให้มาร่วมกับประชาชนในการปลดอาวุธ คสช.ที่ยังคงอยู่ ถึงแม้ว่าตอนนี้ คสช.จะหมดสถานะไปแล้วในทางกายภาพ แต่ในความเป็นจริงยังมีวิญญาณร้ายสิงอยู่ผ่านประกาศคำสั่งทั้งหลายที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ทำให้มีผลบังคับใช้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก ซึ่งช่องทางการยกเลิกในระบบประชาธิปไตยก็คือ การเสนอให้รัฐสภาออกพระราชบัญญัติมายกเลิก
.
“หากมรดกบาปเหล่านี้ยังอยู่ ประเทศไทยจะไม่อาจกลับคืนสู่สภาวะปกติ เป็นประชาธิปไตยที่ยืนอยู่บนหลักนิติรัฐได้เลย ด้วยเหตุนี้ อดีตพรรคอนาคตใหม่จึงประกาศนโยบายเรื่องจัดการ ‘มรดกบาป” คสช.’ ไว้เป็นหนึ่งในนโยบายการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62 และได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวผ่านกลไกของสภาผู้แทนราษฎร มีการ ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช. และได้เสนอเข้าสู่สภา โดย อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 62 เนื้อหาหลักใหญ่ใจความคือ ยกเลิกประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งสิ้น 17 ฉบับ เนื่องจากหลายฉบับมีเนื้อหาที่กระทบสิทธิมนุษยชน ขัดหลักการความยุติธรรม ขาดหลักนิติรัฐนิติธรรม และเป็นประกาศที่ออกมาช่วง คสช. ครองอำนาจ ที่ขาดการมีส่วนร่วมประชาชน”
.
อย่างไรก็ตาม นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าหลายพรรคการเมืองจะเสนอ ร่าง พ.ร.บ. ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนเข้าสู่สภาฉบับแล้วฉบับเล่า แต่สังเกตว่า ถึงปัจจุบันมีเฉพาะร่างญัตติของรัฐบาลเท่านั้นที่แทรกคิวด่วนเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้ตลอดเวลา ขณะที่ ร่างกฎหมายต่างๆ ที่เสนอโดย ส.ส.กลับยังไม่เคยถูกบรรจุเข้าสู่วาระพิจารณาของสภาแม้แต่ฉบับเดียว รวมถึง ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช. ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ฉบับนี้ ซึ่งโดนดองมากว่า 2 ปีแล้ว
.
ดังนั้น ตนจะประสานไปยัง นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้เสนอต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ให้นำร่างของอดีตพรรคอนาคตใหม่เข้าสู่การพิจารณาไปพร้อมกับร่างของประชาชน พร้อมกันนี้ ยังอยากฝากให้เรียนแจ้งต่อทางประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยว่า ควรเห็นความสำคัญของร่างกฎหมายที่เสนอมาจาก ส.ส.เหมือนร่างกฎหมายที่เสนอมาจากทางรัฐบาลบ้าง เพราะ ส.ส.คือ ฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง มีหน้าที่และพันธกิจในการนำความต้องการและมติมหาชนมาจัดทำเป็นร่างกฎหมายในฐานะตัวแทนจากประชาชน การจัดคิวและบรรจุญัตติเข้าสู่วาระพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจึงควรเป็นสภาที่สะท้อนการทำหน้าที่เพื่อประชาชน ไม่ใช่สภาตรายางเพื่อคอยผ่านกฎหมายของรัฐบาลเพียงเท่านั้น