#ท้าเปลี่ยนประเทศไทย : ปชป.แนะกระจายอำนาจ “หญิงหน่อย” ชู 3 ทางแก้ “เพื่อไทย-ก้าวไกล” เห็นพ้อง ต้องเปลี่ยนนายกฯก่อน

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่ห้องประชุมข่าวสด มติชนสุดสัปดาห์ นิตยสารรายสัปดาห์ที่เป็นชุมชนนักคิด คอลัมนิสต์ที่นำเสนอแง่มุม ให้วิเคราะห์ ต่อยอดและถกเถียงแลกเปลี่ยน ได้ก้าวสู่ครบรอบปีที่ 42 ของนิตยสาร ได้จัดงานเสวนา 2565 ท้าเปลี่ยนประเทศไทย เชิญบุคคลสำคัญของพรรคการเมืองชั้นนำของไทยมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ภาคการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศหลายมิติ หลังผ่านวิกฤตโควิด-19 ในช่วงร่วมแลกเปลี่ยนเมื่อเวลา 14.30 น. หลังการแสดงวิสัยทัศน์ จากนักการเมืองระดับแกนนำสำคัญของพรรคการเมือง 4 พรรค ได้แก่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย และคุณศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผ่านคำถามจาก จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรและผู้ดำเนินรายการชื่อดัง

เมื่อถามถึงท้าเปลี่ยนสำหรับพรรคการเมือง เปลี่ยนเรื่องใดและได้แค่ไหนนั้น นายนิพนธ์กล่าวว่า ประเทศไทยนั้น ปัจจุบันที่ตอบโจทย์สำคัญคือ การที่เรารวมศูนย์อำนาจสู่การกระจายอำนาจ ผมมาการเมืองจาก ส.จ.มาเป็น ส.ส. ผมเชื่อว่าประเทศไทย ถ้าอะไรที่ไม่จำเป็นและมาจากศูนย์กลาง จุดแข็งแต่ละพื้นที่ ความโดดเด่นไม่เหมือนกัน ถ้าจะมาบังคับ คิดเหมือนกันหมด เราเห็นหลายอย่างแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

ผมเป็นส.จ.ครั้งหนึ่ง เบี้ยประชุมไม่เท่ากัน ถ้าเราทำให้ประเทศไทย ท้องถิ่นเข้มแข็ง อยากให้ประเทศไทยกระจายอำนาจอย่างแท้จริง เราอยากจะมองว่าเพื่อท้องถิ่นต้องได้ การศึกษา โรงเรียนดีๆที่ท้องถิ่นจัดการเองก็ทำได้ ถามว่าถ้าทำได้ กระจายอำนาจท้องถิ่น ส่วนกลางดูแลเฉพาะบางเรื่อง แต่ที่ผ่านมาการกระจายอำนาจ ตอนตั้งพรรคปชป. ข้อหนึ่งที่ระบุว่า ข้อ 5 พรรคจะกระจายอำนาจให้มากที่สุด เพราะท้องถิ่นไม่มีใครรู้ดีกว่าคนในท้องถิ่น

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า มองไว้ 3 ด้าน อย่างแรก วิกฤตการเมือง ก็แก้ด้วยแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่องทางยังมีอยู่เป็นเรื่องที่ไทยสร้างไทย พูดไว้ตอนที่ร่างกฎหมายภาคประชาชนเข้าสู่สภาในวาระ 3 วันนั้นค่อนข้างห่วงพี่น้องสภา เพราะยังไงลงมติก็แพ้ พอศาลรธน.ตีความว่า สร้างรธน.ฉบับประชาชนได้

อยากขอร้องว่าปัญหาประเทศ ตราบใดที่ยังคงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ถ้าอยู่ตรงข้ามกับเผด็จการก็อยู่ไม่ได้ รัฐบาลประชาธิปไตยถูกล้มแน่นอน นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่วยกันเรียกร้องให้มีประชามติ แก้ไขด้วยสันติวิธี

อย่างที่สอง ด้านเศรษฐกิจ โควิดและดิจิตัลดิสรัป รัฐบาลต้องมองให้ออกว่า ฐานเศรษฐกิจใหม่หาจากไหน ฐานรายได้เดิมหาไม่ได้แล้ว

อย่างที่สาม การปฏิรูปการศึกษา คนรุ่นใหม่ต้องเป็นพลเมืองโลก หลักสูตรต้องปฏิรูปใหม่ เข้าสู่การทำงานได้เร็วขึ้น วันนี้เด็กอย่างเรียนอะไร สามารถออกแบบได้ เพราะต้องไปนี้ อยู่ที่ทักษะ และที่สำคัญความเท่าเทียม เด็กในเมืองกับเด็กบนดอยต้องได้เรียนจากครูคนเดียวกัน

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องระยะยาว แต่ถ้าเปลี่ยนได้เลย ที่เปลี่ยนมากที่สุดคือเปลี่ยนนายกฯ เพราะการบริหารเป็นรากฐานของศรัทธาของประชาชน ปัญหาที่แก้ไขได้ทันทีกลับทำไม่ได้เพราะวิกฤตศรัทธา มีข้อเสนอที่เราพูดกันว่าจะทำยังไงให้เศรษฐกิจไปต่อได้หลังโควิด เรารู้แน่ว่าภาคท่องเที่ยวเจ็บหนักและนักท่องเที่ยวกลับมายาก เราจะช่วยผู้ประกอบการยังไง นักท่องเที่ยวกลับมาตั้งแต่ ปี2566 ผู้ประกอบการจะชำระหนี้ยังไง

มีอย่างที่ไหนที่ผู้นำยัดเยียดคดีให้คนเห็นต่าง ไม่เปิดพื้นที่ให้คุยกัน เป็นพันคดีแล้ว แค่เพียงเซ็นชื่อลาออกอาจทำให้เปลี่ยนได้อย่างมีนัยสำคัญ ระบบราชการอาจต้องใช้เวลาแต่ต้องเริ่มทำทันที อย่างญี่ปุ่นเพิ่งตั้งรมต.ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ผิดกับไทยที่เน้นแต่ความมั่นคงของชาติ เราไม่มีทางความขับเคลื่อนประเทศบนระบบราชการที่คับแคบ เรามีกำลังข้าราชการที่มีแนวคิดก้าวหน้า แต่อาจไม่อยู่ในจุดที่ตัดสินใจได้ ต้องดึงให้พวกเขาเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อประเทศนี้

ส่วนนายจุลพันธ์ กล่าวว่า สิ่งแรกที่ประเทศไทยควรเปลี่ยนคือเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้เตรียมความพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงด้วยการจัดสรรองคาพยพครั้งใหญ่ของพรรค ทั้งการปรับโครงสร้างการบริหาร ปรับคณะกรรมการบริหารพรรค ประกาศวิสัยทัศน์เพื่อเปลี่ยนทิศทางของประเทศในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 หากเข้าสู่การเลือกตั้งและพรรคเพื่อไทยชนะจนได้เสียงเพียงพอเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้

ขั้นตอนต่อไปพรรคเพื่อไทยจะขจัดอุปสรรคและความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ปี 2560 รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ได้เห็นถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสาธารณสุข จนปัญหาแตกประทุ กลายเป็นวิกฤตและปัญหารุนแรงหนักขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความผิดพลาดในการงานบริหารรัฐบาล และส่วนหนึ่งเพราะประเทศมีจุดอ่อนอยู่แล้วใน 4 ด้านซึ่งต้องได้รับการแก้ไข ได้แก่

1.โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการส่งออก ขณะที่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังเป็นรูปแบบเดิม (Old Economy) ซึ่งพรรคเพื่อไทยมองว่าประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างการผลิต โครงสร้างประชากร และโครงสร้างแรงงาน ต้องให้ความรู้ เพิ่มทักษะหลายด้านมากกว่าทักษะเชิงเดี่ยว

2.โครงสร้างการศึกษา ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการพัฒนาด้านการศึกษา ขณะที่การระบาดของโควิด – 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ลดระดับคุณภาพการศึกษา (Down grade) ลงไป 5 ปี ต้องมีแนวทางในการชดเชยเวลาที่สูญเสียไป และเตรียมพร้อมการศึกษาไปสู่อนาคตด้วย หากยังปล่อยให้เยาวชนเรียนออนไลน์ทั้งที่ไม่มีความพร้อม และการกลับไปเรียนที่โรงเรียน (On – site) ยังไม่พร้อม สุดท้ายต้องกลับไปเรียนออนไลน์อีก ปัญหาจะไม่ถูกแก้

3.โครงสร้างพื้นฐาน แม้มีโครงการต่างๆ มากมายทั้งโครงการน้ำ ถนน โลจิสติกส์ และดิจิทัล แต่ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาคนในประเทศ พรรคเพื่อไทยจะสานต่อโครงการสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เช่น พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งใน พ.ร.บ.ฉบับนี้มีโครงการบริหารจัดการน้ำ ที่ครอบคลุมน้ำที่ใช้ในการเกษตร และเพื่อการอุปโภคและบริโภค มีโครงสร้างพื้นฐานรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รวมไปถึงการสร้างเมืองใหม่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ประกาศวิสัยทัศน์ “เพื่อไทยมหานคร” ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 ซึ่งจะทำให้จุดพักบริเวณสถานีรถไฟกลายเป็นหัวเมืองใหม่ เป็นแหล่งกระจายความเจริญ สร้างความเจริญไปทั่วทุกพื้นที่ เป็นการปรับเปลี่ยนทั้งในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมได้

4.โครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นสิ่งที่ต้องลงทุน เพราะมีราคาถูกและคุ้มค่า ซึ่งการมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของประชาชน จะสามารถนำมาพลิกวิกฤต ฟื้นเศรษฐกิจให้กับประเทศได้