บวรศักดิ์ โต้ เนติวิทย์ ตรรกะตื้นเขิน ปมร้อนแบกเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยว

บวรศักดิ์ โต้เดือด เนติวิทย์ ชี้ตรรกะตื้นเขิน ปมร้อนแบกเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยว ขอเนติวิทย์และคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯอีก 28 คนโปรดจงฟัง

วันที่ 25 ต.ค.64 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นศิษย์เก่านิติศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความเห็นกรณีการยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว ผ่านเฟซบุ๊ก Borwornsak Uwanno โดยเริ่มต้นด้วยประโยคที่ว่า เนติวิทย์และคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯอีก 28 คน โปรดจงฟัง

เธอและเราต่างเป็นคนไทย เธอและเราเรียนจุฬาฯเหมือนกัน แต่เราจบปี 2519 เธอยังเรียนอยู่ กรรมการบางคนโดยเฉพาะที่เรียนนิติศาสตร์คงเคยเรียนกับเรา แต่วันนี้เราจะขอพูดในฐานะคนไทยไม่ใช่ในฐานะอาจารย์หรือนิสิตเก่าจุฬาฯ

เธอทั้ง 29 คน ออกแถลงการณ์ยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 23 ตุลาคม ทั้งที่ปีนี้ไม่มีการแข่งขันฟุตบอลดังกล่าว และเธอประชุมเรื่องนี้มานานก่อนหน้าวันที่ 23 ตุลา เธอมีวาระซ่อนเร้นที่จะใช้วันปิยมหาราชที่คนไทยระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำสิ่งที่อารยชนไม่ทำกันคือดูถูก ดูหมิ่นพระเกี้ยวอันเป็นสัญลักษณ์ในพระมหาราชเจ้าพระองค์นั้นว่าเป็น “สัญลักษณ์ของศักดินา”

เธอมีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมนั้น เธอมีสิทธิ์ไม่เข้าร่วม เหมือนที่เราไม่เคยเห็นด้วยกับการให้รุ่นพี่ว้าก(ตะโกนด่า)รุ่นน้องในห้องเชียร์ เราจึงไม่เคยเข้าห้องเชียร์ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯเลย ตั้งแต่เข้าเรียนจนเรียนจบในปี 2519 เราเคารพการเลือกของเธอ

แต่ที่เราไม่อาจรับได้คือเธอไม่เคารพคนไทยที่เขายังจงรักภักดีต่อมหาราชพระองค์นั้น เธอเขียนถ้อยคำอันทำร้ายจิตใจของคนไทยเป็นอันมาก ซึ่งทำให้เรา คนไทยคนหนึ่งต้องออกมาอธิบายให้เธอฟังทีละประเด็นเป็นวิทยาทาน

1) เธออ้างว่ากิจกรรมนั้น “สนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม” เราอยากบอกเธอว่าครูเธอที่คณะรัฐศาสตร์ คงสอนการแบ่งประเภทระบอบการปกครองที่ดีและที่เลวของอริสโตเติลมาแล้ว โดยดูจำนวนผู้ใช้อำนาจสูงสุดและวัตถุประสงค์ของการใช้อำนาจว่าเป็นไปเพื่อทุกคนในสังคม (แบบที่ดี) หรือเพื่อตัวผู้ปกครองเท่านั้น (แบบเลว)

เธอจำได้ไหมว่าอริสโตเติลจัดระบอบกษัตริย์ (monarchy) ที่ทำเพื่อทุกส่วนในสังคมว่าเป็นการปกครองที่ดี แต่ถ้าทำเพื่อกษัตริย์เองเท่านั้น ท่านจัดเป็นระบอบทรราช (tyrany)

พระมหาราชพระองค์นั้นทรงมีพระราชปณิธานในการทรงสถาปนาการอุดมศึกษาโดยมีพระราชดำรัส ณ โรงเรียนราชกุมาร ที่อ้างกันเสมอว่า

“ทั้งจะมีโรงเรียนวิชาอย่างสูงขึ้นไปอีกซึ่งกำลังคิดจัดอยู่บัดนี้ เจ้านายตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำสุดจะได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้าว่าขุนนางว่าไพร่”

เพราะพระราชปณิธานนี้เองที่ทำให้เธอและเราได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ทรงวางรากฐานอย่างเสมอกัน
เราคงไม่ต้องบอกเธอนะว่าล้นเกล้าฯพระองค์นั้นปลดปล่อยทาสและเลิกระบบไพร่ที่เป็นรากฐานของศักดินา หาไม่แล้วบรรพบุรุษทั้งของเธอและของเราคงจะเป็นไพร่อยู่อีกนาน

พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงปฏิรูปการปกครอง การศาลและกฎหมาย เศรษฐกิจ และสังคมเพื่อสยามประเทศและคนไทยเพียงใด ไม่ได้ทรงทำเพื่อพระองค์เอง เราคงไม่ต้องอธิบาย เธอไปค้นคว้าเอาได้ตามวิสัย “นักศึกษา”

2)เธอบอกว่ากิจกรรมนั้น “ค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน” เธออ้างหลักความเสมอภาค (equality) เห็นได้ชัดว่าเธอสับสนระหว่างการแบ่งงานกันทำตามหลัก division of labour กับความเสมอภาค

การที่เธอทำหน้าที่นิสิต และนิสิตอื่น ๆ เลือกเธอไปทำหน้าที่นายกสโมสร เธอและนิสิตที่เลือกเธอก็ยังเป็นนิสิตเสมอกัน ต่างกันตรงที่เธอถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่นายกสโมสรจนกว่าจะพ้นวาระ ถ้าตรรกะเธอถูกเธอก็ต้องบอกว่านิสิตที่เลือกเธอไม่เสมอภาคกับเธอหรอก เพราะเธอเป็นถึงนายกสโมสร นิสิตคนอื่นจะเท่ากับเธอได้อย่างไร? คนอเมริกันเลือกไบเดนเป็นประธานาธิบดี ถ้าเขาใช้ตรรกะเธอ เขาจะเลือกไบเดนไปทำไม ถ้าเห็นว่าไบเดนมีทำเนียบขาวอยู่ฟรี มีการ์ดตั้งเป็นร้อย มีเงินเดือนและผลประโยชน์อื่นอีกมาก

แต่เขาเลือกประธานาธิบดีเขาเพราะเขารู้ว่านั่นคือการแบ่งงานกันทำ ไม่ใช่เลือกเพราะเขาต้องการสนับสนุนความเชื่อที่ว่าคนไม่เท่ากัน การเป็นพระมหากษัตริย์ก็คือการแบ่งหน้าที่และแบ่งงานกัน เหมือนที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ในอัคคัญสูตร ว่าพราหมณ์ไม่ได้เกิดจากปากพระพรหมดอก แต่ทั้งกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูตร คือการแบ่งหน้าที่กันทำ ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ลองคิดดูว่าถ้านิสิตจุฬาฯทุกคนเป็นนายกสโมสรได้เหมือนเธอ เนติวิทย์ อะไรจะเกิดขึ้น???

การแบ่งงานกันเชิญพระเกี้ยวคนหนึ่ง แบกเสลี่ยงอีก 50 คนเป็นการแบ่งงานกันทำ ไม่ใช่ตอกย้ำความไม่เสมอภาค