ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยโตแบบล้าหลัง คาดปีหน้าฟื้นตัวดีขึ้น แต่ไม่รู้ดีแค่ไหน

แบงก์ชาติ เผย เศรษฐกิจไทยโตล้าหลัง ยังต้องผ่อนคลายนโยบายการเงิน แม้หลายประเทศเริ่มขึ้นดอกเบี้ย คาดปีหน้าดีขึ้น แต่ไม่รู้ดีแค่ไหน

วันที่ 18 ต.ค.64 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ครั้งที่ 3/2564 ว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะล้าหลัง จากการฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาค เมื่อมองไปข้างหน้า การทำนโยบายการเงินยังต้องผ่อนคลาย แม้ว่าบริบทเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวปะทุขึ้น เห็นได้จากหลายประเทศ ทั้งสหรัฐ ยุโรป เริ่มมีการทบทวนการทำนโยบายการเงิน รวมทั้งประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศ เช่น ชิลี บราซิล มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วก็ตาม

“การทำนโยบายการเงินของไทยก็ไม่ได้ต่างจากธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ ซึ่งต้องพิจารณาจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงิน และอัตราเงินเฟ้อ แม้หลายประเทศในโลกอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ของไทยคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในขอบล่างของประมาณการ ไม่เป็นประเด็นเหมือนประเทศอื่นที่เร่งตัวขึ้นเร็ว ขณะที่การฟื้นตัวเศรษฐกิจปีหน้าดีขึ้น แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะดีแค่ไหน ดังนั้นเงื่อนไขในการทำนโยบายการเงินจึงยังมีความแตกต่างกัน”

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวว่า ในส่วนของอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนสูง ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยภายนอก และภายใน โดยธปท. จะเข้าไปดูแลค่าเงินทั้ง 2 ทาง ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ค่าเงินผันผวนจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และจะให้ความสำคัญต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ โดยที่ผ่านมาจากการพูดคุยกับภาคธุรกิจก็มีการทำประกันความเสี่ยงจากค่าเงินเพื่อลดผลกระทบจากการผันผวนค่าเงินเพิ่มขึ้น

“ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงและในระยะต่อไปมีแนวโน้มผันผวนสูงขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคจากนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่มีแนวโน้มทยอยลดการผ่อนคลาย”

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/2564 โดยคาดว่าในปี 2564 จะขยายตัว 0.7% ขณะที่ปี 2565 ขยายตัวได้ 3.9% แต่การฟื้นตัวก็ยังมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูงขึ้นอยู่กับ 1.มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 2.ความต่อเนื่องมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ และ 3.ปัจจัยจากต่างประเทศ ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและปัจจัยเสี่ยงจากภาคการส่งออก

สำหรับมาตรการด้านการคลัง ควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แม้ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อาจปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการคลังอย่างมีนัยยะสำคัญหากเม็ดเงินนั้นถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะปรับลดลงในระยะยาวได้