วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ : วัคซีนสำหรับโควิดขาลง

แนวโน้มของสถานการณ์โควิดในประเทศไทยตอนนี้ก็เหมือนชาวโลกและชาวเอเซียส่วนใหญ่ คือ อยู่ในระยะขาลง บางคนบอกว่าเราก็น่าจะลงต่ำกว่า 12,000 รายต่อวันมาหลายวันแล้ว ทำไมไม่ลงจริงสักที เอาเถิดครับ การรายงานผู้ป่วยรายใหม่อาจจะขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วแต่การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในชุมชน ตัวเลขที่แน่นอนกว่าอัตราตาย และ ความหนาแน่นของผู้ป่วยหนักในโรงพยาบาลซึ่งลดลงจริงยกเว้นบางจังหวัดส่วนน้อยที่ยังเป็นฮาร์ดคอร์

สถานการณ์โควิดดีขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ไม่น่าจะอธิบายด้วยการฉีดวัคซีนที่ผ่านมา มีรายงานการสำรวจระดับภูมิคุ้มกันในประเทศอังกฤษซึ่งฉีดวัคซีนได้มาก และ อินเดียซึ่งฉีดวัคซีนได้น้อย ซึ่งทั้งสองประเทศผ่านช่วงการระบาดหนักมาแล้ว พบว่าระดับแอนติบอดีสูงถึง 90% ในเมืองใหญ่ ๆ ที่มีการระบาด สำหรับเมืองไทยยังไม่มีการสำรวจระดับแอนติบอดีในประชากร แต่เชื่อแน่ว่าใน กทม. คงสูงแน่ ๆ และเขตที่ยังไม่มีการระบาดรุนแรงเช่นภาคเหนือและอีสานก็ยังน่าจะอยู่ในระดับต่ำ

โควิดลดลง การฉีดวัคซีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีเรื่องใหม่ ๆ ที่ชวนติดตาม วันนี้จะคุยเรื่องการฉีดวัคซีนในเด็ก และ การฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง ในมุมมองทางระบาดวิทยาครับ

รัฐบาลตั้งใจแน่วแน่ว่าจะเปิดประเทศให้ได้มากที่สุด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังจากที่ระทมทุกข์จากโควิดมานาน การเปิดโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเหล่านี้ด้วยที่รัฐบาลตั้งธงไว้แล้วต้องเปิดให้ได้

ใครก็ไม่รู้ไปบอกรัฐบาลว่าจะเปิดโรงเรียนได้อย่างปลอดภัยต้องฉีดวัคซีนนักเรียน รัฐบาลก็เลยมีนโยบายเร่งฉีดวัคซีนนักเรียนก่อนเปิดเรียน ผู้ปกครองที่มีความรู้อ่านหรือฟังข่าวต่างประเทศเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนโดยเฉพาะ m-RNA ที่จะฉีดในเด็กก็มีความกังวลใจอย่างมาก จะไม่ฉีดก็ลำบาก เพราะบางโรงเรียนอาจจะไม่รับเข้าเรียนในโรงเรียน และ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยดูเหมือนจะประกาศแล้วว่าถ้าไม่ได้ฉีดวัคซีนมาครบจะไม่ให้สอบ

 

รัฐบาลบอกว่าไม่บังคับ และจะฉีด m-RNA เข็มเดียวพอ ไม่ฉีดสองเข็ม เพราะเป็นที่รู้กันอยู่ฉีดเข็มเดียวอัตราแพ้อย่างรุนแรงในสหรัฐอยู่ที่ราว 1 ต่อล้านคน ถ้าฉีดสองเข็มจะขึ้นไปถึง 6 รายต่อล้าน วันนี้รัฐบาลออกข่าวว่าฉีดไปแล้ว 4 พันคน ไม่มีผลข้างเคียง แต่ต้องสองสามร้อยเท่านะครับจึงจะครบล้านและต้องรอไปอีกสักพักหนึ่งด้วย ไม่ใช่ฉีดปุ๊บเห็นผลปั๊บ ที่ผมสงสัยอย่างหนึ่ง คือ ผู้ป่วยรายที่มีผลข้างเคียงเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่คุณหมอทั้งหลายคุยกันไม่รู้รอดหูรอดตารัฐบาลไปได้อย่างไร

ถ้าไม่ฉีดเด็กจะเป็นอะไรไหม ก็มีรายงานออกมาว่าเด็กติดเชื้อบางรายมีอาการ MIS-C หรือเกิดการอักเสบในหลายอวัยวะซึ่งพบได้น้อยมาก แต่ก็มีข่าวออกในประเทศเหมือนกัน แต่อายุเฉลี่ยของ MIS-C อยู่ที่ 8 ขวบ (3-12 ขวบ) ไม่ใช่นักเรียนที่รัฐบาลกำลังจะฉีดวัคซีน

สรุปแล้วฉีดวัคซีนนักเรียนครั้งนี้คงไม่ค่อยได้ป้องกันเด็กจากภาวะแทรกซ้อน ถ้างั้นก็หวังว่าจะป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่สังคมและผู้ใหญ่ใช่หรือเปล่า เรื่องนี้ไม่ค่อยข้อมูลทางระบาดวิทยาว่าการเปิดโรงเรียนโดยเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีนมีผลต่อการระบาดเพียงไร สรุปว่าไม่แน่นอน เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่โรงเรียนปิดกันทั่วโลก
เรากะจะฉีดวัคซีน m-RNA เข็มเดียวเพื่อป้องกันการแพร่โรค และบางโรงเรียนเด็กจะฉีดก็ได้ไม่ฉีดก็ได้ ไม่บังคับ ฉีดเข็มเดียวและฉีดไม่ครบทุกคนคงป้องกันการแพร่โรคได้น้อย

แพทย์บางท่านบอกว่าอย่าฉีด m-RNA ให้ลูกหลานเลย เอาวัคซีนเชื้อตายปลอดภัยกว่า แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่าวัคซีนเชื้อตายป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่เชื้อหรือการป่วยหนัก ถ้างั้นฉีดวัคซีนเชื้อตายให้เด็กไปทำไมครับ

เรากะว่าฉีด m-RNA เข็มเดียวพอ เพราะกลัวว่าถ้าฉีดเข็มสองจะมีผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น 6 เท่า แต่อย่าลืมว่าถ้าวันหนึ่งในเวลาอันไม่ไกลข้างหน้าเด็กพวกนี้โตขึ้นอีกนิดหน่อยและโควิดระบาดหนัก จะต้องฉีดเข็มสองให้เด็กไหมครับ หรือต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่ก่อนจึงจะฉีด

วัคซีน m-RNA เป็นวัคซีนแรงที่สุด สร้างภูมิต้านได้ดี แต่ก็มีผลข้างเคียงสูง โดยเฉพาะเข็มท้าย ๆ ฉีด m-RNA แล้วกระตุ้นด้วยวัคซีนอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยได้ผล ไม่เหมือนวัคซีนเชื้อตายซึ่งเหมาะที่จะเป็นวัคซีนรองพื้น เราจึงควรสงวนไว้ใช้ในลำดับสุดท้ายมากกว่าเป็นวัคซีนเข็มแรก

 

ผู้ปกครองจำนวนมากถามผมว่าทำอย่างไรดี ฉีดก็กลัวภาวะแทรกซ้อน ไม่ฉีดก็กลัวลูกจะมีปัญหาทางการศึกษา ผมก็ตอบไปว่า ก็เลือกเอาว่าฉีดไปตามที่เขาต้องการ อัตราเสี่ยงไม่ได้สูงมาก อีกทางเลือกหนึ่งก็คือปฏิเสธไม่ฉีด แล้วหาทางออกให้ลูกได้รับการศึกษา ถ้าเขาไม่ให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยก็รอสอบปีหน้าเมื่อมีวัคซีนรุ่นใหม่ (next gen) ที่ดีกว่านี้ ทางเลือกที่สาม ก็คือ ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมว่ารัฐบาลทำอย่างนี้เราเดือดร้อนอย่างไรบ้าง และปรึกษานักการเมืองหรือทนายความ

ทั้งสามทางเลือกไม่ผิดศีลธรรมและไม่ผิดกฎหมายครับ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนไทยภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ

ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะยอมทบทวนเรื่องนี้ใหม่โดยเชิญผู้มีส่วนได้เสียมาหารือ ระหว่างนี้รอไปก่อน คนกว่าจะได้ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของสังคม

เรื่องวัคซีนเรื่องที่สองตอนนี้ คือ การฉีดเข้าผิวหนัง แทนการฉีดเข้ากล้าม

เรื่องนี้ไม่ใช่รัฐบาลครับ เป็นความคิดริเริ่มของคุณหมอไทยจำนวนหนึ่งซึ่งเห็นว่าวัคซีนขาดแคลน ถ้าเปลี่ยนวิธีการฉีดเข้ากล้ามซึ่งต้องใช้วัคซีนครี่งซีซี มาฉีดเข้าผิวหนัง ซึ่งใช้คนละ 0.1 ซีซี จะสามารถฉีดประชาชนได้มากขึ้นเป็น 5 เท่า หมอหลายคนถึงกับลองฉีดวัคซีนนี้กับตัวเอง

ในเดือนที่ผ่านมานี้ มีการทดลองของโรงเรียนแพทย์หลายสถาบันฉีดวัคซีนเข็มสามด้วย AstraZeneca เข้าผิวหนัง 0.1 ซีซี สำหรับคนที่เคยฉีด Sinovac ไปแล้วสองเข็ม แล้ววัดระดับแอนติบอดีก็ปรากฏว่าไม่น้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามครึ่งซีซี ระดับแอนติบอดีที่ได้สามารถล้มล้างพิษของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาในหลอดทดลองได้สบาย ๆ

ข่าวนี้เป็นข่าวดีของชาวโลกทีเดียวก็ว่าได้ เพราะทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศที่ขาดแคลนวัคซีน ความรู้ที่ประเทศไทยค้นพบเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วโลก

ในการฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง คุณหมอหรือพยาบาลจะเสียบเข็มฉีดยาขนาดเล็กเข้าไปในชั้นผิวหนังเหมือนหนามตำ พอไม่ให้วัคซีนรั่วออกมาข้างนอก พอดันยาเข้าไปบริเวณที่ฉีดก็บวมจากวัคซีนโดยมีขุมขนบุ๋มลงไปเป็นจุด ๆ เหมือนผิวส้ม ไม่เจ็บปวดมากมายแต่อย่างไร

 

ทำไมฉีดวัคซีนเข้าผิวหนังนิดเดียวได้ผลพอ ๆ กับฉีดเข้ากล้ามซึ่งใช้วัคซีนเป็น 5 เท่า คำตอบ ก็คือผิวหนังมีโอกาสรับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกได้ง่าย จึงมีเครือข่ายที่จะระดมเซลสร้างภูมิต้านทานได้มากกว่ากล้ามเนื้อซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ชั้นใน

แล้วทำไมไม่ฉีดวัคซีนทุกชนิดเข้าผิวหนังแทนเข้ากล้าม ก็เพราะว่าวัคซีนบางชนิดมีสารแขวนตะกอนอลูมินั่มที่เรียกว่าอะลั่มอยู่ในปริมาณเล็กน้อยซ่วยกระตุ้นร่างกายให้ตอบสนองวัคซีนมากขึ้น วัคซีนพวกนี้ถ้าฉีดเข้าผิวหนังอาจจะมีตุ่มเป็นไตแข็ง ๆ อยู่นานเป็นที่รำคาญ ฉีดเข้ากล้ามไปกล้ามเนื้อจะปรับตัวรับอะลั่มได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม การทดลองวัคซีนวัคซีนเข้าผิวหนังของแพทย์ไทยยังไม่สิ้นสุด เรายังต้องการตอบคำถามอีกสองข้อ

คำถามข้อแรก คือ ผิวหนังที่ฉีดไปมีอาการบวมมากกว่าการฉีดเข้ากล้าม ซึ่งส่วนใหญ่หายภายใน 7 วัน แต่มีผลช้างเคียงอย่างอื่น เช่น ไข้ ปวดเมื่อยน้อยกว่า จะเป็นที่ยอมรับของคนที่รับวัคซีนแบบนี้เพียงไร ถ้าเป็นที่ยอมรับดีก็จะมีคำถามข้อต่อไป

คำถามข้อสอง สำคัญกว่าคำถามข้อแรก คือ นอกจากระดับแอนติบอดีจะเพิ่มขึ้นพอ ๆ กันแล้ว การฉีดเข้าผิวหนังกับฉีดเข้ากล้ามจะป้องกันการติดเชื้อโควิดในรุนแรงขนาดเข้าต้องเข้าโรงพยาบาลได้เท่ากันหรือไม่

คำถามทั้งสอง ต้องตอบด้วยการวิจัย ไม่ใช่ตอบด้วยทฤษฎีล้วน และการวิจัยนี้ต้องการความร่วมมือจากอาสาสมัครคนไทยที่เคยฉีดวัคซีน Sinovac ไปแล้วสองเข็ม ก่อนสมัคร จะมีการอธิบายทางเอกสารและแอป และสามารถถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ จนเป็นที่เข้าใจถ่องแท้แล้วจึงสมัครเป็นอาสาสมัคร

 

อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการจะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มโดยการสุ่มด้วยคอมพิวเตอร์ ครึ่งหนึ่งจะได้รับการฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง อีกครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครจะได้รับวัคซีนฉีดเข้ากล้าม โดยโปรแกรมจะแจ้งไปล่วงหน้าว่าจะได้รับการฉีดแบบไหน และนัดไปที่ฉีด ณ โรงพยาบาลใด

ที่เราควรจะทำวิจัยแบบนี้ก็เพื่อให้ได้คำตอบที่แน่นอนว่าฉีดวัคซีนเข็มสามเข้าผิวหนังไม่ต่างหรืออาจจะดีกว่าฉีดเข้ากล้าม จะได้ใช้เป็นนโยบายของประเทศไทย และเผยแพร่ให้ประเทศอื่นต่อไป

บางคนอาจจะข้องใจว่า ทำไมต้องทดลอง ใช้คนไทยแทนหนูทดลองหรือ คำตอบ คือ วัคซีนที่เราฉีดกันทุกวันนี้ล้วนต้องผ่านการทดลองในอาสาสมัครมาแล้ว ถ้าไม่ทดลองในอาสาสมัครก่อน เราจะแน่ใจอย่างไรว่าปลอดภัยและได้ผลจริง

ดังนั้น คนที่สนใจก็เตรียมมาเป็นอาสาสมัครนะครับ รายการนี้ต้องการอาสาสมัครหลายหมื่นคนครับ เพราะวัคซีนป้องกันโควิดได้ดีมากโอกาสติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลน้อย จะเปรียบเทียบของที่เกิดขึ้นได้น้อย ๆ ต้องใช้ชนาดตัวอย่างมากเป็นพิเศษครับ

ก่อนจบ ขอทบทวนเรื่องวัคซีนที่เขียนไปอีกครั้งครับ ตอนนี้โควิดเป็นขาลง ทำอะไรก็คิดให้รอบคอบโดยเฉพาะเรื่องวัคซีน อย่าเร่งร้อนเกินไป วัคซีนในเด็กน่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นให้กว้างขวางจากผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนวัคซีนฉีดเข้าผิวหนังก็ควรจะมีการทดลองในอาสาสมัครให้เป็นที่แน่นอนว่าปลอดภัย รับได้ และ ได้ผลในการป้องกันจริง ๆ จะรู้กันให้แน่ชัดก่อนขยายผลไปทั่วโลก