พิธา ชี้มรดกโลกแก่งกระจาน ต้องเคารพสิทธิมนุษยชน แนะรัฐบาลควรแก้ปัญหาในพื้นที่ด้วย

พิธา ชี้มรดกโลกทางธรรมชาติที่ต้องมาพร้อมกับความเคารพในสิทธิมนุษยชน แนะรัฐบาลควรแก้ปัญหาในพื้นที่ด้วย ทั้งเรื่องคดีและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์หลังจากการที่คณะกรรมการมรดกโลกมีมติอนุมัติให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 44 โดยมีมติรับรองให้อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลกด้วยเสียง 12 เสียงจากตัวแทนทั้งหมด 21 ประเทศที่ลงคะแนนเห็นชอบการรับรอง

นายพิธา ระบุว่า ท่ามกลางการชื่นชมยินดีกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก อย่างไรก็ตาม ผมและพรรคก้าวไกลด้วยความตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ เท่า ๆ กับความตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธิของชนเผ่า ชาติพันธุ์ ก็ยังมีข้อกังวลที่จะต้องติดตามตรวจสอบในประเด็นสิทธิชุมชนและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองต่อไป

ทั้งนี้ก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก รัฐบาลไทยได้รับการทักท้วงและแนะนำหลายครั้งในเรื่องสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนกรณีของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ลุ่มป่าแก่งกระจาน ตัวอย่าง เช่น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ขอให้รัฐบาลชะลอการเสนอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก เนื่องจากห่วงปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและได้ทำการส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2564

องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ที่เป็นที่ปรึกษาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอง ก็ประเมินการเสนอพื้นที่มรดกโลกในปี 2564 ว่าควรเลื่อนการเสนอผืนป่าแก่งกระจานของไทยขึ้นมรดกโลกทางธรรมชาติออกไปก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่า “ผ่านเกณฑ์ด้านการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ แต่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านความเป็นหนึ่งเดียวและการบริหารจัดการ มีข้อกังวลถึงความสัมพันธ์ของชุมชนในพื้นที่กับการขึ้นเป็นมรดกโลก”

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ก็มีคำเตือนจากคณะผู้เชี่ยวชาญส่งถึงคณะกรรมการมรดกโลกให้มีมติ “ยกเลิก” การขอขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ด้วยเหตุว่ายังมีชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิในเขตอุทยานฯ

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ผู้แทนของประเทศนอร์เวย์ก็ได้แสดงความไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังไม่มีแก้ไขประเด็นสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและตอนท้ายการประชุมผู้แทนพิเศษด้านชนเผ่าพื้นเมืองก็แสดงความเป็นกังวลต่อสถานการณ์ในพื้นที่เช่นกัน

ผมและพรรคก้าวไกลเห็นว่า เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสียโอกาสสำคัญในการพัฒนามาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง การยกระดับการมีส่วนร่วม สิทธิของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีส่วนการอนุรักษ์ป่าแก่งกระจาน เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับความสนใจ ผมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการสืบหาความจริงในเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ปฏิบัติการของรัฐทั้งหมด เช่น ปฏิบัติการพิทักษ์ลุ่มน้ำเพชร ยุทธการตะนาวศรี หรือ กรณีคดีความที่ยังไม่มีความคืบหน้า ในกรณีการถูกบังคับให้สูญหาย นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ และ คดีฆาตกรรมนายทัศน์กมล โอบอ้อม หรือ อาจารย์ป๊อด ซึ่งทั้งคู่เป็นผู้ประสานงานการเรียกร้องสิทธิให้กับชาวบ้านในพื้นที่

รัฐบาลควรยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ สุขอนามัยและความปลอดภัยของชาวบ้านบางกลอยในเบื้องต้นอย่างรวดเร็วที่สุด ดำเนินการคุ้มครองสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และหนังสือสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี และมีพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะต้องปฏิบัติตามที่ประเทศไทยได้ให้การรับรองไว้

สุดท้ายในระดับนโยบายรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจว่าต่อจากนี้การดำเนินนโยบายด้านการอนุรักษ์ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องยกระดับสู่ “กระบวนทัศน์ใหม่” ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (New paradigm for protected areas) ที่วางอยู่บนหลักการของการยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการจัดการป่าอนุรักษ์ หรือที่เรียกกันว่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชนพื้นเมืองและชุมชน (Indigenous People’s Protected Areas and Community Conserved Areas– ICCAs) ให้สมศักดิ์ศรีและมาตรฐานนานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในเขตพื้นที่มรดกโลก

ในความยินดีกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกลุ่มป่าแก่งกระจานที่จะเป็นหลักประกันว่ารัฐบาลและหน่วยงานราชการต้องดำเนินการจัดการการอนุรักษ์ในพื้นที่อย่างมีมาตรฐานและรายงานต่อคณะกรรมการมรดกโลกอยู่ตลอด ก็มีความกังวลเช่นกันว่า หากรัฐบาลและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยังมีทัศนคติและปฏิบัติงานอย่างเดิม ไม่มีการปรับปรุงตามข้อกังวล ข้อทักท้วงที่หน่วยงานต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ก็รังแต่จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติขึ้นอย่างไม่รู้จบ เป็นรอยด่างในมรดกโลกที่กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าทั่วประเทศและสังคมโลกกระอักกระอ่วนที่จะชื่นชม