ปชป.แนะลดค่า ‘น้ำ-ไฟ-เน็ต’ สนับสนุนให้ ปชช. ‘หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’

รองโฆษก ปชป.แนะลดค่า ‘น้ำ-ไฟ-เน็ต’ สนับสนุนให้ ปชช. ‘หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ หลังล็อกดาวน์เข้ม
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราชและรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลมีการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 20 ก.ค.เป็นต้นไป ว่า ต้องยอมรับว่าการระบาดของโควิดขณะนี้อยู่ในจุดที่รัฐบาลต้องขอความร่วมมือจากประชาชนอย่างสูงที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขและระบบที่เกี่ยวข้องไม่สามารถรองรับได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ดังนั้น นอกจากรัฐบาลจะออกมาตรการอย่างเข้มข้นแล้ว จำเป็นจะต้องมีการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่กับบ้าน เช่น การลดหย่อนค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา การเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ต โดยมีส่วนลดในการเสียค่าบริการ เป็นต้น รวมทั้งในเมื่อประชาชนส่วนใหญ่จะต้องอยู่บ้าน อาจจะไม่ถนัดในการใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก เช่น อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง บริการสั่งอาหาร เป็นต้น เพราะฉะนั้นตนอยากให้เจ้าหน้าที่ธนาคารในสาขาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้ช่องทางในการสื่อสารต่างๆ เช่น วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว โบรชัวร์ เว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊ก ในการแนะนำการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ อย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อเป็นการลดการเดินทางไปสถานที่ต่างๆ และเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับเชื้อด้วย

“ผมเคยเสนอในช่วงที่มีการระบาดระลอกที่ 3 ในช่วงปลายเดือนเมษายน ที่ยังมีการระบาดเป็นหลักพันต้นๆ ว่าให้มีการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อควบคุมและจำกัดการระบาด แต่ในเมื่อรัฐบาลประกาศตัดสินใจล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นในเวลานี้ ก็ถือว่าเป็นการเดิมพันอย่างสูงกับเชื้อที่มีพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น นอกจากจะมีการออกมาตรการที่เข้มข้นแล้วยังต้องมีการสนับสนุนให้ประชาชนที่อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติในครั้งนี้ ทั้งการลดหย่อนค่าบริการสาธารณะ การใช้ช่องทางสื่อสารภายในท้องถิ่นชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตภายในที่พักอาศัย โดยเฉพาะเรื่องการใช้แอพพลิเคชั่น ซึ่งต้องยอมรับว่าประชาชนมีความกังวลและไม่มั่นใจในการใช้งาน ดังนั้น ผมจึงได้เสนอแนะให้ใช้เครื่องมือสื่อสารในท้องถิ่นดำเนินการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเกี่ยวกับการใช้แอพพลิเคชั่น เพื่อลดปัญหาการติดเชื้อจากการไปสถานที่ที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันด้วย” นายชัยชนะกล่าว

นายชัยชนะกล่าวต่อว่า ส่วนการเยียวยาชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั้น ตนเห็นว่าการระบาดของโควิดในรอบนี้หนักหนาสาหัสกว่าที่ผ่านๆ มา แต่ก็อดกังวลไม่ได้ว่า หากสถานการณ์ในการระบาดไม่สามารถคลี่คลายโดยเร็วแล้ว จะเป็นภาระของรัฐบาลในการหาเงินมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้ ดังนั้น ตนจึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงถึงผลการเบิกจ่ายตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2563 และ พ.ร.ก.ฯเพิ่มเติม 2564 ว่ามีเงินเหลือเท่าใด และนำไปใช้เยียวยาประชาชนในเรื่องใดบ้าง และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การหาเงินเพื่อมาชดใช้ตาม พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับนี้จะมีวิธีการหรือระยะเวลาเท่าใด ที่จะไม่ทำให้เป็นภาระของประเทศมากจนเกินควรด้วย