‘ศิริกัญญา’ เสนอ ‘ส่วนกลาง’ หนุนเงินให้โรงเรียน ลดภาระค่าเทอมผู้ปกครอง-ห่วงระบบเรียนออนไลน์ไม่พร้อม

อย่าทำเหมือนไม่มีวิกฤต! ‘ศิริกัญญา’ เสนอ ‘ส่วนกลาง’ หนุนเงินให้โรงเรียน ลดภาระค่าเทอมผู้ปกครอง กังวล อุปสรรค ‘เรียนออนไลน์’ อุปกรณ์และระบบไม่พร้อม สร้างภาระให้ครู-นักเรียนแสนสาหัส จี้ จัดงบสนับสนุนหน่วยงานด้วย

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่อาคารรัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ตั้งคำถามกับหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการช่วงหนึ่งว่า ประเด็นเรื่องการลดค่าเทอม เป็นเรื่องที่ประชาชนในสังคมต่างให้ความสนใจ รวมทั้งมีข่าวออกมาว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็เคยมีการสั่งการเรื่องนี้ แต่มองไม่เห็นทางออกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร หากไม่มีเงินอุดหนุนจากส่วนกลางมอบให้ไป จะให้ไปบีบบังคับโรงเรียนแต่ละโรงเรียนลดค่าเทอมเองคงแทบจะเป็นไปไม่ได้ และยิ่งโรงเรียนเอกชนไม่ต้องพูดถึง เพราะปัจจุบันก็ยังไม่สามารถอุดหนุนเงินครอบคลุมค่าใช้จ่ายบุคลากรหรือครูให้กับพวกเขาได้เลยด้วยซ้ำ เพราะเงินอุดหนุนรายหัวที่อุดหนุนกันนั้น ครอบคลุมแค่ค่าดำเนินการเท่านั้น การไปบีบให้ลดค่าเทอมอีกจึงเป็นไปไม่ได้
.
“เห็นด้วยถ้าจะนำเงินกู้ส่วนหนึ่งไปช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับผู้ปกครองในยามวิกฤตด้วยการอุดหนุนค่าเทอมบางส่วนให้กับแต่ละโรงเรียน แนวทางนี้คิดว่าอาจจะเป็นทางออกของเรื่องนี้ได้” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
.
นอกจากนี้ ในประเด็นเรื่องการเรียนออนไลน์นั้น นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เป็นเทอมที่ 3 แล้ว ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ จึงขอสอบถามถึงการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานว่าได้มีการเตรียมอุปกรณ์ เตรียมความพร้อมให้กับครูและผู้เรียนอย่างไรบ้าง เพราะจากที่ดูจากงบประมาณที่ตั้งมายังไม่ค่อยเห็นรายการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ มีแต่รายการที่ใช้สำหรับอบรมวิธีการสอนออนไลน์เท่านั้น
.
“หลายที่มีการเก็บข้อมูล รวมถึงของหน่วยงานอย่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มีรายงานข้อมูลมาว่า ครอบครัวที่ยากจนนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะสามารถเรียนออนไลน์ได้อย่างสะดวก ด้วยความที่ขาดแคลนอุปกรณ์ แม้กระทั่งกรณีที่ไม่ได้เป็นครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก แต่หากต้องเรียนออนไลน์ผ่านทางโทรทัศน์ ถ้าในครอบครัวนั้นมีลูก 2 คนขึ้นไป ก็ทำไม่ได้แล้ว หากที่บ้านมีโทรทัศน์เพียงเครื่องเดียว และยิ่งไปกว่านั้นการเรียนออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องที่ทรมาน เมื่อต้องนั่งจ้องจอมือถือที่มีจอขนาดเล็กไปนานๆ
.
“ดิฉันจึงรู้สึกเห็นอกเห็นใจเด็กๆมาก รวมไปถึงครูเองด้วยที่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้น โดยครูบางท่านต้องแก้ปัญหาโดยการแบ่งจำนวนนักเรียนในห้องออกเป็น 2 ห้อง เพราะไม่สามารถสอนนักเรียนพร้อมกันได้ทั้ง 50-60 คน โดยที่ต้องดูนักเรียนที่อยู่ในออนไลน์พร้อมกันได้ กลายเป็นว่าต้องสอน 2 รอบ ต้องวิ่งส่งงานให้ตามบ้านนักเรียนบ้าง ต้องทำงานเพิ่มขึ้น คำถามคือมีการเพิ่มอัตรากำลังบ้างหรือไม่ หรือมีการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงให้กับครูที่ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่” นางสาวศิริกัญญา ระบุ
.
นางสาวศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า จากผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกอย่างบริษัท McKinsey พบว่า การเรียนออนไลน์ทำให้ความรู้ของเด็กถดถอย ดังนั้นภายหลังจากที่มีการกลับมาเรียนปกติแล้ว จำเป็นต้องมีการฟื้นฟูการเรียนรู้กลับคืนมา ทางหน่วยงานได้เตรียมการ เตรียมงบประมาณสำหรับใช้จัดการเรื่องนี้แล้วหรือไม่ จำเป็นต้องมีการเรียนเสริมหรือเรียนเพิ่มอะไรหรือไม่ และที่สำคัญในปีการศึกษา 2563 จำนวนวันการเรียนการสอนก็น้อยลง น้อยลงไป 10 % แล้ว โดยจากเดิมที่หนึ่งปีจะเรียนประมาณ 200 วัน จะเหลือเพียงปีละประมาณ 180 วันเท่านั้น ไม่นับว่าการเรียนออนไลน์อาจทำให้เรียนไม่ทันตามบทเรียนอีกด้วย หน่วยงานจะมีการวางแผน จัดการอย่างไร
.
“ปีนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ถูกลดงบประมาณไปประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มูลค่า 3,000 ล้านบาทเป็นการลดลงของงบประมาณด้านบุคลากร เนื่องจากมีการเกษียณอายุราชการในแต่ละปีค่อนข้างมาก แม้จะรับครูเข้ามาทดแทน แต่ก็ยังไม่เท่ากับจำนวนครูที่เกษียณออกไป ดังนั้นจึงขอเอกสารชี้แจงว่ามีจำนวนครูที่เกษียณในอีก 10 ปี ข้างหน้า โดยแต่ละปีมีจำนวนเท่าใด และขอแผนที่จะมีการรับครูเข้ามาทดแทนด้วย เพื่อที่จะดูแผนและงบประมาณว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง” นางสาวศิริกัญญา กล่าว
.
ในเรื่องหลักสูตร นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า แม้ว่าทาง สพฐ. มีแผนที่จะปฏิรูปการสอนเรื่องเพศวิถีและเพศศึกษา แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการเปิดเผยว่า การอบรมศึกษานิเทศก์ ในเนื้อหาการอบรมมีการเหยียดเพศและมีการพูดถึงว่า เด็กที่ความหลากหลายทางเพศเป็นเพราะเด็กเห็นเพื่อนเป็นกันเยอะแล้วสนุกดี ก็เลยมีแนวโน้มที่จะเป็นคนข้ามเพศ จึงเป็นความน่าผิดหวังและอย่างนี้จะเรียกว่าเป็นปฏิรูปการสอนเรื่องเพศหรืออย่างไร เพราะนี่ไม่ใช่แค่เรื่องการสอนในห้องเรียนแล้วมีครูที่แสดงทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพศหลากหลาย แต่นี่คือการอบรมศึกษานิเทศก์ ซึ่งจะเป็นการผลิตซ้ำความคิดแบบนี้ไปกับครูอีกหลายๆ ท่าน
.
“ในปีนี้ทราบว่าจะเริ่มการเรียนแบบการจัดการการเรียนรู้แบบใช้สมรรถนะเป็นฐาน (Competency-based learning) เป็นปีแรก ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากการศึกษาในระดับแนวหน้าของโลกก็เปลี่ยนมาใช้วิธีการแบบนี้กันหมดแล้ว ทั้งนี้ทางหน่วยงานได้มีการเตรียมพร้อมให้กับบุคลากรแล้วหรือไม่ เพื่อที่จะเข้าอกเข้าใจและสามารถถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้วิธีการดังกล่าวได้ เนื่องจากขณะนี้การอบรมครูก็มีการทำแบบออนไลน์เช่นเดียวกัน จึงทำให้หวั่นใจว่าหากไม่มีการเตรียมความพร้อม ก็อาจจะทำให้ล้มเหลวแบบที่เกิดขึ้นแบบในอดีตที่มีการเปลี่ยนหลักสูตร ถึงแม้ว่าหลักสูตรจะถูกออกแบบไว้ดีแค่ไหนก็ตาม หากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลทำให้เด็กๆ ต้องเสียโอกาสในการเรียนรู้ไปอย่างน่าเสียดาย” นางสาวศิริกัญญา กล่าว