‘วิโรจน์’ เขย่ารัฐบาลเร่งออก 6 มาตรการเยียวยา ชี้ต้องนั่งในใจประชาชน ไม่ใช่ทำเหมือนโยนเศษเนื้อ

อย่าเยียวยาแบบทรราชย์ ‘วิโรจน์’ กระตุกรัฐบาลเร่งออก 6 มาตรการเยียวยา ชี้ ต้องนั่งในใจประชาชน ไม่ใช่แค่โยนเศษเนื้อข้างเขียงมาให้ ย้ำ เมื่อล็อกดาวน์การหารายได้แล้ว ก็ต้องล็อกดาวน์รายจ่ายให้สอดคล้องกันด้วย

วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับจัดการการเเพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา2019 ว่า รัฐบาลต้องยอมรับได้แล้วว่า การที่บ้านเมืองที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งหมดมาจากการละเลยต่อหน้าที่และมาจากความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐบาล โดย TDRI ก็ได้สรุปและยืนยันไปในทำนองเดียวกัน ทั้งการไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน การจัดฉีดวัคซีนล่าช้า ประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกเลื่อนฉีดลอยแพ การตรวจเชิงรุกที่จำกัด ไม่ยอมเปิดให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจได้อย่างทั่วถึงกว้างขวาง มีประชาชนต้องนอนริมถนนเพื่อรอตรวจ การจัดสรรเตียงให้กับผู้ป่วยที่ตกค้างจนเกิดปัญหา ประชาชนต้องรอคิวตรวจ รอผลตรวจ รอเตียง รอยา
มีประชาชนหลายคน หลายครอบครัว เสียชีวิตคาบ้านระหว่างที่รอเตียง มีเด็กจำนวนไม่น้อยต้องกำพร้า หลายครอบครัวติดเชื้อยกบ้าน กว่าจะถึงมือหมออาการก็หนัก ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ วันละ 70-90 คน เทียบเท่ากับเหตุเครื่องบินตกที่เกิดขึ้นทุกๆ 3 วัน

จนในที่สุดรัฐบาล ต้องถูกสถานการณ์ที่ล้มเหลวที่ตนเองสร้างขึ้น บีบให้ตัวเองต้องใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นซึ่งไม่ได้เป็นมาตรการตามยุทธศาสตร์ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และคนที่เดือดร้อน ทุกข์ร้อนที่สุด ที่หนีไม่พ้น ก็คือ ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งที่หาเช้ากินค่ำ และหาค่ำกินเช้า ตลอดผู้ประกอบการ คนทำมาค้าขายรายเล็กรายน้อย ไม่ใช่แค่วันนี้เท่านั้น ผู้ประกอบการหลายราย ต้องหยุดกิจการไปก่อนหน้านี้นานแล้ว นี่คือความเสียหาย 2.5 แสนล้านบาทต่อเดือน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้ดีจากรายงานที่นายอนุทินทำแล้วส่งมาให้ แต่ไม่เคยนำพา ไม่เคยใส่ใจ

“วันนี้จึงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเยียวยาประชาชนอย่างเป็นธรรม เยียวยาแบบที่เข้าไปนั่งในหัวใจของประชาชน ไม่ใช่เยียวยาแบบผู้ปกครองทรราชย์ ที่ทำแค่โยนเศษเนื้อข้างเขียงมาให้ แล้วก็พูดว่า “ก็ช่วยไปหมดแล้วจะเอาอะไรอีก ” ” วิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ย้ำว่า การเยียวยาประชาชนที่จำเป็นต้องสั่งการ ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด ณ ขณะนี้ มีทั้งสิ้น 6 ข้อ ด้วยกัน คือ

1) การเยียวยาที่สมเหตุสมผล การระบาดในครั้งนี้ รุนแรงกว่าการระบาดระลอกแรก ดังนั้นการเยียวยา จึงไม่ควรต่ำกว่า กรณี “เราไม่ทิ้งกัน” โดยขอสั่งการให้รัฐบาลเยียวยาให้กับประชาชนทั้งที่เป็นแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ ที่เป็นเงินสดแบบถ้วนหน้า ผ่านระบบพร้อมเพย์ เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ในยามที่ประชาชนต้องเผชิญกับมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ของรัฐบาล

2) มีจุดแจกจ่ายอาหารให้กับประชาชน เพื่อเก็บตกประชาชนกลุ่มเปราะบาง อย่าให้เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนต้องนำเอาข้าวกล่องไปดูแลกันเอง แล้วยังถูกตำรวจจับดำเนินคดีเกิดขึ้นอีก

3) พิจารณาจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อม โดยพิจารณาจ่ายเป็นร้อยละของรายได้ในเดือนก่อนที่จะมีการระบาดระลอกที่ 3 เพื่อชดเชยภาระในการแบกรับค่าใช้จ่ายคงที่ อาทิ ค่าเช่า และค่าแรงพนักงาน และต้องพิจารณาจ่ายชดเชยย้อนหลังให้กับผู้ประกอบการ ที่ต้องหยุดการประกอบกิจการ จากคำสั่งของรัฐบาลไปก่อนหน้านี้แล้วด้วย

4) รัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือ ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ แก่ประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย

5) รัฐบาลต้องออกมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนที่ต้องจ่ายชำระหนี้แก่ธนาคาร หรือสถาบันการเงิน โดยพิจารณาการยกเว้นการจ่ายดอกเบี้ย และพักการชำระหนี้ ในช่วงมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ที่กระทบกับการทำมาหากินของประชาชน เพราะในเมื่อรัฐบาลล็อกดาวน์การทำมาหากิน การหารายได้ของประชาชน รัฐบาลก็ต้องออกมาตรการในการล็อกดาวน์ค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ที่สอดคล้องกันด้วย

6. ให้ประชาชน มีสิทธิ์ในการเบิกชุดตรวจ Rapid Antigen Test มาตรวจตัวเอง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในจำนวนหนึ่ง ต่อสัปดาห์ เช่น 1 ชุดต่อสัปดาห์ โดยกำหนดให้ประชาชน ต้องรายงานผลตรวจ ให้กลับ สาธารณสุขทราบ หากพบผู้ติดเชื้อ ก็ให้เข้ารับการรักษาตามมาตรการของรัฐต่อไป สำหรับประชาชนที่ต้องการซื้อเพิ่มเติม ให้สามารถ ซื้อได้ในราคาถูก ราคาชุดละ 300-400 บาท ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชนในยามยาก จึงต้องสั่งการให้รัฐบาล แก้ไขในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

“ผมขอให้รัฐบาล เข้าไปนั่งในหัวใจของประชาชนบ้าง ไม่ใช่กดหัวประชาชนไม่ยอมเลิก” วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย