โรม ฟาด! เพื่อไทยยอมตามเกมพลังประชารัฐ ? ตีแผ่3ปัญหา ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ

รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์แสดงความเห็นกรณี [3 ปัญหาสำคัญของข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญฉบับ “เพื่อไทย”]
.
1. ยอมตามเกมพลังประชารัฐ มองข้ามปัญหาความไม่ได้สัดส่วนระหว่าง ส.ส. กับประชาชน – คะแนนเสียงตกน้ำ เพราะเชื่อว่าตัวเองจะชนะเหมือนในอดีต
.
หากได้ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา หลังความพยายามแก้รัฐธรรมนูญครั้งก่อนหน้านี้ถูก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ปัดตกไปในสภา ฝ่ายแรกที่เริ่มกลับมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้งก็คือพรรคพลังประชารัฐ โดยเรื่องที่สำคัญก็คือการแก้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ทิ้งระบบบัตรใบเดียวที่ฝ่าย คสช. เคยอ้างว่าทำให้ทุกเสียงมีความหมาย เปลี่ยนไปเป็นระบบบัตร 2 ใบ เหตุผลก็เพราะเชื่อว่าเครือข่ายอิทธิพลของตัวเองที่สั่งสมมากว่า 7 ปีมีศักยภาพมากพอที่จะช่วยให้ตัวเองชนะแบบถล่มทลาย ครองเสียงข้างมากพรรคเดียวในสภาได้เหมือนกับพรรคฝ่ายตรงข้ามในอดีต
.
หลังจากข้อเสนอนี้ออกมา ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ออกมาขานรับชัดเจนยิ่งกว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคกลับเป็นพรรคเพื่อไทยที่เสนอระบบการเลือกตั้งลักษณะเดียวกัน ซึ่งก็เล็งเห็นได้ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยยอมเดินตามเกมของพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้ ก็เพราะพรรคเพื่อไทยก็ยังเชื่อในศักยภาพของตัวเอง ว่าหากเป็นระบบการเลือกตั้งตามข้อเสนอนี้ พรรคเพื่อไทยจะยังสามารถคว้าชัยชนะ ผลิตซ้ำความสำเร็จในสมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในยุคต้นได้
.
อย่างไรก็ตาม ผมไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยประมาทพรรคพลังประชารัฐมากเกินไป การที่พรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งซ่อมในแทบทุกครั้ง (แม้กระทั่งในเขตที่เคยเป็นของเพื่อไทยเอง) หรือผู้สมัครนายกฯ อบจ. ที่เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐได้รับชัยชนะอย่างน้อยถึง 23 จังหวัด เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าเครือข่ายอิทธิพลของพรรคพลังประชารัฐนั้นใช้งานได้ผลในระดับหนึ่ง หากพรรคเพื่อไทยยังคิดว่าจะชนะในกติกาแบบที่ตัวเองเคยชนะโดยไม่นำปัจจัยพัฒนาการของฝ่ายตรงข้ามมาคิดคำนวณด้วยแล้ว ผลลัพธ์ปลายทางอาจไม่เป็นอย่างที่หวังได้
.
และอย่างที่ได้กล่าวไปว่าระบบการเลือกตั้งตามที่พรรคเพื่อไทยได้เสนอมานั้นมีปัญหาในเรื่องของความไม่ได้สัดส่วนระหว่างจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคกับจำนวนประชาชนที่เลือกพรรคนั้นๆ บางพรรคที่ได้ ส.ส. เข้าน้อยกว่าสัดส่วนประชาชนที่เลือกจริงๆ ก็ย่อมไม่เป็นธรรมกับพรรคนั้น ทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับคะแนนเสียงตกน้ำ คือคะแนนของประชาชนที่เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตที่แพ้เลือกตั้งต้องสูญเปล่าไปทั้งหมด สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมายาวนานว่าทำให้ระบบเลือกตั้งไม่สะท้อนเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งก็มีวิธีการแก้ไขได้อย่างที่พรรคก้าวไกลเสนอระบบการเลือกตั้งแบบ MMP ของเยอรมนี โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปใช้บัตรใบเดียวให้สับสนเหมือนในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สามารถเลือกคนที่ใช่ กาพรรคที่ชอบ และได้ ส.ส. ในสัดส่วนที่ถูกต้อง หากพรรคเพื่อไทยคิดจะเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งที่จะนำมาซึ่งปัญหาเหล่านี้ โดยที่ไม่ได้มีแนวโน้มที่จะชนะ สู้กลับมายืนอยู่บนหลักการที่สะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างเที่ยงตรงกว่าไม่ดีกว่าหรือ
.
2. เพิ่มจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต ลดจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ถามว่าเขตที่เพิ่มมาใครคุม?
.
อีกหนึ่งประเด็นปัญหาสำคัญของการยอมเดินตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ คือการเสนอให้เพิ่มจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต จาก 350 คนเป็น 400 คน และหันมาลดจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จาก 150 คนเหลือ 100 คน แทน
.
คำถามมีอยู่ว่า อีก 50 เขตเลือกตั้งที่จะเพิ่มขึ้นมานั้น ใครคือผู้ที่จะช่วงชิงความได้เปรียบในเขตเหล่านั้น? เป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคพลังประชารัฐกันแน่?
.
อย่าลืมว่าในบริบทของการเมืองไทยนั้น พรรคพลังประชารัฐนั้นไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่อยู่โดดๆ เดี่ยวๆ หากแต่เป็น “แม่น้ำ” อีกสายหนึ่งของฝ่าย คสช. ที่ไหลบ่าเข้ามาท่วมในพื้นที่สภา เบื้องหลังของพรรคพลังประชารัฐจึงยังมีกลไกต่างๆ ที่จะคอยทำงานประสานกันเพื่อวัตถุประสงค์ของการสืบทอดอำนาจ
.
ลองนึกดูว่าในลำดับแรกสุดคือการกำหนดเขตเลือกตั้ง เป็นอำนาจของใคร? ก็คือ กกต. ซึ่งที่ผ่านมาก็แสดงผลงานของความไม่โปร่งใสให้เห็นกันหลายครั้งหลายครา แล้วในการแบ่งเขตเพิ่มครั้งนี้จะไปตกอยู่ในพื้นที่ของพรรคไหน? ยังไม่นับว่าในช่วงเวลาของการหาเสียงและวันเลือกตั้งจริงในเขตนั้นๆ ฝ่าย คสช. จะอาศัยกลไกอะไรในการควบคุมการเลือกตั้งอีก?
.
นอกจากนี้การเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตยังเป็นการเลือกตั้งที่ประสบปัญหาคะแนนเสียงตกน้ำมากที่สุด การเพิ่มจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตขึ้นมาอีก 50 ที่นั่งจึงจะยิ่งขยายปัญหาดังกล่าวให้หนักขึ้นไปอีก
.
3. การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ยังคงห้ามหมวด 1 หมวด 2 ไม่เคารพเจตจำนงของผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้น
.
นอกจากเรื่องระบบการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยยังเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในอีกเรื่องหนึ่งที่มีประเด็นต้องพิจารณา คือฟื้นเรื่องการให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. กลับมาอีกครั้ง
.
ซึ่งก็ยังคงมีประเด็นปัญหาเดิมที่เคยได้ถกเถียงกันไปแล้วในความพยายามแก้รัฐธรรมนูญคราวก่อน เช่น การไม่มีเขตเลือกตั้งแบบทั้งประเทศ ทั้งที่ประเด็นในรัฐธรรมนูญมิใช่ประเด็นที่มีความจำเพาะในแต่ละจังหวัดแต่เป็นประเด็นร่วมของทั้งประเทศ การที่ไม่เปิดให้มีการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ร. แบบกลุ่มได้ ทำให้ผู้มีความสนใจในประเด็นเดียวกันไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้และต้องแข่งขันกันเอง ข้อกำหนดเหล่านี้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อภาคประชาชนในการริเริ่มสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. เสียเอง
.
แต่ประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุด คือการที่พรรคเพื่อไทยยังคงกำหนดห้ามการจัดทำรัฐธรรมนูญในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ อยู่เช่นเดิม นั่นหมายความว่าหากแม้ว่าประชาชนจำนวนมากจะแสดงความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวดดังกล่าว ไม่ว่าจะมีประชาชนเห็นด้วยมากเพียงใดก็เป็นไปไม่ได้เลยเพราะถูกเขียนห้ามไว้ ข้อกำหนดเช่นนี้จึงเป็นการไม่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น และหากสุดท้ายแล้วมีข้อเท็จจริงปรากฏจนเป็นที่ตระหนักได้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวดดังกล่าวเพื่อแก้วิกฤต นั่นเท่ากับว่าข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยจะไม่สามารถนำประเทศออกจากวิกฤตได้เลย
.
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน หนทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รวดเร็วและตรงต่อจุดหมายที่สุด ทั้งยังคงความยึดโยงกับประชาชน ได้แก่การเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในรัฐสภาให้ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แล้วจัดการออกเสียงประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชนในการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไร้ซึ่งข้อจำกัดเชิงเนื้อหาโดยเร็วที่สุด
.
สุดท้ายนี้ ผมอยากให้พรรคเพื่อไทยคิดตรึกตรองให้ดี ว่าแต่ละสิ่งอย่างที่ได้เห็นคล้อยตามพรรคพลังประชารัฐไปนั้น นอกจากจะมีปัญหาต่อการสะท้อนเสียง สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนแล้ว สิ่งที่คาดหวังว่าตัวเองจะชนะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่นั้น มีมูลเหตุอะไรให้เชื่อมั่นได้อย่างหนักแน่นอย่างนั้นจริงๆ หรือไม่ มิเช่นนั้นแล้วก็คงหนีไม่พ้นเป็นการถวายพานชุดใหญ่ให้กับพรรคพลังประชารัฐและฝ่าย คสช. อีกครั้ง