สถานทูตหลายชาติ ร่วมโพสต์ “การอุ้มหายมีอยู่จริง” ย้ำพันธกิจหาความจริง-คืนยุติธรรมให้ผู้สูญเสีย

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 วันนี้ถือเป็นวันครบ 1 ปี ของเหตุการณ์อุ้มหาย “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง 1 ใน 9 ที่มีรายงานถูกบังคับให้สูญหายซึ่งทั้งหมดถูกอำนาจรัฐไทยระบุเป็นภัยต่อความมั่นคง หลังการรัฐประหาร 2557 และถูกบังคับให้สูญหายในประเทศเพื่อนบ้านรอบไทย โดยเมื่อปีที่แล้ว วันเฉลิมถูกกลุ่มชายฉกรรจ์บุกรวบตัวขณะรอซื้อลูกชิ้นหน้าที่พักกลางกรุงพนมเปญของกัมพูชา ขึ้นรถออกไปอย่างอุกอาจต่อหน้าผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ และมีเพียงภาพจากกล้องวงจรปิดที่จับภาพรถที่ลักพาตัววันเฉลิม ก่อนที่ไม่ปรากฎข่าวคราวของวันเฉลิมอีก

อย่างไรก็ตาม คดีการบังคับให้สูญหายผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลายคน รวมถึงวันเฉลิมยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้วันนี้ หลายกลุ่มภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้ร่วมรำลึกและรณรงค์ ได้จัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหายและกระตุ้นสำนึกให้กับสังคมได้ตระหนักถึงความเลวร้ายที่ผู้ถูกกระทำและครอบครัวได้รับจากการกระทำที่ในระดับสากลเป็นอาชญากรรม

ล่าสุด พบความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กแฟนเพจสถานทูตหลายประเทศทั้งในยุโรป แม้แต่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ “การบังคับให้สูญหาย” โดยชวนตั้งคำถามกับผู้อ่านว่า “ลองจินตนาการดูว่าจะเป็นเช่นไรหากคนที่ท่านรักจู่ ๆ ก็หายตัวไป” ซึ่งตรงกับวันนี้ในวาระครบรอบ 1 ปี อุ้มหาย “วันเฉลิม”

โดยเฟซบุ๊กแฟนเพจของสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ระบุว่า

การ #อุ้มหาย ยังมีอยู่จริง

เหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหาย (Enforced Disappearance) อาจเป็นคนที่คุณรัก เป็นเสาหลักของครอบครัว หรือกระทั่งเป็นผู้นำชุมชน พวกเขาอาจเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของผู้อื่น การบังคับบุคคลให้สูญหายยังมีอยู่จริงในเวลานี้ คดีบังคับบุคคลให้สูญหายที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลายนำไปสู่การ #ลอยนวลพ้นโทษ ของผู้กระทำความผิด สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวที่อาจทำให้ผู้อื่นไม่กล้าเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็น

สหราชอาณาจักรมีพันธกิจในการสนับสนุนและปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลก เราร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติให้ประเทศสมาชิกปกป้องทุกคนจากการบังคับบุคคลให้สูญหายและดำเนินการค้นหาความจริงอย่างเร่งด่วน รวมทั้งนำความยุติธรรมมาสู่บุคคลที่สูญหายและครอบครัวของพวกเขา

เช่นเดียวกับสถานทูตในอีกหลายประเทศอย่าง เยอรมนี สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งโพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกัน