ไขข้อสงสัย ทำไมนายกฯโดนปรับ 6,000 บาท ฐานความผิด “ไม่สวมหน้ากาก ออกนอกเคหสถาน”

ไม่สวมแมสก์ออกนอกเคหสถาน มีความผิดหรือไม่ ถ้าผิดโทษอย่างไรเท่าไร
ใครมีอำนาจลงโทษ เจ้าพนักงาน หรือต้องฟ้องศาลเท่านั้น

1.ไม่สวมแมสก์ออกนอกเคหสถานตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเป็นความผิดหรือไม่?

=ก่อนหน้านี้ คือ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ศาลจังหวัดกันทรลักษ์มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยนักศึกษาสองคนที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ก่อนออกนอกเคหสถาน ที่ถูกฟ้องในฐานความผิดฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 (6)

อย่างไรก็ตามในคดีนั้น พนักงานอัยการโจทก์อุทธรณ์ ต่อมาศาลชั้นอุทธรณ์ ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ. ศ. 2558 มาตรา 34 (6) และ 51 ลงโทษปรับคนละ 1,000 บาท แต่จำเลยรับสารภาพจึงลดโทษให้ คงปรับคนละ 500 บาท

คดีนี้เป็นอันยุติ

2. วันที่ 25 เมษายน 2564 ที่อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ใหญ่บ้าน นำตัวผู้ต้องหาที่ไม่สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ขณะอยู่นอกเคหสถาน มาให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 500 บาท แล้วต่อมาผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 แถลงว่า เป็นความเข้าใจผิดของพนักงานสอบสวนที่เปรียบเทียบปรับไป 500 บาท อันที่จริงต้องปรับ 6,000 บาท จึงให้เพิกถอนการปรับแล้วให้ส่งฟ้องศาลแทน

ไล่เลี่ยกัน วันที่ 26 เมษายน 2564 มีกรณีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยขณะนั่งประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ในห้องประชุมในพื้นที่กทม. จึงถูกปรับเป็นเงิน 6,000 บาท

เลยอาจเกิดข้อกังขาว่า จริงๆแล้วโทษขอบความผิดนี้ คือ ปรับเท่าไรกันแน่ ใครมีอำนาจปรับ ?

= คำตอบสำหรับเรื่องนี้ต้องดูที่กฎหมาย
โดยคำพิพากษาศาลชั้นอุทธรณ์วินิจฉัยว่ากรณีนี้เป็นการกระทำความผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34(6) มีโทษอยู่ที่มาตรา 51

โดยที่มาตรา 34 บัญญัติว่าสาระของการกระทำที่เป็นความผิดไว้ว่า
“เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ เมื่อเกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดหรือมีเหตุสงสัยว่าได้เกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้นมีอำนาจที่จะดำเนินการเองหรือออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(6) ห้ามผู้ใดกระทำการหรือดำเนินการใดๆซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป”

ในส่วนของโทษนั้นมีมาตรา 51 บัญญัติโทษไว้ว่า

“ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34(6) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท”

สรุปได้ว่า มีโทษปรับอย่างเดียวไม่เกิน 20,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก

นอกจากนั้นกฎหมายนี้ยังบัญญัติไว้ว่า คดีนี้อาจจบยุติเพียงชั้นเจ้าพนักงานก็ได้ ไม่ต้องไปศาลให้ยุ่งยาก เพียงหากผู้ต้องหายินดีชำระค่าปรับแล้วให้คดีอาญาก็เลิกกัน-จบ คือ ที่มาตรา 57

มาตรา 57 “บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย มีอำนาจเปรียบเทียบได้

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบที่คณะกรรมการกำหนด

เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในจสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา”

ชัดเจนว่าความผิดตามมาตรา 34 (6) อันมีโทษตามมาตรา 51 นั้น มีโทษปรับสถานเดียว สอดคล้องกับมาตรา 57 บัญญัติไว้ ความผิดลักษณะนี้ที่ศาลชั้นอุทธรณ์เคยวินิจฉัยว่าเป็นความผิดนั้นสามารถเปรียบเทียบปรับได้ในชั้นเจ้าพนักงาน ไม่ต้องนำคดีสู่ศาลก็ได้

3. แล้วทำไมคดีที่อยุธยา ทำไมตำรวจจึงต้องคืนค่าปรับ 500 บาท พร้อมกับแถลงว่า พนักงานสอบสวนเข้าใจผิด พนักงานสอบสวนไม่สามารถปรับ 500 บาทได้ แต่ต้องปรับขั้นต่ำ 6,000 บาท ทั้งที่ 500 บาทก็ไม่เกิน 20,000 บาท

=คำตอบ เรื่องนี้อยู่ที่มาตรา 57 นั่นเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 57 วรรคสองที่บัญญัติว่า “ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบที่คณะกรรมการกำหนด”

“คณะกรรมการ”นี้ คือ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (มาตรา 4 พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558)

ในการนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้กำหนดอัตราการเปรียบเทียบไว้ในบัญชีท้าย ระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบ พ. ศ. 2563 โดยกำหนดให้ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34(6) ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท มีอัตราค่าปรับกำหนดให้เปรียบเทียบ คือ

ทำผิดครั้งที่ 1 ปรับ 6,000 บาท
ครั้งที่ 2 ปรับ 12,000 บาท
ครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ปรับ 20,000 บาท

คดีที่อยุธยาพนักงานสอบสวนจึงปรับเพียง 500 บาทไม่ได้ ถ้าจะปรับก็ต้อง 6,000 บาท แต่ถ้าจะปรับตั้ง 6,000 บาท ผู้ต้องหาเขาย่อมรู้สึกว่ามันมากไป เคยมีข่าวได้ยินข่าวว่าศาล ปรับแค่ 500 บาทเอง จึงให้ส่งเรื่องไปฟ้องศาลดีกว่าเสียเวลาหน่อยแต่ไม่ค่อยมีเงินมากนัก คดีไปศาลแล้วค่อยไปรับสารภาพเอาที่ศาล ศาลมีอำนาจมีดุลพินิจกำหนดค่าปรับได้ ไม่ขึ้นกับค่าปรับตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด อาจเสียค่าปรับต่ำกว่า 6,000 บาท

ส่วนผู้ต้องหารายพลเอกประยุทธอาจคิดว่า ถ้าไปศาลจะยุ่งยาก เสียเวลา เงินก็มีมาก จ่ายค่าปรับ 6,000 บาทแล้วคดีนี้จบดีกว่าสบายใจกว่า จึงควักจ่ายๆไปให้สิ้นเรื่อง

ดังนี้ คงไขข้อข้องใจ เรื่องคดีไม่สวมหน้ากากอกนอกเคหสถานไปได้บ้างกระมัง

อนึ่ง “เคหสถาน” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือ แพซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1)

ทำเนียบรัฐบาลจึงไม่ใช่”เคหสถาน”