โควิด-19 : ไทยป่วยห่วงวันละเกือบพัน ตร.ท่องเที่ยวติดทั้งบ้าน นครพนมพบอีกรายที่ 2 เป็นบุคลากรทางการแพทย์ รพ.เอกชน

ไทยป่วยโควิดพุ่งวันละเฉียดพันราย หมอห่วงสายพันธุ์ ‘บราซิล-แอฟริกา’ แพร่ระบาด ตร.ท่องเที่ยวติดโควิดทั้งบ้านโยงงานมอบสนามบอลดังเมืองคอน นครพนมพบรายที่ 2 เป็นบุคลากรทางการแพทย์ รพ.เอกชนในกทม.

วันที่ 12 เมษายน 2564 เฟซบุ๊กศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 967 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและบริการ 530 ราย ผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุก 434 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค 3 ราย รวมสะสม 32,625 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 29,427 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 3,198 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 28,214 ราย ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 4,314 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 97 ราย ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในการระบาดรอบใหม่เมษายน สะสม 3,762 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 2,192 ราย การคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 1,469 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 101 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 3 ราย

ผู้ติดเชื้อตามพื้นที่และปัจจัยเสี่ยงในการระบาดระลอกใหม่เมษายน 1.สถานบันเทิง พบในกรุงเทพมหานคร (กทม.) 161 ราย ปริมณฑล 45 ราย และจังหวัดอื่นๆ 311 ราย, 2.ตลาด ชุมชน ขนส่ง พบใน กทม. 2 ราย ปริมณฑล 1 ราย และจังหวัดอื่นๆ 28 ราย, 3.ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ พบใน กทม. 64 ราย ปริมณฑล 59 ราย และจังหวัดอื่นๆ 134 ราย, 4.อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค พบใน กทม. 9 ราย ปริมณฑล 8 ราย และจังหวัดอื่นๆ 145 ราย สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อรวม 136,002,033 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 703,555 ราย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประสิทธิภาพวัคซีนในการป้องกันโควิด-19 จะแบ่งดังนี้ ในการป้องกันโรคทำให้เกิดอาการน้อยถึงปานกลาง และป้องกันการนอนโรงพยาบาล และป้องกันการเสียชีวิต จะพบว่าไม่ว่าวัคซีนที่ใช้ในยุโรป อเมริกา หรือไทย ป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค หรือแอสตร้าเซนเนก้าก็ป้องกัน 100% แม้อเมริกันจะฉีดของโมเดอร์นา หรือไฟเซอร์ แต่ประสิทธิภาพไม่แตกต่างกันเลย จึงขอให้มั่นใจในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทย

“การป้องกันไวรัสกลายพันธุ์นั้น ไวรัสตัวนี้เป็นอาร์เอ็นเอไวรัส มีการกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการของเขา และการกลายพันธุ์ก็จะทำให้ติดง่าย ติดยาก ความรุนแรงของโรคเปลี่ยนหรือไม่ ความคงอยู่เป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อพิจารณาประสิทธิภาพของวัคซีนต่อไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษ หรือ B117 นั้น จะพบว่าวัคซีนแอสตร้าฯในการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์หรือไม่กลายพันธุ์ไม่แตกต่างกันเลย ไม่ว่าวัคซีนหลายๆ ตัวก็ไม่แตกต่างกัน เพราะการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ในตำแหน่งส่วนที่จับกับพื้นผิวของเซลล์เรา หรือที่เรียกว่า ACD2 ตำแหน่งนี้เมื่อจับง่าย ไวรัสตัวนี้จึงแพร่พันธุ์ง่าย การเพิ่มจำนวนได้ง่าย ปริมาณไวรัสค่อนข้างเยอะ การกระจายโรคได้เร็ว” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สายพันธุ์ที่อาจมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนหนีไม่พ้นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ และสายพันธุ์บราซิล เพราะ 2 สายพันธุ์นี้พบว่าการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโน เกิดเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะตำแหน่ง 484 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแล้วทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดกับวัคซีนเกาะและจับได้น้อยลง จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลงบ้าง แต่ก็ยังป้องกันได้ สิ่งต้องระวังคือไม่อยากเห็นสายพันธุ์กลายพันธุ์เข้ามาในบ้านเรา แม้จะทำเต็มที่ แต่ก็ยังมีหลุดสายพันธุ์อังกฤษจนได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่การ์ดตก และเมื่อมีวัคซีนและสามารถเคลียร์สายพันธุ์พื้นบ้าน สายพันธุ์อังกฤษ ต่อไปเราก็จะตรวจสอบได้ว่ามีสายพันธุ์หลุดรอดมาหรือไม่ และจะสามารถกำจัดและทำให้หมดไปได้

“ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 700 ล้านโดส ถามว่าพอหรือยัง แน่นอนว่ายัง เพราะประชากรทั่วโลกมีมากกว่า 7 พันล้านโลก การจะให้ครบจริงๆ ต้องฉีดให้ได้มากกว่า 1 หมื่นล้านโดส หรือครอบคลุมให้ได้ 5 พันล้านคน ดังนั้น ขณะนี้ทั่วโลกฉีดได้ประมาณ 15 ล้านโดสต่อวัน ซึ่งต้องใช้เวลาในการฉีด ต้องใช้เวลาถึง 650 วัน หรือ 2 ปี ถึงจะฉีดจนถึงเป้าหมาย แต่ขณะนี้มีแนวโน้มทั่วโลกกำลังเร่งการฉีดเพิ่มเป็นวันละ 30 ล้านโดส ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 325 หรือประมาณ 1 ปีจะถึงเป้าหมาย” ศ.นพ.ยงกล่าว และว่า

ดังนั้น ทุกอย่างมีความเสี่ยงหมด การฉีดวัคซีนมีอาการแทรกซ้อนมีได้ แต่โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดต่างๆ เมื่อถามว่า มีการยอมรับว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน แต่อุบัติการณ์ในการเกิดน้อยมาก และส่วนใหญ่เกิดในคนอายุน้อยกว่า 55 ปี เป็นเพศหญิงที่อาจรับประทานยาเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน อังกฤษเขาจึงมองว่า ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนมากมาย และการนำวัคซีนมาใช้ในภาวะฉุกเฉิน ประโยชน์มีมากกว่าความเสี่ยงจากวัคซีน ดังนั้น ในระดับหมู่มาก หากต้องการควบคุมโรคนี้ให้ได้ และต้องการลดอัตราการเสียชีวิต ลดการนอนใน รพ. เพราะการไปอยู่ รพ.มาก จะกระทบกับผู้ป่วยปกติ สรุปคือวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน แม้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ประโยชน์ย่อมมากกว่าความเสี่ยงมากมาย และเราต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงอาการของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า อาการแสดงของผู้ป่วยในลักษณะตาแดง เป็นผื่น น้ำมูกหรือมีไข้ จะมีความผันแปรในแต่ละคน ยกตัวอย่างในผู้ป่วย 1 รายที่พบในวันแรกๆ มีอาการตาแดง มีขี้ตามาก แต่ไม่มีไข้ แต่ในบางรายอาการก็อาจจะมาพร้อมกันได้ ในทางคลินิกวิทยาอาการของผู้ป่วยที่แสดงออกมา จะไม่ได้เหมือนกันในทุกๆ ราย และก็ไม่สามารถระบุได้ว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 1, 2 หรือ 3 หลังรับเชื้อมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ขอให้อาการเหล่านี้เป็นอาการพึงสังเกต เป็นสัญญาณเตือน โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเสี่ยง เช่นการเข้าไปในสถานบันเทิง หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ แล้วเริ่มมีอาการเหล่านี้ขึ้นมา อาการใดอาการหนึ่ง เช่น ขี้ตามาก ตาแดง เป็นผื่น มีน้ำมูก ก็ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า วันนี้ (11 เมษายน) ป่วยเพิ่ม 967 ราย การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดแล้วกว่า 5 แสนโดส เป็นเข็มแรก 485,957 ราย ครบ 2 เข็ม 69,439 รายเมื่อเทียบกับหลายประเทศเรายังควบคุมโรคได้ดี เพราะหลายประเทศเพียงวันเดียวยอดติดเชื้อก็เกินยอดสะสมของเราแล้ว แต่เพื่อให้เราปลอดภัยมากขึ้น จะควบคุมให้ผู้ติดเชื้อในประเทศไม่เกินขีดความสามารถการรักษาพยาบาล เพื่อลดการเสียชีวิต ตอนนี้อัตราป่วยตายเรา 0.3% น้อยกว่าทั่วโลก 7-8 เท่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการติดเชื้อแล้ว 70 จังหวัด เชื่อมโยงจากสถานบันเทิง จากข้อมูล กทม.รายงานติดเชื้อสะสม 1,114 ราย เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 823 ราย และค้นหาเชิงรุกในชุมชน 234 ราย จ.เชียงใหม่เริ่มจากผู้ติดเชื้อ 9 รายแรกที่นำเชื้อมาสู่สถานบันเทิงเชียงใหม่และทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างเร็วมาก

นพ.โสภณ กล่าวว่า กองระบาดวิทยาและสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ทำแบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยในระยะ 1 เดือนข้างหน้า เปรียบเทียบ 5 สถานการณ์ไม่มีมาตรการและมีมาตรการเพิ่มขึ้น พบว่า 1.หากไม่มีมาตรการใดๆ เลยปล่อยให้การติดเชื้อเป็นไปโดยธรรมชาติ ผู้ติดเชื้อต่ำสุด 1,308 รายต่อวัน สูงสุด 28,678 รายต่อวัน เฉลี่ย 9,140 รายต่อวัน 2.กรณีมีมาตรการปิดสถานบันเทิง 41 จังหวัด ต่ำสุด 817 รายต่อวัน สูงสุด 7,244 รายต่อวัน เฉลี่ย 2,996 รายต่อวัน ลดลง 32.8%

3.ปิดสถานบันเทิงและเพิ่มมาตรการส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือ สแกนไทยชนะ ติดเชื้อต่ำสุด 476 รายต่อวัน สูงสุด 1,589 รายต่อวัน เฉลี่ย 934 รายต่อวัน การติดเชื้อลดลงอีก 10.2% 4.กรณีปิดสถานบันเทิง มีมาตรการส่วนบุคคล และลดกิจกรรมการรวมตัว หรือจัดงานปลอดภัยมากขึ้น จำกัดคนเข้าร่วม ผู้ติดเชื้อต่ำสุด 378 รายต่อวัน สูงสุด 857 รายต่อวัน เฉลี่ย 593 รายต่อวัน ลดลงอีก 6.5% และ 5.กรณีปิดสถานบันเทิง มีมาตรการส่วนบุคคล ลดกิจกรรมรวมตัว และเพิ่มมาตรการองค์กรหลังสงกรานต์ เช่น ทำงานที่บ้าน การแพร่เชื้อก็จะลดลงอีก โดยติดเชื้อต่ำสุด 303 รายต่อวัน สูงสุด 483 รายต่อวัน เฉลี่ย 391 รายต่อวัน ลดลงอีก 4.3%

ตร.ท่องเที่ยวติดเชื้อทั้งบ้าน

ศูนย์ปฎิบัติการโควิด-19 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รายงาน สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้พบผู้ป่วยยืนยันใหม่เพิ่มอีก 8 ราย รวมเป็น 25 ราย โดยรายที่ 18 เพศชาย อายุ 20 ปี ชาว อ.พระแสง เป็นนักศึกษาศึกษาอยูที่ จ.เชียงใหม่ คาดว่าติดเชื้อมาจากพื้นที่ จ.เชียงใหม่ รายที่ 19 เพศหญิง อายุ 24 ปี ชาวเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน อาชีพประกอบธุรกิจ ติดเชื้อมาจากเพื่อนที่เคยไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ รายที่ 20 ผู้ชายชาวอังกฤษ อายุ 35 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว อยู่ที่ อ.เกาะสมุย ติดเชื้อจากไปร่วมงานปาร์ตี้ที่ จ.ภูเก็ต รายที่ 21 เป็นเพศหญิง อายุ 36 ปี อาชีพรับราชการโรงพยาบาล รายที่ 21 เด็กนักเรียนหญิง อายุ 5 ปี รายที่ 23 เป็นเด็กชาย อายุ 2 ปี รายที่ 24 เป็นเพศหญิง อายุ 75 ปี รายที่ 25 เป็นเพศหญิง อายุ 24 ปี อาชีพรับราชการครู

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายที่ 21-25 ทั้งหมดเป็นชาว อ.ดอนสัก เป็นครอบครัวของผู้ป่วยรายที่ 15 (ตำรวจท่องเที่ยว)เมื่อวันที่ 10 เม.ย.64 ประกอบด้วยภรรยา ลูก 2 คน แม่ภรรยา และน้องภรรยา ซึ่งตำรวจท่องเที่ยวดังกล่าวติดเชื้อมาจากเพื่อนตำรวจที่มารับเดินทางไป อ.เกาะสมุย โดยเพื่อนตำรวจคนนี้เป็นผู้ป่วยติดเชื้อจากคณะกรุงเทพฯที่ไปจัดกิจกรรมมอบสนามฟุตบอลที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีต้นทางเชื้อโควิดมาจากกรุงเทพฯ จึงมีความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพ สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงที่ชุมชนแออัด

สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน มียอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 2-11 เมษายน 2564 รวม 114 ราย จ.ภูเก็ต 60 ราย จ.สุราษฎร์ธานี 25 ราย จ.ชุมพร 15 ราย จ.นครศรีธรรมราช 6 ราย จ.กระบี่และ จ.พังงา แห่งละ 4 ราย

นครพนมพบป่วยรายที่ 2

ขณะที่ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(covid-19) ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ของจังหวัดนครพนม ในการระบาดโรคโควิดระลอกที่ 3 ว่า “รายที่ 2!แล้วนะครับ นครพนม แต่ถือว่า มาตรการเราดี ตรวจก่อนเข้าบ้าน ตรวจก่อนแพร่เชื้อ ระวังคนมาจากนอกพื้นที่ครับพี่น้อง #ไม่ว่าจะเป็นลูก หลาน หรือคนที่เรารักก็ตาม มาจากพื้นที่เสี่ยงสงสัยระวังไว้ก่อนครับ” ซึ่งมีผู้คนเข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

โดยทีมตระหนักรับรู้สถานการณ์โควิด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม ได้เผยแพร่ข้อมูลเมื่อเวลา 21.30 น. ดังนี้ พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย เป็นรายที่ 2 เป็นเพศหญิงอายุ 21 ปี ชาว อ.ธาตุพนม จ.นครพนม อาชีพบุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุข รพ.เอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. มีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก มีประวัติการติดเชื้ออยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด

พร้อมได้เปิดไทม์ไลน์หญิงสาววัย 21 ปี ว่า วันที่ 10 เมษายน ขึ้นแท็กซี่ไปหาลุงป้าที่เขตห้วยขวาง รับประทานอาหารร่วมกัน 5-6 คน,เวลา 15.00 น. เดินทางกลับนครพนม ด้วยรถยนต์ส่วนตัว มีผู้ร่วมโดยสาร 3 คน (ลุง ป้า พี่ชาย) ส่งพี่ชายที่ จ.กาฬสินธุ์,วันที่ 11 เมษายน เวลา 05.00 น. เดินทางถึง อ.ธาตุพนม,เวลา 11.00 น. ตรวจ Rapid Test ที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ผล Possititive เข้าห้องแยกโรค เก็บตัวอย่างส่งตรวจ RT PCR ส่ง รพ.นครพนม,เวลา 21.00 น. ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากการสอบสวนโรคพบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 3 ราย ทั้งหมดอยู่ระหว่างกักตัว

มีรายงานข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังผู้ป่วยเดินทางมาถึงบ้านในตำบลธาตุพนมแล้ว ก็ไม่ได้แวะเข้าบ้านทันที แต่ได้ขับรถยนต์ส่วนตัวไปที่ รพ.สมเด็จพระยุพราชฯเพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิดและได้นั่งรอฟังผลตรวจโดยไม่ได้ออกไปไหน กระทั่งเวลา 21.00 น. มีผลตรวจเป็นบวก ผู้ป่วยจึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที โดยไม่ได้ไปสัมผัสกับใครในพื้นที่ ซึ่งจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันนี้ ข่าวคืบหน้าจะนำมาเสนอต่อไป

ทั้งนี้เชื้อโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ เป็นสายพันธุ์อังกฤษ หรือที่เรียกว่า UK Variant ที่เกิดการแพร่ระบาดมาจากสถานบันเทิง ซึ่งมีการแพร่กระจายเร็วมาก เพราะสถานบันเทิงเป็นสถานที่ปิด มีการแออัด น่าจะมีการติดเชื้อจากทางเดินหายใจ จนเกิดซูเปอร์ สเปรดเดอร์ (super spreader) โดยครั้งแรกที่พบเชื้อดังกล่าวผู้ป่วยจะไม่ค่อยแสดงอาการ แต่หลังจากตรวจปริมาณไวรัสในคอผู้ป่วย ก็เริ่มสังเกตว่าแม้ผู้ป่วยไม่มีอาการ แต่กลับมีปริมาณไวรัสที่ค่อนข้างสูงมาก

ผู้เชี่ยวชาญจึงได้นำไปตรวจเฉพาะว่าเป็นสายพันธุ์อังกฤษหรือไม่ หรือเป็นสายพันธุ์เดิมที่มาจากการระบาดจากสมุทรสาคร พบว่าผู้ป่วยที่มาจากสถานบันเทิงทองหล่อ เป็นสายพันธุ์อังกฤษทั้งหมด และเป็นสายพันธุ์เดียวกันทั้งหมดในรูป B117 โดยเชื้อจะมีการแพร่กระจายสูงถึง 170 เท่า

ข้อมูลจากเว็บไซต์เจาะลึกระบบสุขภาพ ระบุว่าสายพันธุ์อังกฤษที่กลายพันธุ์ B.1.1.7 พบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนกันยายน 2563 ส่วนใหญ่อยู่ในอังกฤษ มีการกระจายไปในประเทศอเมริกา และประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยตำแหน่งที่กลายพันธุ์เป็นตำแหน่งพิเศษ อยู่บนผิวไวรัส ทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติจับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีขึ้น