“ศิริกัญญา” ชี้ 7 ข้อสังเกต ร่างงบประมาณฯปี 65 สปสช.-ประกันสังคม ปรับลดลง

วันที่ 11 เมษายน 2564 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 หลังครม.เห็นชอบไม่นานมานี้ว่า

ครม.เพิ่งเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำไปจัดทำเป็นร่างพรบ. และนำเข้าสู่สภาในปลายเดือนพ.ค.นี้ ทำให้เราได้เห็นรายละเอียดงบปี 65 เพิ่มขึ้นอีกนิด จึงนำมาทำสรุปข้อสังเกตที่เราพบได้ 7 ข้อดังนี้ค่ะ

1. งบประมาณรายจ่ายถูกปรับลดจากปีก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี งบประมาณปี 65 ถูกปรับลดลงเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท จาก 3.29 ล้านล้านบาทในปี 2564 (-5.7%) โดยครั้งสุดท้ายที่งบประมาณรายจ่ายของประเทศถูกปรับลดลง เกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2553 ในช่วงที่ประเทศเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์การเงินโลก หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในครั้งนั้นรัฐบาลได้ปรับงบประมาณปี 2552 ลงถึง 13% เหลือเพียง 1.7 ล้านล้านบาท ถึงงบประมาณจะถูกปรับลด แต่รัฐบาลก็ทำงบประมาณขาดดุลในสัดส่วนที่สูงถึง 22% และกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลสูงกว่ารายจ่ายลงทุน ซึ่งผิดพรบ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 จำเป็นต้องแถลงเหตุผลต่อสภาในวาระที่ 1

2. 17 จาก 20 กระทรวงถูกปรับลดงบประมาณ โดยกระทรวงที่ถูกปรับลดงบมากที่สุด คือกระทรวงศึกษาธิการ โดยถูกปรับลดลงกว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมาการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยรับงบประมาณภายในกระทรวงศึกษาธิการที่ถูกปรับลดมากที่สุด คือถูกปรับลดลงถึงกว่า 20,000 ล้านบาท ในจำนวนนั้น 13,264 ล้านบาท เป็นการลดงบในแผนงานบุคลากรภาครัฐ ซึ่งก็คือส่วนของเงินเดือนค่าตอบแทน กระทรวงที่ถูกตัดงบมากเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่ แรงงาน (-19,977 ลบ.) มหาดไทย (-17,144 ลบ.) คมนาคม (-14,100 ลบ.)

3. 3 กระทรวงได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น กระทรวงที่ได้รับงบเพิ่มมากที่สุด คือ กระทรวงการคลัง คาดว่าจะเป็นเงินเพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รองลงมา คือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยได้รับงบประมาณเพิ่ม 2,300 ล้านบาท โดยไปเพิ่มให้กับกรมเด็กและเยาวชน คงต้องลุ้นกันต่ออีกปีว่าจะเป็นเงินเลี้ยงดูเด็กแบบถ้วนหน้าหรือไม่ ส่วนกระทรวงที่งบประมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คือกระทรวงพลังงาน โดยมีสัดส่วนงบประมาณเพิ่มขึ้น 19% เพิ่มให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (+80%) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (+37%)

4. กลาโหมถูกปรับลดงบประมาณลง 11,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.24% แต่ที่น่าสนใจคืองบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้นทั้ง 3 เหล่าทัพ

• กองทัพบก เพิ่มขึ้น 799 ล้านบาท เป็น 58,892 ล้านบาท

• กองทัพเรือ เพิ่มขึ้น 531 ล้านบาท เป็น 21,283 ล้านบาท

• กองทัพอากาศ เพิ่มขึ้น 365 ล้านบาท เป็น 13,258 ล้านบาท

5. งบเพื่อสวัสดิการและการศึกษาหลายอย่างถูกตัด แม้เราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ถูกตัดงบลง 5,740 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29% กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ถูกตัดงบลง 432 ล้านบาท เหลือ 5,652 ล้านบาท

หรือแม้แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ถูกปรับลดงบประมาณลง 1,815 ล้านบาท เหลือเพียง 140,550 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ สปสช. เองก็คาดการณ์ว่าจะมีผู้ที่เข้ามาใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 137,000 คน ในปี 2564 และอาจมีเพิ่มมากขึ้นหากสภาวะทางเศรษฐกิจยังคงย่ำแย่

(ที่มา:https://www.nhso.go.th/news/2992)

อีกกองทุนหนึ่งที่ถูกปรับลดคือกองทุนประกันสังคม โดยถูกตัดถึง 19,253 ล้านบาท หรือลดลงคิดเป็น 30% แต่เมื่อดูจากสถิติของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม พบว่าจำนวนผู้ประกันตนในเดือนมกราคม 2564 ลดลงจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพียง 2% จากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีสวัสดิการบางตัวที่อาจได้รับงบประมาณเพิ่ม คือ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ในแผนงานยุทธศาสตร์สร้างหลักประกันทางสังคม ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 17,296 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,479 ล้านบาท) โดยน่าจะเป็นการขยายการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

6. งบกลางลดลงจากปีก่อน 43,500 ล้านบาท แต่ที่ลดลงมาได้ 40,300 ล้านบาทนั้น เป็นเพราะในปี 2565 ไม่ได้มีการตั้งงบกลางสำหรับแก้ปัญหา บรรเทา ผลกระทบจากโควิดฯ ไว้เหมือนเมื่อปีงบประมาณก่อน โดยตัวเลขงบประมาณสำหรับงบกลางที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

• เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการ เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท

• เงินสำรอง สมทบ ชดเชย ของข้าราชการ เพิ่มขึ้น 2,662 ล้านบาท

• ค่าใช้จ่ายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และค่าใช้จ่ายในการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ ลดลงรายการละ 200 ล้านบาท

• เงินเลื่อนเงินเดือนและปรับวุฒิข้าราชการ ลดลง 3,952 ล้านบาท

• เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ลดลง 10,000 ล้านบาท

7. รัฐเอาเงินอุดหนุน อสม. ออกจากเงินอุดหนุน อบจ. กลับไปให้กระทรวงสาธารณสุข (ประมาณปีละ 12,500 ล้านบาท) แต่ก็ไม่ได้มีการชดเชยเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้ อปท. โดยในปีงบประมาณ 2565 รัฐอุดหนุนเงินให้ อปท. ลดลง 5% (หลังหักเอาเงิน อสม. ออกแล้ว) และคาดว่า อปท. จะมีรายได้น้อยกว่าปีงบประมาณก่อนประมาณ 76,000 ล้านบาท หรือลดลง 9%

ทั้งนี้ รายได้ของ อปท. อาจต่ำกว่าที่ประมาณการลงอีก เนื่องจากแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการให้ลดภาษีที่ดิน ซึ่งเป็นรายได้โดยตรงของท้องถิ่นลงถึงร้อยละ 90 สำหรับปีภาษี 2564 และหากการเก็บภาษีของรัฐไม่เป็นไปตามเป้า ก็จะทำให้รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้ และรายได้ที่รัฐแบ่งให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดลงไปอีก