รัฐประหารพม่า : ประยุทธ์ สั่งเหล่าทัพทำแผนรับมือขั้นวิกฤต ผบ.ทอ.เตรียม C-130 อพยพคนไทยกลับ

Anti-coup protesters extinguish fires during a protest in Thaketa township Yangon, Myanmar, Saturday, March 27, 2021. The head of Myanmar’s junta on Saturday used the occasion of the country’s Armed Forces Day to try to justify the overthrow of the elected government of Aung San Suu Kyi, as protesters marked the holiday by calling for even bigger demonstrations. (AP Photo)

“ผบ.ทอ.”สั่งเตรียมพร้อม C-130 อพยพคนไทยในพม่า กลับประเทศ หากสถานการณ์ถึงขั้นวิกฤติ เผยสั่งการตั้งแต่เกิดประท้วงรัฐประหาร แหล่งข่าวความมั่นคง เผย “ประยุทธ์” สั่งเหล่าทัพเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

วันที่ 1 เมษายน 2564 พล.อ.ท.ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือน ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) สั่งการให้กองบิน 6 เตรียมความพร้อมเครื่องบินลำเลียง C-130 และเครื่องบินในส่วนของกองทัพอากาศไว้สำหรับรองรับภารกิจ หากรัฐบาลสั่งการให้ส่งเครื่องบินไปรับคนไทยในเมียนมาก็พร้อมปรับเปลี่ยนภารกิจมาใช้ในภารกิจนี้ได้ทันที หากเกิดสถานการณ์ขั้นวิกฤติ

ทั้งนี้ ผบ.ทอ. สั่งการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาแล้ว หากรัฐบาลสั่งการจะได้ไปทันที แต่จะส่งไปเมื่อใดนั้นแล้วแต่สถานการณ์ ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ตอนนี้เป็นเพียงการติดตามสถานการณ์เท่านั้น

ขณะที่ แหล่งข่าวความมั่นคง เปิดเผยถึงการประเมินสถานการณ์ประเทศเมียนมาในขณะนี้ว่า จากที่ติดตามและพิจารณารายวันจะพบว่าสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นน่าวิตกกังวลใดๆ เนื่องจากเหตุความวุ่นวายเกิดขึ้นบางพื้นที่ประเทศเมียนมาเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วทั้งประเทศและยังไม่ก่อเป็นสงคราม ส่วนใหญ่จะเป็นจุดพื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยอยู่และมีการต่อสู้กับทางทหารเมียนมา ขณะที่คนไทยในเมียนมาส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่บริเวณชายแดน และตอนนี้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งยังไม่มีคนไทยคนใดประสานขอความช่วยเหลือจากทางการ หรือประสานขอกลับประเทศ

แหล่งข่าวความมั่นคงกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา โดยในส่วนของภาคพื้นดินแนวชายแดนระหว่างไทยกับเมียนมาได้มอบหมายให้กองทัพภาคที่ 3 กองทัพบกทำหน้าที่รับผิดชอบหลักในการดูแลให้ความช่วยเหลือชาวเมียนมา ซึ่งมีการจัดพื้นที่แรก พื้นที่พักรอ และจุดรองรับผู้อพยพในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย ขณะที่พื้นที่ทางน้ำระหว่างแม่น้ำหน่วยเฉพาะกิจของกองทัพเรือ ป้องกันชายแดนตามลำแม่น้ำโขงเขต จ.เชียงราย ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรือที่สัญจรผ่านไปมาระหว่างแม่น้ำสองประเทศ