“เอนก” โดนนักวิชาการทัวร์ลง ทวงถามสำนึก หลังชี้ไม่ควรมีเสรีภาพเกินขอบเขตในมหาวิทยาลัย

จากกรณีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมาให้สัมภาษณ์ ปกป้องคณบดีวิจิตรศิลป์ มช.ทำตามหน้าที่เป็นการกระทำโดยชอบแล้ว และขอให้กำลังใจผู้บริหารทุกระดับของทุกมหาวิทยาลัย ที่ยืนหยัดรักษากฎหมาย กรณีการเก็บงานศิลปะนักศึกษาที่ผู้บริหารคณะมองว่ามีนัยยะทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของรมว.การอุดมการศึกษาฯนี้ ทำให้บรรดาคนร่วมวงการวิชาการต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงความย้อนแย้งในความเป็นนักวิชาการและเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยกับความเห็นล่าสุดที่กดทับสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ

โดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขียนบทความเรื่อง มหาวิทยาลัยไม่ใช่ “ค่ายกักกันปัญญา”  มีรายละเอียดดังนี้​​​​​​

​​​​​​๑. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า “ตนเข้าใจดีเรื่องเสรีภาพ แต่เสรีภาพนั้น ไม่ว่าที่ไหนในโลก ต้องมีขอบเขต ใครที่ต้องการเสรีภาพที่สุดขั้ว ที่มากล้นกว่านี้ ก็ไม่ควรอยู่ในชุมชนมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีใครบังคับให้อยู่ที่นี่” และ “อาจารย์ส่วนใหญ่พอใจในเสรีภาพวิชาการ แต่อาจารย์ส่วนน้อยนิด ถ้าไม่เชื่ออยากจะรุกล้ำอะไรมากกว่านี้ ตนก็เสียใจที่จะบอกว่าขอให้เตรียมตัวรับผลที่จะตามมาก็แล้วกัน”

ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกล้าข่มขู่คุกคามเสรีภาพของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ และเหมือนกับว่าเป็นการพูดโดยไม่รู้เรื่อง/ไม่สำนึกถึงความหมายของมหาวิทยาลัยเลย ทั้งๆที่เอนก เหล่าธรรมทัศน์ควรจะสำนึกว่ามหาวิทยาลัยมีความหมายอย่างไรต่อสังคม เพราะเอนกก็เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เคยเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ อยู่ในบรรยากาศการสร้างสรรค์สติปัญญามาเนิ่นนาน แต่กลับมากล่าวข่มขู่และคุกคามเสรีภาพและนักวิชาการอย่างไร้สติปัญญา

การพูดที่แสดงว่าเอนกไม่มีความสำนึกสำคัญเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษาฯไปเสียเลยดีกว่า เพราะเอนกกำลังจะใช้อำนาจทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็น “ค่ายกักกันทางปัญญา”

เอนกคงเคยจำได้กระมังว่าเสรีภาพทางวิชาการสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการแสวงหาความรู้เพื่อเข้าใจต้นตอของปัญหาในชีวิตของคนและสังคม และสร้างทางเลือกที่ดีกว่าเดิม ถ้าเสรีภาพในการอธิบายปัญหาและสร้างทางเลือกให้แก่การแก้ไขปัญหาถูกทำลาย แล้วบังคับให้ทุกคนต้องเดินอยู่บนเส้นทางแคบๆ เส้นทางเดิมและเส้นทางเดียวตลอดไป คนทั้งสังคมก็จะเสมือนตกอยู่ในความมืดบอดตลอดกาลไม่มีโอกาสมองเห็นแสงสว่างใหม่ๆ ยิ่งสังคมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและซับซ้อนมากเพียงใด เสรีภาพของมหาวิทยาลัยก็ยิ่งสำคัญมากขึ้น หากมหาวิทยาลัยกลายเป็น “ค่ายกักกันทางความคิด” เสียแล้ว จะอธิบายปัญหาและสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างไร

ใครที่ขัดขวางทำลายเสรีภาพทางวิชาการจึงเท่ากับทำลายทางเลือกของสังคมไทยที่ที่จะแสวงหาเส้นทางไปสู่อนาคตที่งดงาม นักศึกษาประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้กล่าวไว้ว่าประวัติศาสตร์จะจารึกว่า “ ยุคสมัยนี้ทรราชครองเมือง” และอเนกก็ได้ขายวิญญาณให้แก่ทรราชไปแล้ว

​​​​​๒.​สังคมไทยกำลังเคลื่อนเข้าไปสู่ “ยุคนาซีใหม่” เพราะอำนาจดิบ/เถื่อน/ของทรราชเถลิงอำนาจขึ้นครอบงำสังคมไทยและปรับเปลี่ยนผู้คนในสังคมไทยให้กลายเป็น “อณู” ที่จะมีความหมายได้ก็ต่อเมื่อไปเชื่อมตัวเองกับอำนาจของทรราช “อณู”เล็กๆที่แยกกระจัดกระจายจึงทนรับได้กับการทำลายล้าง/ฆ่าเพื่อนบ้านชาวยิวที่เคยสนิทสนมกัน เช่น ในคืนวันกระจกแตก (Night of Broken Glass ) เอนกยอมเป็นเครื่องมือของ “นาซีใหม่” ในการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นค่ายกักกันทางความคิด ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเพาล์ โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ (Paul Joseph Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวงประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลฮิตเลอร์เลย

​“นาซีใหม่” ในสังคมไทยเถลิงอำนาจด้วยการสร้าง “วัฒนธรรมแห่งความกลัว” ( Culture of Fear ) ด้วยการทำให้เกิดการกระจายความกลัวไปทุกระดับและทุกมิติ ในระดับสังคม ความยุติธรรมก็เอียงข้างอย่างเห็นได้ชัด การใช้คนเสื้อเหลืองที่พร้อมใช้ความรุนแรง การระบุและเลือกฝ่ายตัวเองให้ปรากฏต่อสายตาคนในสังคม ที่สำคัญ ทำให้ชีวิตคนที่ต้องการเสรีตกอยู่ในความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มที่จะถูกกระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังคำข่มขู่ของรัฐมนตรีข้างต้น

​“นาซีใหม่” ได้ทำให้ช่องทางการเลื่อนตำแหน่ง/การได้รับการอุปถัมภ์/หรือได้รับผลประโยชน์ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ส่วนตัว ดังที่มีข่าวว่ามีตำแหน่งรัฐมนตรีจากโควตา กปปส. หรืออีกหลายกรณี ซึ่งเป็นกระบวนการสั่นคลอนระบบที่เคยดำรงอยู่ให้มีความไม่แน่นอนแต่ทั้งหมดกลับกลายเป็นการทำให้ขึ้นตรงต่อผู้นำ “นาซีใหม่”

“นาซีใหม่” ปิดกั้นความคิดคนและพยายามดันให้คนทั้งสังคมคิดคำนึงไปในทางทิศที่ตนเองต้องการ จึงไม่น่าแปลกใจที่รัฐมนตรีได้แสดงความคิดเห็นข่มขู่ไม่ให้มีความคิดต่างออกไป ด้วยการสร้างให้“วัฒนธรรมความกลัว” ขยายตัวและกระจายออกไปให้กว้างขวางมากที่สุด ปราการที่ต้องทำลายก่อนก็คือ “มหาวิทยาลัย”เพื่อที่จะขยายความกลัวได้สะดวกมากขึ้น

​​​​​​๓.​เสรีภาพคือลมหายใจของผู้คน เสรีภาพจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม การปิดกั้นเสรีภาพในมหาวิทยาลัยไม่ว่าจะด้วย การเก่าอ้างเหตุผลใดก็ตามเท่ากับเป็นการทำลายชีวิตของผู้คนในสังคม นวัตกรรมทางสังคมที่อาจจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆก็จะสูญสลาย

​เสรีภาพในมหาวิทยาลัยจึงเป็นสิ่งที่สังคมจะได้รับผลประโยชน์กลับคืนในอนาคต ความพยายามจะปิดกั้นเสรีภาพของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ จึงเป็นเรื่องที่จะทำลายอนาคตของสังคม สิ่งที่ต้องย้ำให้สังคมได้รับรู้ก็คือมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายกักกันทางปัญญา เราไม่มีวันจะยินยอมให้เกิดการทำลายสติปัญญาของสังคมอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ก็ร่วมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า อาจารย์และนักศึกษามหาลัยไม่เคยมีเสรีภาพสุดขั้วดังที่เอนก เหล่าธรรมทัศน์กล่าวหา แม้แต่เสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในการแสดงออกแบบเต็มความหมายก็ไม่เคยมีอยู่จริง
สิ่งที่มีได้อย่างสุดขั้วคือการอวยชาติ ศาสน์ กษัตริย์เกินจริง และการอ้างชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ไล่ล่าคุกคามและใช้ 112 ปิดปากคนเห็นต่างซึ่งเป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออกเสมอมา

ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ได้ออกมาปกป้องผลงานทางศิลปะของนักศึกษา แสดงความคิดเห็นตอบโต้ ศ.พิเศษ ดร.เอนก ผ่านทางเฟซบุ๊ก ความว่า ผมเข้าใจว่าสิ่งที่อาจารย์เอนกพูดนั้น คงจะมาจากความเชื่อโบร่ำโบราณที่บอกว่า “เรียนสูงๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน” หรือไม่ก็ “เรียนสูงๆ จะได้มารับใช้ราชการ”ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์เอนกน่าจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่า ‘การศึกษา’ และ ‘ความรู้’ ที่แตกต่างจากผม ผมไม่อาจรู้ได้ว่าอาจารย์เข้าใจอย่างไร

นอกจากนี้ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อ้างอิงคำวิจารณ์ของ ศ.ดร.อรรถจักร์ พร้อมกับกล่าวติติงจุดยืนของเอนกว่า “กระจอกจนน่ารังเกียจ”