‘ฝ่ายค้าน’ ยันลุยลงมติวาระ 3 ต่อ ดักคอถ้ามีโหวตคว่ำ ได้รู้กันใครไม่จริงใจ

วันที่ 12 มีนาคม 2564 เมื่อเวลา 12.30 น. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อกำหนดท่าทีร่วมกันหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยภายหลังการประชุมได้มีการแถลงร่วมกัน

โดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคพท. กล่าวว่า ญัตติของฝ่ายค้านที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาเราต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เราสามารถแก้ไขทั้งฉบับได้ ดังนั้น ฝ่ายค้านเราจะดำเนินการเพื่อไม่ให้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเราจะเดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ต่อ ทั้งนี้ การดำเนินการในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ เราเห็นว่า ประธานสภาควรนำเรื่องการลงประชามติเข้ามาหารือในที่ประชุมด้วย

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า 1.พรรคก.ก.ยืนยันว่าอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นของรัฐสภาตั้งแต่ต้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นการยืนยันความปกติของการเมืองไทย ว่ารัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ฉีกง่ายกว่าแก้ และจากนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรมาจากการล้มล้างการปกครอง หรือการทำรัฐประหารอย่างเดียว แต่ควรอยู่คู่กับกลไกรัฐสภาในระบบประชาธิปไตย

2.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมานั้นสอดคล้องกับเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่เรากำลังทำอยู่ในรัฐสภา วาระที่ 1 และ 2 ถือว่าไม่เป็นโมฆะ และเราจะเดินหน้าไปสู่วาระที่ 3 ในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ เพราะสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่นั้นคือการแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตรา คือ มาตรา 256 ไม่ใช่แก้ไขทั้งฉบับการที่สมาชิกรัฐสภาบางคนพยายามลดทอนอำนาจของตัวเองโดยการบอกว่าวาระที่ 1 และ 2 เป็นโมฆะนั้น เป็นการตีความที่ไม่เห็นหัวประชาชน และไม่ถูกต้อง

3.แม้ว่าวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ ประธานรัฐสภาจะกำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 แล้ว แต่กระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นการพายเรือวนอยู่ในอ่าง มีความพยายามประวิงเวลา และถ่วงเวลาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้ามีการโหวตคว่ำในการประชุมรัฐสภาในวาระที่ 3 อีกก็จะได้รู้กันว่าใครมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน

และ 4.พรรคก.ก.เห็นว่า ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ แต่จะโหวตคว่ำในวาระที่ 3 ปิดประตูการแก้ไข ศาลรัฐธรรมนูญได้บอกวิธีลดอุณหภูมิการเมือง คือให้รัฐบาลใช้มาตรา 166 เพื่อสอบถามประชาชนว่าอยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่คือกุญแจนำไปสู่ทางออก

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวว่า ตนคิดว่าประธานรัฐสภาทำถูกแล้วในการบรรจุกำหนดวันโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ดังนั้น ในการประชุมควรพิจารณาเห็นชอบเรื่องนี้เพียงอย่างเดียวว่ารับหรือไม่รับ การจะเอาเรื่องอื่นเข้ามาพิจารณาก่อน ตนคิดว่าประธานสภารู้ดีว่าหากทำเช่นนั้นจะเท่ากับเรื่องที่พิจารณาอยู่ตกไป ประเด็นต่อมาคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรากำลังทำอยู่ เราใช้เวลานานกว่า 1 ปีในการดำเนินการเพื่อหาทางออกประเทศ ตนคิดว่า รัฐบาล ส.ว. และรัฐสภาต้องเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออกสำหรับวิกฤติประเทศ หากมีการโหวตคว่ำหรือไม่มีการโหวตก็จะค้านกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เราต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (พช.) กล่าวว่า การดำเนินการที่เราทำอยู่นี้คือการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตรา ไม่ได้แก้ทั้งฉบับ ดังนั้น การดำเนินการจึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ฝากสมาชิกรัฐสภาทุกคนเห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมือง อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 นั้น ฝ่ายค้านยืนยันว่าจะเดินหน้าเต็มที่ ตนเชื่อว่า มีพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมากที่เห็นด้วยกับฝ่ายค้านในการที่จะเดินหน้าต่อ อย่างไรก็ตาม หากใครที่ผิดสัจจะกับประชาชนที่ไปหาเสียงไว้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วไม่ทำ ก็ขอให้ประชาชนกาหัวไว้เลย

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิกรพรรคพท. กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันในการลงมติวาระ 3 โดยเราถือว่า มีความชอบธรรม และสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดถูกต้องแล้ว

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า มีความพยายามในการที่จะทำให้กระบวนการในการมีส่วนร่วมของประชาชนลดน้อยถอยลง ดังนั้น สิ่งที่ควรทำขณะนี้คือต้องพยายามทำให้รัฐสภาดำเนินการไปตามหลักที่ถูกต้อง โดยเราจะติดตามสิ่งต่างๆอย่างใกล้ชิดตลอด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆได้ตามเจตนารมย์

เมื่อถามว่า สภามีคววามกังวลในเรื่องของเงื่อนเวลาตามมาตรา 5 ที่ระบุว่า จะต้องเลือก ส.ส.ร.ภายใน 30 วัน ซึ่งจะทำให้ไม่ทันกับการทำประชามติ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก.ก. กล่าวว่า เราต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนที่จะถึงกระบวนการลงพระปรมาภิไธย และประกาศเป็นพ.ร.ฎ.โดยเราสามารถทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 3 นี้ หรือไม่ และถามเป็นคำถามพ่วงไปในคราวเดียวกับการทำประชามติว่า จะให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เพื่อให้มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่