‘อังคณา’ โพสต์บันทึก 17 ปี ‘ทนายสมชาย’ สูญหาย คนอยู่ก็เหมือนตายทั้งเป็น

วันที่ 12 มีนาคม 2564 นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวรำลึกถึง 17 ปี การสูญหายนายสมชาย นีละไพจิตร ระบุว่า ในวันที่ 12 มีนาคม ของทุกปี ดิฉันจะเขียนบันทึกและความรู้สึกส่วนตัว เพื่อบันทึกความทรงจำของตัวเอง หลายท่านคงจำได้ช่วงปี 2547 เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญหลายครั้งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการเสียชีวิตของประชาชนเกือบ 3,000 คน ช่วงสงครามยาเสพติด เหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งกรือเซะ ตากใบ รวมถึงการหายตัวไปของประชาชนจำนวนหนึ่งที่วันนี้ยังไม่มีใครทราบที่อยู่และชะตากรรม ขณะที่ทุกกรณีผู้กระทำผิดยังคงลอยนวลและไม่เคยถูกลงโทษ

นางอังคณากล่าวว่า สำหรับการลักพาตัว สมชาย นีละไพจิตร ใครจะเชื่อว่าแม้การลักพาตัวจะเกิดขึ้นริมถนนใหญ่ เยื้องกับสถานีตำรวจ ในช่วงที่การจราจรติดขัด มีผู้คนผ่านไปมามากมาย แต่จนวันนี้รัฐบาลไทยกลับไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

นางอังคณากล่าวอีกว่า คนที่ไม่เคยได้รับความอยุติธรรมจากรัฐ และกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน คงไม่มีวันเข้าใจ คำว่า “ไม่มีความเลวร้ายใดจะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำในนามของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม (Montesquieu)” จริงอยู่ คดีการสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นของการบังคับสูญหายคดีแรกที่ถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมจนถึงชั้นฎีกา ซึ่งต้องขอบคุณ คุณทักษิณ ที่แสดงความรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นที่มีคำสั่งให้หาตัวผู้กระทำผิดให้ได้ เราจึงได้เห็นภาพตำรวจ 5 นายถูกจับและถูกจองจำในคุกก่อนที่จะได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา

นางอังคณากล่าวว่า แต่สุดท้ายแม้แนวทางการสอบสวนเป็นไปในทางเดียวว่าผู้อุ้มฆ่าสมชาย นีละไพจิตร คือตำรวจ แต่ท้ายที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากศาลเห็นว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ รวมถึงศาลยังได้ตัดสิทธิครอบครัวในการเป็นผู้เสียหายในคดี ด้วยความเคารพต่อศาลฎีกา แต่ดิฉันมิอาจเห็นด้วยกับศาล

“หลังคำพิพากษาศาลฎีกาในปลายปี 58 เมื่อเดือนตุลาคม 2559 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีหนังสือถึงครอบครัวสมชาย นีละไพจิตร แจ้งว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้งดการสอบสวนคดีสมชาย เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าใครทำให้สมชายเสียชีวิต อย่างไรก็ดี กรมสอบสวนคดีพิเศษก็พยายามบอกดิฉัน บอกสังคม และองค์กรระหว่างประเทศว่า คำว่า ‘งดการสอบสวน’ ไม่ได้หมายถึงการยุติการสอบสวน ความหมายของคำว่า ‘งดการสอบสวน’ คือ ‘ยังคงสอบสวนอยู่’ ซึ่งหากปรากฏพยานหลักฐานก็จะดำเนินการฟ้องร้องคดี

“ประสบการณ์ 17 ปีในการตามหาคนหายทำให้ทราบว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการคลี่คลายคดี คือ เจตจำนงทางการเมือง (political will) ของรัฐบาล ซึ่งถ้าพูดกันตามจริง รัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์มีเจตจำนงทางการเมืองเรื่องบังคับสูญหายมากกว่ารัฐบาลอื่นๆ ทั้งการแสดงความเสียใจ รวมถึงการริเริ่มในการลงนามอนุสัญญาคนหายของสหประชาชาติ (9 มกราคม 2555) การตั้งกรรมการร่าง พ.ร.บ.การทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย (ที่วันนี้ยังไม่ผ่านสภาฯ) รวมถึงการเยียวยาผู้สูญหายที่เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐใน จชต.

“ขณะที่รัฐบาลประยุทธ์ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย แต่ดูเหมือนคณะกรรมการชุดนี้มุ่งเน้นความพยายามในการลบชื่อผู้สูญหายในประเทศไทยออกจากรายชื่อของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN WGEID) มากกว่าการเปิดเผยที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย นำคนผิดมาลงโทษ และชดใช้เยียวยาเหยื่อและครอบครัว จึงไม่แปลกใจที่เราไม่เคยได้ยินนายกฯประยุทธ์เอ่ยชื่อผู้สูญหายในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้สูญหาย 8 คนที่สูญหายในช่วงรัฐบาลประยุทธ์

“โดยทั้ง 8 ได้สูญหายภายหลังลี้ภัยไปพักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ สยาม ธีรวุฒิ จนล่าสุดวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้นรัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับการคลี่คลายคดีการฆาตกรรมโหดเหี้ยมของสหายกาสะลอง และสหายภูชนะ เพื่อนของสุรชัยที่ปัจจุบันพนักงานสอบสวนได้งดการสอบสวนไปแล้ว” นางอังคณากล่าว

นางอังคณากล่าวอีกว่า การยุติอุ้มฆ่าโดยรัฐ จึงมีความจำเป็นที่รัฐต้องแสดงเจตจำนงที่แน่วแน่ชัดเจนในการสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหาย และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหาย กรณีสมชายและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่เฉพาะผู้นำรัฐบาล หากแต่เบื้องหลังรัฐบาลมีระบบโครงสร้างสถาบันองค์กรที่แฝงตัวหยั่งรากลึก อยู่เบื้องหลัง และควบคุมสังคมไทย ดังที่นักวิชาการหลายคนใช้คำว่า “รัฐพันลึก” คือรัฐซ้อนรัฐที่เป็นอิสระ มีอำนาจ มีอาวุธ และสามารถขัดขวาง นโยบายหรือคำสั่งของรัฐบาลปกติได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิด

“สำหรับดิฉัน การอุ้มหายไม่ใช่เพียงการพรากใครบางคนไปตลอดกาล แต่การอุ้มหายทำให้คนที่มีชีวิตอยู่เหมือนตายทั้งเป็น สิ่งที่ทุกครอบครัวต้องการคือ ‘ความจริง’ แม่ๆ หลายคนพูดว่า ‘เขาเอาลูกเราไปแบบมีชีวิต เราก็อยากได้ลูกคืนแบบมีชีวิต หรืออย่างน้อย คืนศพให้เราก็ยังดี’ ผู้หญิงต่างหวังที่จะเจอลูกๆ และสามีที่ยังมีชีวิต แต่ถ้าพระเจ้าไม่ประสงค์ พวกเธอก็คงทำอะไรไม่ได้ สำหรับครอบครัวคนหายแล้วพวกเราเหมือนถูกพันธนาการด้วยอดีตที่เจ็บปวด และมองไม่เห็นอนาคต

“กรณีการบังคับสูญหายที่ผ่านมาทำให้เกิดคำถามขึ้นมากมายว่า ทำไมคนที่เห็นต่างจากรัฐจึงต้องถูกปิดปาก ถูกทำให้เงียบเสียงโดยการทำให้หายไป แล้วทำไมเราจึงเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เลย ทำไมกฎหมายจึงคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าจะคุ้มครองประชาชน ทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล … อย่างไรก็ดี คำพูดและแววตาที่เย้ยหยันของบรรดาอาชญากร ก็ยังเทียบไม่ได้กับความเงียบของสังคม

“ประสบการณ์ 17 ปีการเรียกร้องความเป็นธรรม แม้จะพ่ายแพ้และเจ็บปวด แต่สำหรับดิฉันแล้วไม่ว่าที่สุดเรื่องราวการบังคับสูญหายทนายสมชาย นีละไพจิตร จะจบลงเช่นไร ดิฉันเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งความจริงจะถูกเปิดเผย ผู้กระทำผิดจะไม่มีที่หลบซ่อนตัว และความยุติธรรมจะกลับคืนมา แต่สำหรับตัวเองแล้ว คงกล่าวได้เพียงว่า ชีวิตที่ผ่านมาดิฉันได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้วในฐานะครอบครัว และเพื่อนร่วมสังคม ด้วยความหวังและมิตรภาพ” นางอังคณากล่าว

นอกจากนี้ นางอังคณา วันนี้ ได้เดินทางไปยังสำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ พร้อมกับทีมงานจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยนางอังคณาได้โพสต์ระบุว่า

#17YearsSomchaiNeelapaijitDisappearance #Impunity #วางดอกไม้ไว้ข้างทาง #onthewayside

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษบอก แฟ้มสมชายอยู่บนโต๊ะผม ผมให้ความสนใจมาก ไม่เคยส่งใครไปพบญาติโน้มน้าวให้ถอนเรื่องร้องเรียนจาก UN

อคณ: #การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องไม่มีอายุความ รัฐมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหาย รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้

ขอบคุณญาติคนหายทุกคน ขอบคุณ Amnesty International, Protection International นักข่าวที่ติดตามเรื่องราวบังคับสูญหายมาโดยตลอด ขอบคุณ Protection International อีกครั้งสำหรับภาพวันนี้ค่ะ