พม่าออกกฎจำกัดถอนเงินสดฉบับใหม่เริ่มวันนี้ โหมข่าวลือเงินขาดแคลนหลังรัฐประหาร

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานสถานการณ์ภายในพม่าท่ามกลางการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารและรัฐบาลเผด็จการทหารโดยประชาชนชาวพม่าทั่วประเทศ แม้จะมีความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บแล้ว แต่การประท้วงกลับยิ่งขยายตัวและเป็นเอกภาพมากขึ้น หลังการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ล่าสุดผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ที่ทำให้ประชาชนต่างออกมาถอนเงินสดออกจากธนาคาร ทำให้วันนี้ชาวพม่าในนครย่างกุ้งต้องกังวลขณะยืนรอต่อคิวกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม เมื่อมีการประกาศกฎจำกัดการถอนเงินสดรายวันฉบับใหม่ ยิ่งโหมกระพือกระแสข่าวลือว่าพม่ากำลังขาดแคลนเงินสด

โดยมยาวดีแบงก์ หนึ่งในธุรกิจภาคธนาคารในกำกับของตั๊ดมะดอว์ เผชิญกับแรงกดดันเพื่อคว่ำบาตรนับตั้งแต่นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นำทหารก่อการรัฐประหารโค่นรัฐบาลพลเรือน และเกิดการประท้วงทั่วประเทศซึ่งมีภาคธุรกิจหลายส่วนรวมถึงพนักงานธนาคาร ต่างผละจากงานลงท้องถนนประท้วง

ขณะที่ ธนาคารเอกชนหลายแห่งในนครย่างกุ้ง ส่วนใหญ่ปิดบริการ ส่วนธนาคารของรัฐเปิดให้บริการเพียงบางส่วน ทำให้ปรากฎภาพผู้คนต่อคิวกดเงินสดจากตู้ แต่ประกาศดังกล่าวไม่ได้ความชัดเจนมากนักกับผู้ที่ต้องการเงินสด

รายงานระบุว่า ความไม่แน่นอนนี้ ได้กลายเป็นการโหมกระพือถึงข่าวลือที่ว่าเงินสดเข้าสู่ภาวะขาดแคลน โดย ตุน เนียง นักธุรกิจวัย 43 ปี ซึ่งยืนต่อคิวกดเงินสดแบบรายวันเพื่อถอนเงินจำนวน 6 ล้านจ๊าต กล่าวว่า เพราะข่าวลือเกี่ยวกับธนาคารนี้ ตนจึงออกมาถอนเงิน

แม้เป็นธนาคารใหญ่อันดับ 6 ของพม่า แต่ธนาคารมยาวดี ได้ประกาศอนุญาตให้ลูกค้าแค่สาขาละ 200 คนทำการถอนเงินสดแบบจำกัดได้คนละ 5 แสนจ๊าตต่อวัน

ส่วน มิน มิน อดีตครูวัย 64 ยืนต่อคิวกดเงินสดทุกวันมาเป็นสัปดาห์แต่ก็ไม่สามารถถอนเงินได้

“ผมแทบจะท้อเลย” อดีตครูวัยเกษียณ กล่าวและว่า พวกเขาควรประกาศออกมา (ผ่านสื่อทางการพม่า) ว่าเงินของพวกเราสามารถถอนได้ แม้ตัวเองจะมีเงินฝากไม่มากนัก แต่ข่าวลือนี้เองก็ทำให้ตนกังวลใจ

นอกจากนี้ ทเวย์ ทเวย์ เต่ง ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจต่างประเทศชาวพม่าของมหาวิทยาลัยเคอร์ทินในออสเตรเลีย กล่าวว่า ภาวะเสี่ยงเงินสดขาดแคลนที่สูงในขณะนี้ กรอบเวลาจึงเป็นเรื่องคาดเดาได้ยาก ในอดีตช่วงรัฐบาลเผด็จการทหาร พวกเขารู้แค่พิมพ์ธนบัตรเพิ่มเข้าระบบ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เงินเฟ้อพุ่งทะยาน

ทั้งนี้ Fitch สถาบันจัดอันดับเครดิตระหว่างประเทศ ได้ทบทวนแนวโน้มการเจริญเติบโตของพม่าใหม่อีกครั้งโดยคาดว่าในปี 2021 จะร่วงลงจาก 5.6% มาอยู่ที่ 2% ในวันที่มีการทำรัฐประหาร โดยชี้ว่า ความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มขึ้น โดยกลุ่ม Justice for Myanmar กล่าวว่า การหยุดไหลของกระแสเงินสดจากต่างประเทศถือว่าเป็นสัญญาณเตือน

“หากธนาคารต่างชาติยังคงทำธุรกิจกับธนาคารเหล่านี้ภายใต้การควบคุมของทหารพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการสร้างระบอบทหาร” กลุ่มองค์กรสิทธิฯ กล่าว