‘ยุทธพงศ์’ แฉ ‘ณัฏฐพล’ ตั้งคนสนิทเคยขายนมนั่ง เลขา สกสค. คุณสมบัติไม่ได้ แต่ยังแอบแก้หลักเกณฑ์ให้

‘ยุทธพงศ์’ แฉ ‘ณัฏฐพล’ ตั้งคนสนิทนั่ง เลขา สกสค. อัดแค่คนขายนม คุณสมบัติไม่ได้ แต่ยังแอบแก้หลักเกณฑ์ให้

เมื่อเวลา 18.50 น. วันที่ 18 ก.พ. 2564 ที่รัฐสภา นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขออภิปรายไม่วางใจนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ที่ไร้ภาวะผู้นำ ไร้สำนึก ในการประชุมมอบนโยบายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการแต่งชุดข้าราชการ แต่ครูตั้นใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ นึกว่าอยู่เวที กปปส. นอกจากนี้ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต ไร้ประสิทธิภาพ ไร้สำนึก ขาดวุฒิภาวะ ไร้ธรรมาภิบาลในการแต่งตั้งข้าราชการ

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า การแบ่งงานในกระทรวง ท่านดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานปลัดศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ทั้งนี้ สกสค.มีเงินฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อนครูเป็นหมื่นล้าน เป็นที่มาของผลประโยชน์

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน สกสค. มีคณะกรรมการ 9 คน โดยมีนายธนพร สมศรี เลขา สกสค.หรืออ๋อ รวมอยู่ด้วย เส้นทางของนายธนพรได้รับแต่งตั้งข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.62 เมื่อไปดูข้อมูลพบว่าชื่อเดิมคือนายเอกพร อายุ 42 ปี จบ ป.ตรี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช คณะเกษตรศาสตร์บัณฑิต เคยเป็นพนักงานขายนม บ.นมหมอ ที่ จ.อุบลราชธานี และเจ๊งปิดกิจการไปแล้ว ซึ่งนายธนพรเป็นเลขาครูตั้นมาตั้งแต่ปี 54 สมัยทำทีมฟุตบอลมาด้วยกัน

นายยุทธพงศ์ อภิปรายต่อว่า ต่อมามีประกาศสำนักนายกฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์ลงนามเมื่อ 30 ส.ค.62 ให้นายธนพรมาเป็นข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกฯ หลังจากนั้นครูตั้นวางแผนแต่งตัวเด็กขายนมมาเป็นเลขา สกสค. โดยให้นายประเสริฐ บุญเรือง รักษาการปลัดกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้น ตั้งนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เป็นเลขา สกสค. เมื่อ 22 ต.ค.62 โดยครูตั้นออกคำสั่งให้นายอรรถพล ตรึกตรอง ออก เพื่อให้นายดิศกุลเข้ามาแทน แล้วไปแก้คุณสมบัติเลขา สกสค.จากจบ ป.โท เป็น ป.ตรี ในวันที่ 13 พ.ย.62 แก้วุฒิแล้วยังไม่พอ ยังแก้ให้ประกอบอาชีพภาคเอกชนไม่น้อยกว่า 12 ปีได้ ทั้งๆ ที่นายธนพรเพิ่งเรียนจบเมื่อปี 48 และเป็นผู้จัดการขายนม

“ต่อมา 20 พ.ย.62 นายกฯ เซ็นให้นายธนพรออก จากนั้นนายดิศกุลก็เซ็นตั้งนายธนพรมาเป็นรองเลขา สกสค. ในวันเดียวกันนายดิศกุลมอบงานให้นายธนพรคุมงานใหญ่ในหลายสำนัก วันต่อมาครูตั้นไปเยี่ยมนายธนพรเลย แสดงว่าต้องสนิทกันมาก ขอให้ครูชุดดำและนักเรียนเลวรู้ว่านายธนพรมีวันนี้เพราะครูตั้นให้”

นายยุทธพงศ์ อภิปรายอีกว่า ต่อมา 13 ก.ค.63 มีการออกเกณฑ์ใหม่สรรหาเลขา สกสค.และเลขาคุรุสภา โดยให้นายประเสริฐออกหลักเกณฑ์ใหม่ จากนั้นครูตั้นเซ็นประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งต้องไปออกในราชกิจจานุเบกษา แต่ไม่มีการนำหลักเกณฑ์การตั้งเลขา สกสค.ไปออกในราชกิจจานุเบกษา มีแค่ประกาศเฉพาะ จึงไม่มีผลในทางกฎหมาย ต่อมามีประกาศ 21 ส.ค.63 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับคัดเลือกเป็นเลขา สกสค. ซึ่งนายกฤตชัย อรุณรัตน์และนายธนพรซึ่งเป็นคู่ชิงขณะนั้น

“นายกฤตชัยคือว่ามีคุณสมบัติเหนือกว่านายธนพรทุกด้านแต่กลับไม่ได้เป็น และหลังการคัดเลือกวันที่ 1 ก.ย.63 ซึ่งตรงกับการประชุม ครม.วันนั้นครูตั้นเซ็นตั้งนายธนพรเป็นเลขา สกสค.ทันที ไม่รู้ว่าทำไมรีบร้อน พอ 2 ก.ย.63 ครูตั้นเรียกนายธนพรมาเซ็นสัญญาเป็นเลขา สกสค.ทันที และนายประเสริฐให้นายดิศกุลลาออกจากราชการในตำแหน่งเลขา กศน. ในวันที่ 1 ก.ย.63 และครูตั้นเซ็นในวันที่ 2 ก.ย.63 ให้นายดิศกุลไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภาเพื่อตอบแทน ซึ่งเส้นทาง 1 ปี 4 วันครูตั้นสามารถบันดาลให้นายธนพรมาเป็นเลขา สกสค.ได้”

นายยุทธพงศ์ อภิปรายต่อว่า เรื่องที่ส่อทุจริตเอาพวกพ้องมาแสวงหาผลประโยชน์ คือเมื่อวันที่ 18 พ.ย.62 นายดิษกุลรักษาการ สกสค.และคุมองค์การค้าคุรุสภาด้วย ไปกู้เงินกับ สกสค. 687 ล้านบาท โดยองค์การค้าฯ มายืมเงิน สกสค.เป็นค่าจ้างพิมพ์หนังสือ แต่ตอนจ่ายเช็ก สกสค.จ่ายให้กับ หจก.วรรณชาติเพรส 232 ล้านบาท ตนสงสัยว่าทำไมไม่ไปรับเช็กที่โรงพิมพ์ แต่ต้องมารับเช็กที่ สกสค.หรือว่าเช็กมีเงินทอน หรือต้องหิ้วอะไรมาแลกเช็ก