ศึกซักฟอก : “วิโรจน์” ลากขยี้ “ประยุทธ์-อนุทิน” บริหารวัคซีนโควิดผิดพลาด แย้มหลักฐานเด็ดปม ‘แทงม้าตัวเดียว’

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี โดยเน้นไปที่ประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนที่ผิดพลาด เอาประชาชนไปกระจุกเสี่ยงจากวัคซีนแหล่งเดียว ไม่สนใจคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ ขาดความโปร่งใส ขัดขวางกลไกการตรวจสอบ ทั้งที่เงินทุกบาทที่ซื้อวัคซีนล้วนเป็นเงินภาษีที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของประชาชน  ย้ำการฉีดวัคซีนล่าช้าจะส่งผลให้ปัญหาปากท้องลากยาวไม่จบสิ้น ประชาชนทุกข์ยากแสนสาหัส คนตกงาน สูญเสียอาชีพ รายได้ฝืดเคือง และทำมาหากินด้วยความยากลำบาก

วัคซีนล่าช้าเป็นเดือน เศรษฐกิจสูญ 2.5 แสนล้าน

นายวิโรจน์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน รู้อยู่ตลอดเพราะรัฐบาลนี้เป็นคนคาดการณ์ว่าหากฉีดวัคซีนล่าช้า 1 เดือน ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเท่ากับ 2.5 แสนล้านบาท ดังนั้นทุกวันที่ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศ ประเทศชาติจะเสียหายเป็นมูลค่า 8,300 ล้านบาท คิดเป็นชั่วโมง ชั่วโมงละ 347 ล้าน  จนถึงวันนี้ช้าไปมากแล้วจึงเป็นความผิดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของการป้องกันโรค แต่ความสำคัญของมันก็คือ การกอบกู้เศรษฐกิจ และเยียวยาปัญหาปากท้องของคนไทยทั้งประเทศ จึงไม่แปลกใจที่เห็นประเทศอื่นเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของเขา ประเทศในอาเซียนก็เริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว อาทิ อินโดนีเซีย เริ่มฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 64 เมียนมาร์ และลาว เริ่มฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 27 ม.ค.64 กัมพูชา เริ่มฉีดไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 64 หรือตัวอย่างในกรณีของประเทศอิสราเอล ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 63 และฉีดได้ถึง 1 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 9 ล้านคน ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน จนได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วที่สุดในโลก และประเมินกันว่าเศรษฐกิจของอิสราเอลจะฟื้นตัวทันทีในไตรมาสที่ 2 และจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตถึง 7% เลยทีเดียว

“แต่พอมาดูแผนการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่ถอนหายใจ น้อยใจในความซวยที่ต้องมาเกิดร่วมอากาศหายใจกับคนๆ นี้ จากการนำเสนอของกรมควบคุมโรค ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 ได้กำหนดแผนการจัดหาวัคซีนเอาไว้ 65 ล้านโดส ภายใน 3 ปี ฟังไม่ผิดหรอกครับ ‘3 ปี’ นี่คือแผนเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์ วางเอาไว้ ให้กับประชาชนคนไทย งามไส้ไหมครับ ตามแผนเดิม ปี 64 จะฉีดให้กับประชาชนแค่ 11 ล้านคน ปี 65 ฉีดอีก 11 ล้านคน และปี 66 ฉีดอีก 10 ล้านคน นี่แสดงว่าความตั้งใจเดิมของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นวางแผนการฉีดวัคซีนได้ล่าช้ามากๆ กว่าจะครอบคลุมประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือ 32.5 ล้านคน นี่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปี แล้วอย่างนี้จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ คืนปากท้อง และการดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงกับปกติให้กับประชาชนได้อย่างไร เรื่องสำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัว เป็นความอยู่รอดของประชาชนทั้งประเทศ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ ผอ.ศบค. กลับทำงานหวานเย็น เช้าช้อนเย็นช้อน แถมยังเป็นช้อนกาแฟ ประชาชนจะเป็นจะตาย ไม่คิดจะสนใจ คนแบบนี้ เราจะปล่อยให้ลอยหน้าลอยตาเป็นนายกฯ ต่อไปได้ยังไง จากแผนหวานเย็นเดิม ที่รัฐบาลนี้วางแผนที่จะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนร้อยละ 50 ณ สิ้นปี 66 เพิ่งจะเร่งขึ้นมาเป็นสิ้นปี 64 ในวันที่ 5 ม.ค. 64 นี้เอง ถ้าประชาชนไม่ด่า ถ้าไม่เห็นว่าประเทศอื่นเขาเร่งฉีดกัน และถ้าเรื่องการค้าแรงงานต่างชาติ และเรื่องบ่อนไม่แดงขึ้นมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงจะไม่ปรับแผนอะไร แต่ต่อให้มีการปรับแผน ผมก็ต้องตั้งคำถามให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบอยู่ดีว่า มาปรับแผนแบบปุ๊บปั๊บแบบนี้ จะหาวัคซีนมาได้อย่างไร ” นายวิโรจน์ กล่าว

แผนฉีดวัคซีนกลับกลอก สุดท้ายราคาคุย

นายวิโรจน์ ได้อภิปรายต่อไปว่า ต่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน จะมีการปรับแผนการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ทุกอย่าง ในทางปฏิบัติก็ยังล่าช้าอยู่ดี เพราะจากการนำเสนอของกรมควบคุมโรค เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในการให้วัคซีนโควิด-19 ต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้มีการระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข ที่มีนายอนุทินเป็นรัฐมนตรี จะมีการแบ่งฉีดวัคซีนออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 จะฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ประชาชนที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 19 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีนถึง 38 ล้านโดสแต่ประชาชนไทย ยังคงต้องรอวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่จะผลิตเองในไทย ทั้งที่สั่งไป 26 ล้านโดส และที่สั่งเพิ่มไปอีก 35 ล้านโดส โดยมีแผนที่จะทยอยส่งมอบได้ในเดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นเพียงแค่แผน เพราะในสถานการณ์จริงอาจส่งมอบไม่ได้

“ผมสงสัยว่านายอนุทิน คงจะรู้ตัวดีว่าตกเลข เพราะวันที่ 4 ก.พ. 64 บอกว่าฉีดได้เดือนละ 5 ล้านโดส ตกวันละ 170,000 โดส นี่คนยังสงสัยนะครับว่าทำได้จริงหรือเปล่า อยู่ดีๆ วันที่ 8 ก.พ. ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ นายอนุทิน คนเดียวกัน มาบอกว่าจะฉีดได้เดือนละ 10 ล้านโดส แค่ผ่านมา 4 วัน ศักยภาพในการฉีดเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็นวันละ 340,000 โดส เรื่องแบบนี้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มาพูดเพิ่มตัวเลขกันดื้อๆ ได้นะครับ ผมต้องถามนายอนุทินว่า นายอนุทิน ได้เตรียมระบบการแจกจ่ายวัคซีน เตรียมสถานที่ฉีดวัคซีน เตรียมบุคลากรเจ้าหน้าที่ผู้ฉีดวัคซีน เตรียมเข็มฉีดยา เตรียมระบบการลงทะเบียน และระบบการติดตามผล ไว้พร้อมหรือยัง ชี้แจงมา ผมยืนยันว่า ที่ผ่านมา นายอนุทินคนนี้ เป็นคนกลับกลอกเชื่อไม่ได้อยู่แล้ว ต้องถาม พล.อ.ประยุทธ์ ว่ากล้าเชื่อที่นายอนุทินพ่นว่า จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเดือนละ 10 ล้านโดส หรือเปล่า ประชาชนเขาอยากรู้ใจจะขาดแล้วว่า เมื่อไหร่เขาจะสามารถกลับมาทำมาหากินได้เหมือนเดิม เขาจะได้มีเงินไปใช้หนี้ที่สุมท่วมหัวเสียที ถ้าเชื่อนายอนุทิน ก็ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้คำมั่นกลางสภาเลย ถ้าทำไม่ได้จะได้ลาออกไปด้วยกันทั้งคู่ ทั้งหัวหน้า และลูกสมุน” นายวิโรจน์ ระบุ

ขยี้ปมซื้อ ‘ซิโนแวค’ แต่มองข้าม ‘ซิโนฟาร์ม’ โยงทุนใหญ่

นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึงกรณีการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาลด้วยว่า เมื่อรัฐบาลเลือกที่จะเอาเงินภาษี 1,228 ล้านบาท ไปซื้อวัคซีนจากจีน มาแก้ขัดแล้วเหตุใดถึงไม่ตัดสินใจซื้อวัคซีนจาก Sinopharm ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน และได้รับการขึ้นทะเบียนสำหรับใช้งานทั่วไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 63 และมีผลการทดสอบเฟส 3 ในคน สูงถึง 79.34% และมีผลการทดสอบที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต มีประสิทธิภาพสูงถึง 86% และเป็นวัคซีนหลักที่ประเทศจีนใช้ฉีดให้กับประชาชน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเลือกซื้อวัคซีน Sinovac ที่ปรากฏเป็นข่าวว่า มีนายทุนรายหนึ่งเข้าไปลงทุนด้วยเม็ดเงิน 1.54 หมื่นล้านบาท เพื่อถือหุ้น 15% ซึ่ง ณ ขณะที่มีมติ ครม. ให้ซื้อวัคซีน Sinovac ในวันที่ 5 ม.ค. 64 วัคซีน Sinovac ยังไม่ได้มีผลการทดสอบในเฟส 3 แต่อย่างใด

ชี้ข้ออ้างไม่เข้าร่วม COVAX ฟังไม่ขึ้น มีแต่คำลวง 

นายวิโรจน์ อภิปรายด้วยว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของรัฐบาลนี้คือการจัดหาวัคซีนจาก COVAX โดยประเทศไทยได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมกับ COVAX ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 63 กว่าที่จะมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำข้อตกลงและเจรจาเพื่อจัดหาวัคซีนโควิด-19 กับ COVAX และทวิภาคี ก็ต้องรอจนถึงวันที่ 23 ก.ย.63 และหลังจากนั้น ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรเลย จนกระทั่งวันที่ 5 ต.ค. 63 จากรายงานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2563 ซึ่งมีนายอนุทินเป็นประธานในที่ประชุม ก็ได้ปรากฎข้อความที่แสดงถึงความกังวลเอาไว้ว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องของระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการร่วมกับ COVAX ซึ่งไทยขอเลื่อนทำความตกลงมา 2 เดือนแล้ว สถาบันฯ ควรพิจารณาระยะเวลาการดำเนินการต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการได้มาซึ่งวัคซีน ซึ่งวันนั้นนายอนุทินเป็นประธานในที่ประชุม จะอ้างว่าไม่รู้เรื่องไม่ได้ เว้นแต่ว่ามาเซ็นชื่อเอาเบี้ยประชุม แล้วหนีกลับบ้าน

นอกจากนี้ นายวิโรจน์ กล่าวว่า การที่นายอนุทินออกมาอ้างว่าที่ประเทศไทยไม่เข้าร่วม COVAX เป็นเพราะประเทศไทยเป็นประเทศฐานะปานกลาง คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วเหตุใดประเทศมาเลเซีย ที่มีรายต่อต่อประชากรสูงกว่าประเทศไทย ถึงตัดสินใจเข้าร่วม COVAX ประเทศที่ร่ำรวยอย่างแคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ ประเทศในสหภาพยุโรปเกือบทั้งหมด แม้แต่จีนก็ยังเข้าร่วม ขนาดสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ยังตัดสินใจเข้าร่วม อะไรทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ใจกล้าขนาด ที่จะไม่ให้ประเทศไทยเข้าร่วม COVAX ยังไงก็จะพาคนไทย ไปกระจุกความเสี่ยง รอการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกา จากบริษัทเอกชน ที่ไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน

“ผมอยากให้นายอนุทิน เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของ องค์การอนามัยโลก เขาเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “COVAX เป็นโครงการจัดหาวัคซีนระดับโลก ที่มุ่งทำให้ทุกๆ ประเทศเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็ว และเท่าเทียมกัน โดยไม่จำกัดระดับรายได้ของประเทศ” ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วม COVAX ไปแล้วถึง 172 ประเทศ โดยมีประเทศในอาเซียนเข้าร่วมถึง 9 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน กัมพูชา พม่า ลาว อินโดนีเซีย ประเทศในอาเซียน ที่ไม่เข้าร่วมกับ COVAX มีอยู่ประเทศเดียว นั่นก็คือ ประเทศไทย ประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ชื่อว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล” นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ข้ออ้างที่ออกมาบอกกันว่าหากประเทศไทยจะเข้าร่วม COVAX จะต้องนำเงินไปจ่ายล่วงหน้า ถ้าวัคซีนไม่สำเร็จก็จะไม่ได้เงินคืน จึงเกิดคำถามว่า เหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ ถึงได้กล้าอนุมัติให้นำเอาเงิน 2,379 ล้านบาท ไปจองวัคซีนล่วงหน้ากับแอสตราเซเนกา เงื่อนไขก็เหมือนกันคือ ถ้าวัคซีนไม่สำเร็จก็จะไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งในเวลานั้น แอสตราเซเนกา ยังไม่ทราบผลการทดลองของวัคซีนในเฟส 3 เลยด้วยซ้ำ กว่าแอสตราเซเนกาจะประกาศความสำเร็จในการทดลองในเฟส 3 ก็ต้องรออีก 6 วัน ซึ่งก็คือวันที่ 23 พ.ย. 63 และข้ออ้างที่นายอนุทินอ้างว่าหากจองวัคซีนกับ COVAX แล้ว จะเลือกวัคซีนไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วเพราะ COVAX จะมีหน้าที่ในการกระจายความเสี่ยงวัคซีนที่จะส่งมอบให้มาหลายๆ ยี่ห้อ และในกรณีที่ต้องการที่จะเลือกวัคซีน ก็สามารถเลือกได้ ซ้ำร้ายแถลงการณ์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาหลอกลวงประชาชนโดยบอกว่าเงินจองซื้อวัคซีนกับ COVAX แบบเลือกผู้ผลิตไม่ได้ 1.6 เหรียญสหรัฐต่อโดส นั้นเป็นค่าธรรมเนียมกินเปล่า ทั้งๆ ที่ทาง COVAX ประกาศชัดว่า 1.6 เหรียญสหรัฐต่อโดส นั้นเป็นเงินจ่ายล่วงหน้าหรือ Upfront Payment ซึ่งแปลว่าเงินจ่ายล่วงหน้า หมายความว่าถ้าวัคซีนของจริงมาแพงกว่า ก็จ่ายส่วนต่างเพิ่มเติม และถ้าจะจองแบบเลือกวัคซีนได้ ก็จ่ายล่วงหน้าแพงสักหน่อยคือ 3.1 เหรียญสหรัฐต่อโดส ที่เสียเปล่ามีแต่ค่าประกันความเสี่ยงในกรณีนี้แค่ 0.4 เหรียญสหรัฐต่อโดสเท่านั้น

“นายอนุทินอย่ามาอ้างว่า COVAX จะส่งมอบวัคซีนล่าช้า เพราะองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศเอาไว้ที่หน้าเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 64 ว่าได้เตรียมส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกา ประมาณ 150 ล้านโดส ประเทศในอาเซียนต่างได้รับการแจกจ่ายวัคซีนจาก COVAX กันถ้วนหน้า ผมอยากบอกให้นายอนุทินเข้าไปที่เว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกบ้าง COVAX เขามีประมาณการเอาไว้อย่างชัดเจน ช้าตรงไหนไม่ทราบ โดย บรูไน 100,800 โดส ,มาเลเซีย 1,624,800 โดส ,สิงคโปร์ 288,000 โดส ,กัมพูชา 1,296,000 โดส ,อินโดนีเซีย 13,708,800 โดส ,ลาว 564,000 โดส ,เมียนมา 4,224,000 โดส ,ฟิลิปปินส์ 5,617,800 โดส ,เวียดนาม 4,886,400 โดส ส่วนประเทศไทย “ศูนย์ครับ” เพราะนายอนุทิน และพล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจไม่เข้าร่วม COVAX กะจะพาประชาชนไปกระจุกความเสี่ยงที่วัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชน ที่เพิ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และน่าจะไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน” นายวิโรจน์ ระบุ

นายวิโรจน์ ยังอภิปรายย้ำด้วยว่า เจตนาของตนเองไม่ใช่ต้องการให้ประเทศไทยไปพึ่งพา COVAX ทั้งหมด แต่การที่ปฏิเสธ COVAX ไปเลย ทั้งๆ ที่มีถึง 172 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมกัน แต่รัฐบาลกลับเอาประชาชนทั้งประเทศไปเดิมพันกับวัคซีนแอสตราเซเนกา จะเอาแต่แอสตราเซเนกาเจ้าเดียว แถมเป็นแอสตราเซเนกา Made in Thailand ที่ผลิตโดยบริษัทเอกชน ที่เพิ่งรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมา และน่าจะไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อนเสียด้วย เป็นการกระทำที่เสี่ยงมากๆ

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ไม่ควรอ้างว่าถ้ากระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน รัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณมาก เพราะกองทัพบกยังคงยืนยัน ว่าจะยังคงจัดซื้ออาวุธในปีงบประมาณหน้าเป็นเงินสูงถึง 6,152 ล้านบาท จึงเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็น ผอ.ศบค. ชวน พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ชวน พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไปเจรจาตัดงบประมาณจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงกล่าวได้ว่า งบประมาณมีแต่ไม่ยอมนำมาใช้กระจายความเสี่ยงทางด้านวัคซีนให้กับประชาชน

หลายประเทศไม่ยอมให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีน AstraZeneca – เผย หมอและผู้เชี่ยวชาญ แนะฉีดให้คนอายุ 29-40 ก่อน แต่รัฐบาลไทยดึงดันจะฉีดวัคซีน AstraZeneca ให้ผู้สูงอายุก่อน

นายวิโรจน์ ระบุ รัฐบาลยังให้ประชาชนที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา อยู่หรือไม่ เพราะที่ประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และสวีเดน ประกาศไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกากับผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และโปแลนด์กำหนดไว้ที่อายุ 60 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า วัคซีนแอสตราเซเนกามีจำนวนผลการทดสอบวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มากพอ โดยพบว่ามีข้อมูลการทดสอบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี แค่ 12% เท่านั้น และมีการนำเอาผลการทดสอบในกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่มีวิธีการฉีดวัคซีนต่างกัน มาประมวลผลรวมกัน ถึงขนาดที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ประเทศเยอรมนี มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเยอรมนี ไม่อนุญาตให้ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา กับผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และประเทศอื่นในยุโรป อาทิ เดนมาร์ก เบลเยียม และเนเธอแลนด์ ต่างก็ทยอยกันออกมาประกาศจำกัดการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยประเทศไทย มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป ถึง 11.82% หรือจำนวน 7.87 ล้านคน ซึ่งต้องใช้วัคซีนถึง 15.74 ล้านโดส

“ถ้าไม่เอาแอสตราเซเนกา จะไปเอาวัคซีนอื่นที่ไหน Sinovac ก็มีแค่ 2 ล้านโดส COVAX ก็ไม่เข้าร่วม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จะบังคับให้ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ต้องฉีดแอสตราเซเนกาเท่านั้นใช่หรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว

นอกจากนี้ นายวิโรจน์ยังระบุด้วยว่า มีเรื่องที่ทางบุคลากรทางการแพทย์ฝากมาถาม นายอนุทินกลางสภา เนื่องจาก แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่ง ได้เคยเสนอแนะกับนายอนุทินไปแล้วว่า สถานการณ์ของประเทศไทย ที่มีการระบาดไม่รุนแรงนัก จาก SEIR Model แนะนำว่า ควรฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มคนอายุ 20-49 ปีก่อน เพราะคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สัญจรไปมา และจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีโอกาสที่จะเป็นผู้แพร่เชื้อ ที่สำคัญคนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่ต่ำกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุ โดยปกติแล้ว จะไม่ค่อยได้เดินทางไปไหน การติดเชื้อ ก็มักจะติดจากคนในวัยหนุ่มสาวในครอบครัว แต่เหตุใด นายอนุทิน และ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่เชื่อแพทย์ ไม่เชื่อผู้เชี่ยวชาญ กลับเอาความคิดของฝ่ายความมั่นคงที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้ มาชี้นำยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน และยืนกรานว่าจะให้ฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุก่อนให้ได้

สยามไบโอไซเอนซ์-แทงม้าตัวเดียว

นายวิโรจน์ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนล่าช้า มาจากการบริหารราชการที่บกพร่อง วางแผนผิดพลาด และการเอาชีวิตของประชาชนไปกระจุกความเสี่ยงไว้ที่วัคซีนเจ้าเดียว ของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน อย่างชัดเจน แทนที่นายอนุทิน จะสำนึกผิดออกมาขอโทษประชาชน กลับมาอ้างว่าที่ล่าช้า มาจากระบบกฎหมายไทย คือ จะโทษไปที่ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเอาตัวรอด

“สิ่งที่ประชาชนสงสัยกันนักหนา ก็คือ ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน หัวเด็ดตีนขาด ก็ต้องเอาชีวิต และปากท้องของประชาชนทั้งประเทศไป กระจุกความเสี่ยง และรอคอย วัคซีนแอสตราเซเนกา ที่จะผลิตโดยบริษัทเอกชน ที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ชื่อของ สยามไบโอไซเอนซ์ ได้เริ่มปรากฎขึ้น เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 63 ในที่ประชุม ศบค. ครั้งที่ 10/2563 ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค. ได้กล่าวถึงบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีน และสามารถรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เพื่อผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด Viral Vector ได้ และขอให้รัฐบาลพิจารณาสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม และขอให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแทนรัฐบาลในการเจรจาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ ศ.นพ.ปิยะสกล ได้เอ่ยถึงชื่อ สยามไบโอไซเอนซ์ ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 63 หรือในอีก 2 วันถัดมา และมีการพูดถึงตัวเลขงบประมาณ 600 ล้านบาท ที่จะถูกใช้เพื่อการพัฒนาศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีน ซึ่งนายอนุทิน ได้ยอมรับว่าเป็นงบที่ใช้ในการสนับสนุนในเรื่องวัคซีนจริง โดยมอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นผู้ดูแล” นายวิโรจน์ กล่าว

อีกทั้ง นายวิโรจน์ ยังเผยด้วยว่า จากการแถลงของ ศ.นพ.ปิยะสกล ที่ปรึกษา ศบค. ที่ขอให้กระทรวงการต่างประเทศไปเป็นตัวแทนรัฐบาลในการเจรจา เพื่อให้สยามไบโอไซเอนซ์ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยมีการพูดถึงงบประมาณในการสนับสนุน 600 ล้านบาท จึงเป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่า ศบค. ได้ตั้งธงไว้ตั้งแต่แรก ที่จะใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากภาษีของประชาชน ผลักดันให้ บริษัทเอกชน ที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 โดย โดยมีนายอนุทิน ร่วมรับรู้ด้วยและต่อมาในเดือน สิงหาคม งบประมาณ 600 ล้านบาท ก็ได้รับการอนุมัติเงินงบประมาณจากภาษีของประชาชน รวมทั้ง การตัดสินใจของรัฐบาล ในการนำเอาเงินภาษีของประชาชน ไปสนับสนุน หรือไม่สนับสนุน นั้นมีผลต่อการตัดสินใจเลือก สยามไบโอไซเอนซ์ ของ AstraZeneca ถ้ารัฐบาลไม่สนับสนุน ก็เป็นไปได้ที่ AstraZeneca จะไม่เลือก สยามไบโอไซเอนซ์ ดังนั้น คำชี้แจงที่ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน พูดมาโดยตลอดว่า AstraZeneca เลือก สยามไบโอไซเอนซ์ เอง โดยที่รัฐบาลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงเป็นการโกหกประชาชนทั้งสิ้น

“จากการแถลงของ พญ.สุชาดา เจียมศิริ ต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 63 ที่ระบุเอาไว้ว่า “ในการที่เขาบอกว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เรา เขาเหมือนกับว่าผูกมัดไว้ว่าคุณจะต้องซื้อวัคซีนจากเขาด้วย …” เขา คือ แอสตราเซเนกา “เรา” นี่ไม่ใช่รัฐบาลไทยนะครับ แต่เป็นบริษัทเอกชน ที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนประโยคที่บอกว่า คุณจะต้องซื้อวัคซีนจากเขาด้วย ก็คือ รัฐบาลต้องเอาเงินภาษีของประชาชนไปซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกา” นายวิโรจน์ เผย

นายวิโรจน์ ย้อนถาม นายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่า บริษัทเอกชน ที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ที่พึ่งจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector จะสามารถผลิตวัคซีน และส่งมอบตามจำนวนที่ได้วางแผนเอาไว้

“จากการประชุมคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 64 ผมช็อคมากๆ ที่ผู้แทนจากทาง อย. เภสัชกรหญิง กรภัทร ตรีสารศรี ได้แจ้งกับที่ประชุมกรรมาธิการการสาธารณสุขว่า ชุดตรวจโควิด RT-PCR ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ สยามไบโอไซเอนซ์ ร่วมกันผลิต อย. ได้ตรวจประเมินไปแล้วครั้งหนึ่ง แล้วพบว่า “ไม่ผ่าน” ทั้งๆ ที่ชุดตรวจโควิด RT-PCR เป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีการผลิตใช้กันมานานแล้ว และไม่ได้มีเทคโนโลยีการผลิตที่ซับซ้อนอะไร ขนาดร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการผลิต ก็ยังไม่ผ่าน อย.  แล้วถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ไปเอาอะไรมามั่นใจ ถึงกับเอาคนไทยทั้งประเทศ 67 ล้านคน ไปฝากความหวังไว้ที่บริษัทเอกชนรายเดียวกันนี้  ตกลง อย. นี่ย่อมาจาก อันตรายเยอะ หรือเปล่า”

นายวิโรจน์ ยังได้อภิปรายด้วยว่า งบประมาณ 600 ล้านบาท ที่วางแผนว่าจะเอาไปใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมวัคซีน ประชาชนเขาก็คิดว่า เงินส่วนใหญ่คงถูกเอาไปลงทุนในด้านเทคโนโลยี เครื่องจักร และบุคลากร แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า เงินลงทุนในครุภัณฑ์นั้นมีแค่ 80 ล้านบาท ค่าจ้างบุคลากร 12 ล้านบาท แต่ 430 ล้านบาท เป็นการนำไปซื้อสารเคมี สารชีวเคมี ตัวทำละลาย สารชีวภัณฑ์ และวัสดุสิ้นเปลือง ทั้งๆ ที่การซื้อวัตถุดิบในการผลิตเหล่านี้ ควรเป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นผู้ผลิต เหตุใดรัฐบาลต้องเอาเงินภาษี ไปซื้อวัตถุดิบให้กับบริษัทเอกชนด้วย และที่มีการชี้แจงมาว่า สยามไบโอไซเอนซ์ และ AstraZeneca จะขายวัคซีนให้กับประเทศไทย ด้วยนโยบายราคาที่ไม่กำไร หรือ No profit No Loss โดยข้อเท็จจริงคือ นโยบายที่ไม่ทำกำไร นั้นเป็นนโยบายเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดเท่านั้น ซึ่ง นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ยืนยันกับที่ประชุมคณะกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 64 ว่า นโยบาย No Profit No Loss คาดว่าจะใช้ได้จนถึงปี 65 เท่านั้น หลังจากปี 65 หากการระบาดสามารถควบคุมได้แล้ว บริษัทเอกชน ที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ก็จะสามารถทำกำไรจากการขายวัคซีนได้ และเมื่อถูกตั้งคำถามมากขึ้นก็ได้มีการออกมาชี้แจงว่า สยามไบโอไซเอนซ์ จะคืนเงินงบประมาณ 600 ล้านบาทกลับมาเป็นวัคซีน จะคืนหลังจากที่ผลิตและจำหน่ายไปแล้ว 200 ล้านโดส โดยสยามไบโอไซเอนซ์ จะซื้อวัคซีนจากแอสตราเซเนกา เพื่อคืนให้แก่รัฐบาลไทย แต่ถ้าเป็นการซื้อคืนหลังจากที่การระบาดสามารถควบคุมได้แล้ว ก็คงต้องซื้อในราคาตลาด ซึ่งยังไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่ แต่เป็นไปได้ที่จะแพงกว่าราคา 5 เหรียญสหรัฐอย่างแน่นอน

“ในเมื่อเงิน 600 ล้านบาท ที่รัฐบาลนำเอาไปอุดหนุนบริษัทเอกชน ที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นเงินภาษีที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงาน และคราบน้ำตาของประชาชน ประชาชนต้องตรวจสอบได้ สยามไบโอไซเอนซ์ เขาไม่ได้ผลิตวัคซีนมาแจกให้ประชาชนฟรีๆ นะครับ รัฐบาลก็ต้องนำเงินภาษีของประชาชนไปซื้อ แม้ว่าจะไม่มีกำไร แต่ก็มีรายได้เป็นกระแสเงินสดเข้าบริษัท และเมื่อการระบาดควบคุมได้แล้ว น่าจะเป็นปี 66 เป็นต้นไป ทั้งเครื่องจักร และ Know How ที่บริษัทเอกชนรายนี้ได้รับไป เขาก็ไปผลิตวัคซีนขายทำกำไรได้ บริษัทเอกชน ที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ นี่ไม่ได้มีบุญคุณอะไรกับประชาชนเลยนะครับ แต่ถ้าจะนับกันจริงๆ ว่าใครมีบุญคุณกับใคร ผมก็ต้องบอกว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ไม่ได้มีบุญคุณกับประชาชน แต่ประชาชนต่างหาก ที่มีบุญคุณกับบริษัทเอกชน ที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ทำให้เขาได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ และสามารถตั้งตัวได้ ดังนั้นประชาชนมีสิทธิที่จะตรวจสอบสัญญา มีสิทธิที่จะขอดูข้อตกลง ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐบาลไปทำกับทั้ง AstraZeneca และสยามไบโอไซเอนซ์” นายวิโรจน์ กล่าว

ให้อภัยรัฐบาลไม่ได้

นายวิโรจน์ ได้อภิปรายว่า เรื่องที่ประชาชนคนไทย จะให้อภัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้โดยเด็ดขาด คือรู้ทั้งรู้ว่า บริษัทเอกชน ที่ชื่อว่า สยามไบโอไซเอนซ์ นั้นมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แทนที่จะดำเนินการให้มีรอบคอบ ประณีต โปร่งใส จัดให้มีกระบวนการกำกับตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพื่อปกป้องพระเกียรติยศ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่กลับดำเนินการอย่างรวบรัด ขาดความโปร่งใส อำพรางข้อมูลสาธารณะ จนเกิดความล่าช้าในการจัดหาวัคซีน ทำให้ความหวังที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจพังทลายลง ซ้ำเติมปัญหาปากท้องให้กับประชาชนให้ได้รับความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส แถมยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ แทนที่จะสำนึกในความผิดของตน ขอพระราชทานอภัยโทษ กลับตัวกลับใจเป็นคนดี คืนสู่สังคม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับปิดบังข้อมูลความผิดของตน ใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฟ้องร้องปิดปากคนที่ตั้งคำถามพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน พฤติกรรมลุแก่อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ เช่นนี้ กลับสร้างความระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทให้หนักเพิ่มขึ้นไปอีก นี่หรือคนที่อ้างตนเองว่ามีสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายอนุทินชาญวีรกูล วันๆ มีแต่ทำตัวหิวแสง กระหายแฟลช เสี้ยนไมโครโฟน มักใหญ่ใฝ่สูงหมายจะเอาเงินภาษีของประชาชนไปสร้างซีนให้กับตนเอง คุยโม้คุยโต โง่แล้วอยากนอนเตียง เอาชีวิตของราษฎรไปขึ้นเขียง เอาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนไปเสี่ยงกับบริษัทเอกชนที่เพิ่งรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และน่าจะไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน ประชาชนเขาหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นเพราะวัคซีน แต่สุดท้ายต้องสิ้นอนาคตได้ฟอร์มาลีนมาแทน คนคู่นี้ แค่เดินเฉียดเงาผมยังรู้สึกรังเกียจ แค่คิดว่าต้องหายใจเอาอากาศร่วมกันกับคนสองคนนี้ ก็รู้สึกขยะแขยง ผมจึงไม่อาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้อีกต่อไป และไม่อาจไว้วางใจ ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ลูกกระจ๊อก สมุนคู่ใจ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วยเช่นกัน” นายวิโรจน์ อภิปรายทิ้งท้าย