เทศบาลสรรพยาพาครูสังกัดท้องถิ่นอบรมการเรียนแบบแอคทีปเลินนิ่ง

เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2564 นายจักรพันธุ์  ตันติเสรีรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลสรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า เทศบาลตำบลสรรพยา ได้ลงนามความร่วมมือ(MOU)กับสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.)เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเทศบาลสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในการเรียนรู้แบบ Active Learning  ในเชิงรุก โดย พว.จะให้ความรู้ในการพัฒนา ครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดท้องถิ่นให้มีความรู้ความเข้าใจการเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมของเด็ก

“เทศบาลตำบลสรรพยา มองว่าเมื่อเด็กได้เรียนรู้แบบ Active Learning  จะทำให้เด็กสามารถสร้างนวัตกรรมด้วยตัวเองได้ ดังนั้นผมจึงส่งครูในสังกัดท้องถิ่นของเทศบาลตำบลสรรพยาทุกคนเข้าอบรมเรื่องการเรียนรู้แบบ Active Learning  กับ พว.ซึ่งผมมั่นใจว่าจะสามารถพาครูไทยไปสู่การสอนที่บรรลุเป้าหมาย เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์สูงสุด”นายจักรพันธุ์ กล่าว

ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.) กล่าวว่า ปัจจุบันได้เปลี่ยนจากการเน้นเนื้อหามาเน้นมาตรฐาน ตัวชี้วัด ความสามารถหรือสมรรถนะแทนการท่องจำเนื้อหา ทำให้กระบวนการเรียนรู้ต้องปรับเปลี่ยน ถึงแม้จะมีการปรับหลักสูตรมาแล้วหลายครั้ง แต่กระบวนการเรียนรู้เรายังไม่เปลี่ยน ทำให้ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจกันใหม่ว่า หลักสูตรคือแผนการจัดประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้เอง ซึ่งการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้นั้นจะมีทั้งเรื่องของมาตรฐาน สมรรถนะ กระบวนการ รวมถึงคุณภาพในมิติต่าง ๆ ด้วย ฉะนั้นถ้าเราไม่สามารถก้าวข้ามความเข้าใจว่าการปรับหลักสูตร คือ การปรับเนื้อหา ไปได้ ประเทศไทยก็จะติดกับดักและเดินต่อไปไม่ได้

ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า หัวใจสำคัญที่สุดของกระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้ คือ การเพิ่มคุณภาพผู้เรียน ด้วยวิธีการ เป็นการเรียนวิธีเรียนรู้ สอนวิธีเรียนรู้ ไม่ได้สอนเฉพาะเนื้อหาแบบแยกส่วน แต่สอนกระบวนการที่เชื่อมโยงได้กับทุกเนื้อหา เป็นรูปแบบการเรียนรู้แนวใหม่ ที่เรียกว่า Active Learning ซึ่งสอดคล้องกับศาสตร์พระราชาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงวางไว้ให้เราเดินตามอย่างชัดเจน และจากที่ดูยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 11 ด้าน ทุกอย่างอิงการศึกษา แต่ปรากฏว่าคุณภาพการศึกษาของเรายังไปไม่ได้ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะไปพัฒนาสังคมได้อย่างไร เพราะฉะนั้นการปฏิรูปการศึกษาด้วยกระบวนการเรียนรู้จะทำให้เด็กเข้าถึงสังคมฐานความรู้ การสร้างองค์ความรู้ได้ ซึ่งตนเชื่อว่าประเทศไทยมีต้นทุนสูงอยู่แล้วในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และสามารถปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนไปสู่จุดนั้นได้ แต่ขึ้นอยู่ว่าจะมีความจริงจังแค่ไหนที่จะทำเรื่องนี้