‘กมธ.พัฒนาการเมือง’ เผย ตร.เมินชี้แจงครั้งที่ 5 ปมจับกุมนักข่าวช่วงสลายชุมนุมแยกปทุมวัน

วันที่ 29 มกราคม 2564 ที่อาคารรัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฏร แถลงต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการฯเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสอบถามกรณีการจับกุมผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไทระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ช่วงการสลายการชุมนุม ซึ่งทางเจ้าตำรวจขอเลื่อนการเชิญเป็น ครั้งที่ 5
.
ปดิพัทธ์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นคือการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยทางคณะกรรมาธิการได้มีมติเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว คือ พันตำรวจเอก สินเลิศ สุขุมรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเเจ้งขอเลื่อนนัดถึง 4 ครั้ง กรณีที่เกิดขึ้นเช่นนี้ เกิดจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคําสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงส่งผลให้สภาไม่มีอำนาจตาม พ.ร.บ. คำสั่งเรียกฯ และทำให้อำนาจของคณะกรรมาธิการถูกตัดทอนเเละลดบทบาท จึงเป็นความกังวลของคณะกรรมาธิการในการลดทอนบทบาท เเละให้อำนาจแก่รัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นปัญหาจากผลพวงโดยตรงของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยตนจะนำเรื่องนี้หารือต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพราะเมื่อผู้ชี้เเจงไม่มาเเละกรรมาธิการไม่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จะต้องมีการยื่นตีความการใช้พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ใหม่อีกหรือไม่ รวมถึงการเเสดงความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชา คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เเละคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ( กสม. ) ที่ยังไม่ดำเนินการอะไร
.
ประเด็นที่สอง ทางคณะกรรมาธิการเตรียมเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต. ) ชี้เเจงข้อมูลในการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จากกรณีที่ได้สั่งให้มีการเลือกตั้งซ่อมกว่า 18 จังหวัด เนื่องจากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของ กกต. ดังนั้นจึงต้องสอบถามว่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอย่างไร เเละการที่ประชาชนจะต้องเสียสิทธิหากมาลงคะเเนนเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากประชาชนเลย ทางคณะกรรมาธิการจึงต้องการความชัดเจนจาก กกต. เเละต้องการหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อชี้เเจงแนวทางกรณีทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหลายกรณี อาทิ มาตรา 34 ที่ระบุว่า สมาชิก ส.ส. ส.ว. เเละข้าราชการการเมือง ไม่สามารถช่วยหาเสียงเลือกตั้งได้ว่า ในกรณีนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ประชาชนใช่หรือไม่ เเละในกรณีผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองสามารถดำเนินการช่วยหาเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะกรรมาธิการมองว่าควรมีวิธีชัดเจนในวิธีปฏิบัติให้มากกว่านี้ รวมถึงควรมีการแจ้งเตือนผู้สมัครรายบุคคลว่าการกระทำใด ทำได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่ กกต.รอเป็นฝ่ายรับข้อมูลร้องเรียนเพียงอย่างเดียว จนกลายเป็นความผิดย้อนหลังของผู้สมัคร ทั้งนี้ การที่ทางคณะกรรมาธิการขอให้ กกต.มีหนังสือชี้เเจงเเละต้องการความชัดเจนก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกครั้งในการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเเละเทศบาล รวมไปถึงเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่จะเกิดขึ้น

ปดิพัทธ์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนขอให้ประชาชนเเละสื่อมวลชนร่วมติดตามในสองประเด็นสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงมีผลต่อการวางรากฐานประชาธิปไตยให้เเข็ง สุจริตและเที่ยงธรรมในอนาคต