นักวิชาการจี้ กกต.อบรม กปน. แก้ปัญหาบัตรเขย่ง หวั่นซ้ำรอยสนามลต.เทศบาล

วันที่ 24 มกราคม นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ เปิดเผยว่า กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกคำสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนสมาชิกสภา อบจ. และนายก อบจ.ใหม่ โดยยกเลิก 44 การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. 46 หน่วยเลือกตั้ง การเลือกตั้งนายก อบจ. 15 หน่วยเลือกตั้ง และการเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายก อบจ. 3 หน่วยเลือกตั้ง

และสั่งให้มีการออกเสียงลงคะแนนใหม่ในหน่วยเลือกตั้ง 18 จังหวัดในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 จากการตรวจสอบพบว่าปัญหา เกิดจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ( กปน.)บางรายทำหน้าที่โดยขาดความรู้ความเข้าใจ และอาจมีปัญหาจากการรวบรวมคะแนนระดับอำเภอ ขณะที่ อบจ.ได้รับรายงานจากอำเภอแล้วไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ ขณะที่ กปน. อนุกรรมการระดับอำเภอ เจ้าหน้าที่ กกต.จังหวัดไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ

นายบรรณ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้ปัญหานี้เกิดซ้ำในการเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศ การแก้ไขต้องเริ่มจากการอบรม กปน. จะต้องแนะนำกรอกแบบพิมพ์ ส.ถ./ผถ.5/7 ที่มีรายละเอียด โดยกรอกข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้ง ผู้มาแสดงตนใช้สิทธิ จำนวนผู้มีสิทธิ บัตรดี บัตรเสีย บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน บัตรที่เหลือหลังลงคะแนนต้นขั้วที่เหลือ และผลคะแนน จะต้องบวกลบแล้วสอดคล้องกัน เช่น จำนวนบัตรดีบัตรเสียและบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน ต้องเท่ากับจำนวนผู้มาแสดงตนใช้สิทธิ จำนวนคะแนนของผู้สมัครทุกคนรวมกันจะต้องเท่ากับจำนวนบัตรดี หาก กปน.ตรวจสอบตัวเลขดังกล่าว จะตรวจพบปัญหาที่หน่วย และสามารถแก้ปัญหาได้เช่น นับต้นขั้วของบัตรเลือกตั้ง และควรจะตรวจทานข้อมูลให้เรียบร้อย ไม่ควรเร่งรีบเพื่อจะรายงานผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการอย่างรวดเร็ว

“ยังมีสาเหตุอื่นเช่น กรรมการประจำหน่วยต้องเข้าใจว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนมีสิทธิเลือกเฉพาะนายก อบจ.อย่างเดียว แต่ไม่มีสิทธิเลือกสมาชิก อบจ. กรรมการจะต้องฉีกบัตรจากต้นขั้วให้เฉพาะบัตรเลือกตั้งนายก นอกจากนั้นต้องเฝ้าระวังผู้มาใช้สิทธิแอบซ่อนบัตรออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง โดยบางรายนำบัตรเข้าไปในคูหา แต่อาจซุกซ่อนไว้ไม่นำมาหย่อนในหีบบัตร ก็จะเกิดปัญหาตัวเลขจำนวนบัตรน้อยกว่า จำนวนผู้มาแสดงตนใช้สิทธิ” นายบรรณ กล่าว