‘แอมเนสตี้’ ชี้ตัดสินจำคุก 43 ปี ‘อัญชัญ’ คดีม.112 สะท้อนรัฐไทยไม่หยุดยั้งปิดปากผู้เห็นต่าง

วันที่ 20 มกราคม 2564 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีการตัดสินจำคุก อัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร จากการแชร์คลิปจำนวน 29 ครั้ง จนต้องได้รับอัตราโทษที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์คดีการเมืองไทยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและสร้างความตกใจจนกลายเป็นข่าวใหญ่ในสื่อต่างชาติหลายสำนัก

แถลงการณ์ระบุว่า สืบเนื่องจากการที่ศาลไทยสั่งลงโทษจำคุกสูงถึง 87 ปี (แต่สารภาพลดกึ่งหนึ่งเหลือ 43 ปี) ต่ออัญชัญ ปรีเลิศ หลังพบว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ยามินี มิชรา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าคดีที่น่าตกใจเช่นนี้ นับเป็นการโจมตีอย่างร้ายแรงอีกครั้งต่อพื้นที่ของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ที่กำลังหดหายไปในประเทศไทย

“จำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งที่ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สะท้อนให้เห็นความพยายามอย่างไม่หยุดยั้งของทางการไทยที่จะปิดปากผู้เห็นต่าง บทลงโทษที่รุนแรงอย่างมากในวันนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว และแสดงให้เห็นว่ากฎหมายนี้ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

“การหมิ่นประมาทไม่ควรนำไปสู่การลงโทษอาญาอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงว่าเป็นการจำคุกเป็นเวลานานมาก ดังเช่นคำตัดสินในวันนี้”

“อัญชัญได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายตั้งแต่ถูกจับกุมเมื่อปี 2558 รวมทั้งการถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาเป็นเวลาหลายปี โดยในบางช่วงมีการห้ามไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกด้วย

“ลักษณะการกำหนดโทษยังเป็นสิ่งที่น่าตกใจ เนื่องจากทางการพยายามลงโทษให้หนักสุด โดยการคูณจำนวนกรรมของการกระทำความผิดกับโทษจำคุกแต่ละกรรม ส่งสัญญาณชัดเจนว่าเป็นการป้องปราม ข่มขู่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 50 ล้านคนในประเทศไทย”

“ทางการไทยต้องยุติการปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ รัฐบาลต้องยกเลิกหรือแก้ไขเนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายที่จำกัดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก ทั้งในชีวิตจริงและในพื้นที่ออนไลน์ รวมทั้งความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการตัดสินวันนี้”