ชุมนุมราษฎร : “ประวิตร” ไม่ตอบปมอุ้มการ์ดก่อนปล่อยทิ้งย่านบางปู ตร.หิ้ว ‘ภานุพงษ์-ใบบุญ’ ผัดฟ้อง-ฝากขังศาล

วันที่ 18 มกราคม 2564 การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในการต่อต้านรัฐบาลยังคงปรากฎตัวอยู่อย่างเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและสามย่านมิตรทาวน์ และเกิดกรณีปราบปรามผู้เห็นต่างจากการแสดงออกทางการเมืองล่าสุดด้วยวิธีการที่กลายเป็นข้อถกเถียงทางกฎหมายนั้นคือการอุ้มลักพาตัว โดยเฉพาะกรณี เยล การ์ดราษฎร หรือการบุกจับยามวิกาลกับนิว นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ล่าสุดวันนี้ เมื่อเวลา 09.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้าปฎิบัติหน้าที่เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า โดยปฎิเสธตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีที่ นายมงคล สันติเมธากุล หรือ เยลสมาชิกกลุ่มการ์ดราษฎร ระบุว่าถูกบุคคลอุ้มตัวหลังการชุมนุม ก่อนนำปล่อยไว้ย่านบางปู จ.สมุทรปราการ

ซึ่งมีข้อสังเกตว่าอาจมีเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)เข้าไปเกี่ยวข้อง โดย พล.อ.ประวิตร ได้เดินเข้าตึกบัญชาการ ในทันที

นำตัว “ภานุพงศ์-ใบบุญ” ยื่นขอผัดฟ้องฝากขัง คดีชุมนุมอนุสาวรีย์ชัย เขียนป้ายผ้า 112 เมตร

ส่วนที่ศาลเเขวงดุสิต ถนนนครไชยศรี พนักงานสอบสวน สน.พญาไทนำตัวนาย ภานุพงศ์หรือตา พงษ์ธนู อายุ 20 ปี เเละนายใบบุญหรือโอม ไทยพานิชอายุ 20 ปี มายื่นคำร้องขอผัดฟ้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งเเรกต่อศาล

โดยคำร้องระบุพฤติการณ์สรุปจากการสืบสวนทราบว่าเมื่อวันที่ 15 ม.ค.เพจเฟสบุ๊คชื่อ“ GUARD ปลดแอก” ได้มีการโพสต์ข้อความเชิญชวนบุคคลทั่วไปร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมมีข้อความว่า“16.01.2021 ร่วมกันเขียนป้ายความยาว 112 เมตร ความทุเรศของรัฐบาลอนุสาวรีย์ชัยฯ 12.00น. เกาะพญาไท ”

จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและได้รับคำสั่งให้เฝ้าสังเกตการณ์ ต่อมาเมื่อวันที่16 ม.ค.เวลา12.30 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมมารวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิฝั่งเกาะพญาไทเป็นจำนวนมาก รวมถึงนายใบบุญและนายภานุพงศ์ ผู้ถูกจับกุมและพวกที่หลบหนีอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมทำกิจกรรมเขียนข้อความบนผืนผ้าในลักษณะที่มั่วสุมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานควบคุมโรคได้เข้าเจรจาแจ้งให้ยกเลิกการทำกิจกรรมเนื่องจากเข้าลักษณะร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่ายชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคและเป็นกระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมเลิกจึงยึดป้ายผ้าและอุปกรณ์ไว้เป็นของกลางแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวให้ทราบจับกุมตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

โดยกล่าวหาว่า 1.ร่วมกันฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา9 โดยร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกันหรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่ายชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดในลักษณะหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค

2.กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไปฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

โดยพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนและควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งสองตลอดมาและจะครบ 48ชั่วโมงในวันที่18 ม.ค.74เวลาประมาณ16.00 น. แต่ยังไม่สามารถจะฟ้องได้โดยจะต้อง สอบพยานเพิ่มเติมอีก 5ปาก รอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหาจึงขออนุญาตให้ผัดฟ้องฝากขังไว้มีกำหนดวัน 6 วันสั่งขังนับตั้งแต่วันที่18-23 ม.ค. 64 อในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสองนี้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

เหตุเกิดที่บริเวณเกาะพญาไท แขวงถนนพญาไทเขตราชเทวี กรุงเทพมหานครโดยขณะนี้อยู่ระหว่างศาลพิจารณาคำร้อง

รมว.ยุติธรรม สั่งเร่งเยียวยา 5 ผู้บาดเจ็บเหตุระเบิดหน้าจามจุรีสแควร์

ขณะที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เหตุการณ์นี้เข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ตนจึงได้สั่งการให้ กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายและเก็บข้อมูล ตามนโยบายยุติธรรมเชิงรุก โดยได้รับรายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 5 ราย ได้แก่ 1.ส.ต.ท.ชาคริต พินิจ 2.ส.ต.ต.อรรณพล จั่นชมนาค 3.นายภุชงค์ สุขเสนา 4.ร.ต.อ.ผดุง ป้องจันลา และ 5. นายธนกร วงศ์ปัญญา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ด

ซึ่งขณะนี้ได้ติดต่อกับนักข่าวที่ได้รับบาดเจ็บแล้ว มีบาดแผลจากสะเก็ดระเบิดเล็กน้อยที่บริเวณต้นขาด้านซ้าย โดยได้มีการนัดเข้าเยี่ยมในวันที่ 18 ม.ค. ช่วงบ่ายที่สำนักงาน บริษัท เดอะสแตนดาร์ด เพื่อชี้แจงสิทธิตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 โดยสิทธิที่ผู้เสียหาจะได้รับ คือ ค่ารักษาพยาบาลจ่ายตามจริงตามใบเสร็จไม่เกิน 40,000 บาท ค่าฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจจ่ายตามจริงไม่เกิน 20,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการทำมาหากิน จ่ายตามค่าแรงของกรุงเทพมหานคร วันละ 331 บาท ตามวันที่ไม่สามารถ ประกอบการงาน ได้ตามปกติไม่เกิน 1 ปี และ ค่าตอบแทนความเสียหายอื่น ให้จ่ายเป็นเงินตามจำนวนที่ คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของประชาชนที่รับบาดเจ็บ ตรงนี้เราต้องตรวจสอบก่อนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือไม่ หรือมีการปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมายหรือคำสั่งห้ามชุมนุมหรือไม่ หากมีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ได้รับเงินเยียวยาตรงนี้ แต่หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือทำผิดกฎหมายก็จะได้รับสิทธิเยียวยาช่วยเหลือตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้เราได้ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อประสานขอข้อมูลแล้ว หากพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเราจะเร่งช่วยเหลือในทันที ส่วนตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่เราได้ติดต่อประสานให้ความช่วยเหลือแล้ว ซึ่งตามปกติจะได้รับการช่วยเหลือจากทางตำรวจอยู่แล้ว แต่หากสิทธิประโยชน์ได้รับน้อยกว่า พ.ร.บ.ค่าตอนแทนฯ เราจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้วย โดยทั้งหมดจะมีคณะกรรมการตรวจสอบว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใดบ้าง

“รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรม พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม หากใครได้รับความเสียหายจากคดีอาญา สามารถยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัด หรือกองทุนยุติธรรมทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วน 1111 กด 77 โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ รับคำขอและรวบรวมหลักฐาน เพื่อทำเรื่องให้คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเบิกจ่าย แต่หากประชาชนไม่พอใจผลการพิจารณาสามารถอุทรณ์ได้ภายใน 30 วัน ทั้งนี้กระทรวงยุติธรรมยุคใหม่ จะเน้นการทำงานเชิงรุกลงพื้นที่เข้าหาประชาชนที่เดือดร้อน โดยไม่ต้องรอให้ชาวบ้านเข้ามายื่นเรื่องเอง”นายสมศักดิ์ กล่าว