‘สสส.’ เผย สถานการณ์ด้านสิทธิ – ชี้ ‘10 เด่น’ ร่าง รธน.ประชาชน ติดโผ – ‘10 ด้อย’ รัฐสภาปัดตก-อุ้มหาย-คุกคาม

‘สสส.’ เผย สถานการณ์ด้านสิทธิ – ชี้ ‘10 เด่น’ ร่าง รธน.ประชาชน ติดโผ – ‘10 ด้อย’ รัฐสภาปัดตก-อุ้มหาย-คุกคาม

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพฯ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมกับ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) และ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เปิดตัว “รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ.2563 10 เด่น (ก้าวหน้า) 10 ด้อย (ถดถอย)” เพื่อทบทวนและติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย นำไปสู่การเผยแพร่ต่อสาธารณะ พัฒนา และแก้ไขปัญหา

โดย “รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ.2563 10 เด่น 10 ด้อย” นี้ จัดทำขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กติการะหว่างประเทศ และอนุสัญญาทั้ง 9 ฉบับ ขององค์การสหประชาชาติ โดยหวังว่าข้อมูลจากกรายงานดังกล่าว จะสะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปี พ.ศ.2563

สำหรับ 10 ประเด็นก้าวหน้า ได้แก่

1.ประชาชน 100,732 รายชื่อ เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

2.“กลุ่มนักเรียนเลว” เสนอการปฏิรูปการศึกษา

3.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2 ฉบับ ให้ลงโทษผู้ไม่มารายงานตัวขัดต่อรัฐธรรมนูญ

4.การตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยศาล กรณีศาลยกคำร้องการฝากขัง และให้ออกหมายเรียกก่อนออกหมายจับ

5.สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายต่อสภาผู้แทนราษฎร

6.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 เรื่องการทำแท้ง ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

7.การพยายามผลักดันร่างกฎหมายส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

8.ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาการขึ้นทะเบียนพรุแม่ลำพึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับชาติ เป็นสิทธิในสิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญ

9.สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

10.การจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค ประเทศไทย” เพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภค คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2563

ด้าน 10 ประเด็นถดถอย ได้แก่

1.รัฐสภาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าชื่อ (สิทธิประชาชนเสนอกฎหมาย)

2.การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา)

3.การลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น และการชุมนุม ตลอดปี 2563 (ซึ่งมีทั้งการคุกคาม การสลายการชุมนุม ไปจนถึง การฟ้องร้องดำเนินคดี)

4.กรณีอุ้มหาย วันเฉลิม และความรับผิดชอบของรัฐไทยในการสืบสวนสอบสวน ปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย

5.กระบวนการยุติธรรมที่ฉ้อฉลบิดเบือนการใช้อำนาจและเลือกปฏิบัติ (คดีบอส อยู่วิทยา)

6.ความรุนแรงต่อเด็กในโรงเรียน ทั้ง การทำร้ายร่างกาย และการล่วงละเมิดทางเพศ

7.การยกเลิกการจัดการที่ดินรูปแบบโฉนดชุมชน

8. การสรรหาและเลือกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดใหม่ นาน 3 ปี ส่งผลให้กลไกการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่มีประสิทธิภาพ

9.ปฏิบัติการด้านข่าวสารของรัฐและเอกชน (IO) ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

10.มาตรการการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ และฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด 19 ที่ผู้เดือดร้อนที่แท้จริงจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิการเยียวยา

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์รายปี ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่