“ช่อ” ห่วงรัฐผูกขาดกำหนดความจริงแต่ผู้เดียว ถามตั้งศูนย์ต้านเฟคนิวส์ จัดการข่าวปลอมหรือหวังผลทางการเมือง

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรได้จัดงานอภิปรายโต๊ะกลมเรื่องบทบาทของสมาชิกรัฐสภาในการรับมือกับข้อมูลที่ผิดและการให้ข้อมูลเท็จในประเทศไทย

ภายในงานเสวนาได้มีผู้ให้ความเห็นว่า การสร้างข่าวปลอมหรือ Fake news หากเกิดขึ้นระหว่างปัจเจกบุคคลต่อปัจเจกบุคคล สามารถแก้ไขได้ โดยรัฐต้องทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน แต่สิ่งที่เป็นโจทย์ท้าทายและเป็นความยากลำบากคือการสร้างข่าวปลอมโดยการที่รัฐรู้เห็นเป็นใจหรือข่าวปลอมที่เกิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับรัฐเป็นคนสร้างเสียเอง จะเป็นเรื่องที่จะยุติได้ยาก อีกทั้งยังมีรายงานที่จัดทำขึ้นโดยเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วกล่าวถึงประเทศน่าละอายจำนวน 138 ประเทศ ที่มีการคุกคามสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 138 ประเทศที่มีปัญหาดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ภายหลังจากงานเสวนา นางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ซึ่งได้รับเชิญเข้าร่วมงานเสวนาด้วย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า มีความกังวลเรื่องการรับมือข่าวปลอมของรัฐ แม้ว่ารัฐบาลจะมีศูนย์เฟคนิวส์ หรือ Anti-Fake News Center Thailand แต่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่าศูนย์ดังกล่าวไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติต่อการต่อต้านข่าวปลอมแต่อย่างใด ยกตัวอย่างแค่เรื่องเดียวคือกรณีที่มีข่าวปลอมเผยแพร่ในเพจเฟซบุ๊กของ “ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน” โดยเพจดังกล่าวมีการบิดเบือนข้อมูลเรื่องขบวนเสด็จ และเมื่อนำข้อมูลที่มีการโพสในเฟซบุ๊กดังกล่าวไปตรวจสอบในช่องทางตรวจสอบข้อมูลข่าวปลอม (Fact Check) ของสำนักข่าวระดับโลกอย่าง AFP ที่ได้รับการรับรองจาก เครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงนานาชาติ (International Fact-Checking Network – IFCN) ก็พบว่าข้อมูลในโพสดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ไม่จริงและบิดเบือนชัดเจน มีจำนวน 2 โพส ซึ่งโพสแรกมียอดแชร์ส่งต่อกันจำนวนประมาณ 10,000 แชร์ และอีกหนึ่งโพสมียอดการแชร์ส่งต่อกันจำนวน 579 แชร์ ซึ่งจำนวนแชร์ดังกล่าวสามารถส่งข้อมูลบิดเบือนไปถึงประชาชนได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งในปัจจุบันข้อมูลบิดเบือนดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในเพจเฟสบุ้กดังกล่าว ไม่ได้ถูกลบออกแต่อย่างใด นอกจากนี้ในวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมรัฐสภา ที่มีทั้ง ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและ ส.ว.ได้มีการอภิปรายด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและบิดเบือน จึงจำเป็นต้องตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการทำงานของศูนย์เฟคนิวส์ของรัฐบาล ในการต่อต้านข่าวปลอมว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร หรือแม้กระทั่งการทำความเข้าใจและสามารถยืนยันข้อมูลที่ถูกต้องให้กับสมาชิกรัฐสภาฝั่งเดียวกันกับรัฐบาลเองด้วยก็ตาม

นอกจากนี้ นางสาวพรรณิการ์ ยังกล่าวถึงความกังวลในประเด็นที่ว่า รัฐบาลต้องไม่เป็นผู้สถาปนาความจริงเสียเอง หรือการทำให้ตัวเองเป็นกระทรวงความจริง (Ministry of Truth) โดยการที่รัฐบาลสร้างให้การโกหกกลายเป็นความจริง เพราะรัฐสามารถสร้างการโกหกให้กลายเป็นความจริงได้ด้วยอำนาจที่มี และการมีทรัพยากรต่างๆ ในการทำให้เกิดขึ้นได้

นางสาวพรรณิการ์ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 พรรคอนาคตใหม่ได้รวบรวมข้อมูลจากเพจข่าวปลอมทั้งหมดกว่าร้อยหน้าใส่เป็นแฟ้มมอบให้แก่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐสภา เพื่อให้ศูนย์ต่อต้านเฟกนิวส์ของรัฐบาลดำเนินการ จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้ว 1 ปีกับอีก 2 วันจนพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบไปแล้วกลับพบว่าไม่มีการจัดการแต่อย่างใด สรุปแล้วการมีศูนย์ต่อต้านเฟกนิวส์ของรัฐบาลเพื่อต้องการที่จะจัดการกับข่าวปลอมหรือเป็นเพียงการสถาปนาความจริงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองกันแน่ ซึ่งหนึ่งปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเช่นใด

“ในประเทศไทยไม่ใช่แค่มีปัญหาเรื่องการมีข่าวที่ไม่จริงเท่านั้น แต่ประเด็นเรื่องข้อมูลข่าวสารที่สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นก็เป็นปัญหาที่สำคัญ โดยมีการผลิตซ้ำและสร้างความเกลียดชังกันอย่างเป็นระบบ มีการพยายามสร้างให้ประชาชนบางกลุ่มรู้สึกว่าสามารถใช้ความรุนแรงกับอดีตพรรคอนาคตใหม่ได้ หรือแม้กระทั่งปัจจุบันเมื่อเป็นคณะก้าวหน้าแล้วก็ยังเจอกับปัญหาดังกล่าวอยู่ อาทิ คณะก้าวหน้าเดินทางไปไหนก็ถูกขัดขวางเสรีภาพในการเดินทางทั้งๆ ที่การทำเช่นนี้ผิดกฎหมายในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวด้วย รวมถึงการที่มีการขัดขวางการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งก็มีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง แม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นมีการลงไม้ลงมือทำร้ายร่างกายกัน แต่ก็อย่าให้ประเทศไทยต้องกลับไปสู่วังวนแบบนั้นเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประวัติศาสตร์ประเทศไทยอีกเลย ที่มีการทำร้ายผู้ที่เห็นต่างกัน รัฐบาลต้องทำหน้าที่เพื่อไม่ให้เกิดขึ้น รวมทั้งสิ่งเหล่านี้ก็คือการบ้านของสมาชิกรัฐสภาที่ต้องช่วยกันส่งเสียงและผลักดันไม่ให้ประเทศไทยไปถึงจุดนั้น” นางสาวพรรณิการ์ กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังงานเสวนาว่า ส.ส.หลายคนโดยเฉพาะ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล มีความเป็นห่วงในเรื่องข้อมูลข่าวสารปลอม และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสภาจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาท ในการส่งเสียงและผลักดันในการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ทั้งนี้ตนเองได้มีโอกาสได้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมาธิการศึกษาร่างกฎหมายเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ตั้งโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการคณะนี้ก็ได้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการสากล โดยทางคณะกรรมาธิการได้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายด้วยกัน 5 ฉบับ คือ 1.ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการได้อย่างทั่วถึงและสะดวกมากขึ้น และประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2.ร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายสาธารณะ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะในทุกระดับ 3.ร่าง พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล เพื่อปรับปรุงให้หน่วยงานรัฐ มีกำหนดการและวิธีการที่ชัดเจนในการปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะบนระบบดิจิทัล และเพื่อให้มีศูนย์กลางการมีส่วนร่วมของประชาชน บนระบบดิจิทัล 4.ร่าง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ เพื่อปรับปรุงให้เป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ 5.ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับปรุงให้ลดความซ้ำซ้อนกับประมวลกฎหมายอาญา และเพื่อคุ้มครองการใช้ สิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งยังได้มีการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 116 ด้วย โดยขณะนี้ได้ยื่นร่างแก้ไขเข้าสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น