‘วิรัช’ ลั่น 45 วันแก้รธน. กมธ.โหวตให้นั่งปธ.กมธ.ตามโผ ชี้ดันเนื้อหาไอลอว์คุยกันได้

วิรัช ลั่น 45 วันแก้รธน. กมธ.โหวตให้นั่งปธ.กมธ.ตามโผ ชี้ดันเนื้อหาไอลอว์คุยกันได้ สภาผุดกรรมการสมานฉันท์ 21 คน

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ มาตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน พร้อมมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. … นัดแรกโดยมีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งมีความอาวุโสสูงสุดทำหน้าที่ประธานการประชุมฯชั่วคราว โดยมีวาระการคัดเลือกประธาน กมธ. รองประธาน กมธ. เลขานุการ กมธ. ทั้งนี้ ผลการประชุมมีมติเลือกนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน กมธ. ด้วยคะแนน 27 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านเสนอ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) ชิงตำแหน่ง แต่ได้คะแนน 12 เสียง

ตั้งรองปธ.9คน-ถกทุกวันศุกร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตำแหน่งต่างๆ มีดังนี้ นายวิรัช เป็นประธาน กมธ. ส่วนรองประธาน มี 9 คน ได้แก่ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 1 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรค พท. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 2 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 3 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 4 นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 5 นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 6 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 7 นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 8 นายวัชรา ณ วังขนาย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) เป็นรองประธาน กมธ.คนที่ 9 ส่วน กมธ.และที่ปรึกษามี 6 คน ได้แก่ นายกล้านรงค์ จันทิก ส.ว. นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ ส.ว. นายชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรค พท. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ (ปช.) นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. โฆษก กมธ.มี 3 คน ได้แก่ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรค พท. นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรค พปชร. และนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เป็นเลขานุการ กมธ. ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้นัดประชุม กมธ. เป็นประจำทุกวันศุกร์ เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป ประชุมครั้งต่อไปวันที่ 27 พฤศจิกายน

วิรัชขอบคุณเชื่องานรื่นไหล
นายวิรัชกล่าวว่า ต้องขอขอบคุณ กมธ. ที่เลือกเป็นประธาน กมธ. อย่างไรก็ตาม สำหรับหน้าที่ของ กมธ. จากนี้ไปคงจะได้กำหนดกรอบการทำงาน โดยเฉพาะเวลาการประชุมว่าจะประชุมอาทิตย์ละกี่วัน และจะทำงานกันแบบไหน ที่ประชุมจะได้ร่วมกันกำหนด จะทำหน้าที่ควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามร่างที่ทางรัฐสภาส่งมา โดยมีร่างของรัฐบาลเป็นหลัก แต่สามารถปรับยืดหยุ่นตามสถานการณ์ และความเหมาะสมของการทำงานได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านอยากให้พิจารณาเร็วขึ้นก่อน 45 วัน นายวิรัชกล่าวว่า อยู่ที่การทำงาน ถ้าทำงานรื่นไหลคงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากติดขัดอะไร แล้วใช้เวลาประชุมอาทิตย์ละวันไม่เพียงพอ อาจจะต้องเพิ่มการประชุมในวันเสาร์ นอกจากนี้ ยังได้เตรียมตั้งคณะอนุ กมธ.เพื่อมาดูแลในรายละเอียด เช่น เรื่องคุณสมบัติของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ฯลฯ ที่ต้องทำอย่างรอบคอบ เนื่องจากรายละเอียดมีมาก

ดันเนื้อหาไอลอว์คุยกันได้
เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านอยากได้เนื้อหาในร่างของฝ่ายค้าน และเนื้อหาจากร่างที่ตกไปโดยเฉพาะร่างของประชาชนมารวมพิจารณาด้วย นายวิรัชกล่าวว่า สามารถมาคุยกันในห้องประชุมได้ ร่างของรัฐบาลก็มีความคล้ายคลึงกับฝ่ายค้านกันอยู่แล้ว โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจอีก 38 มาตรา นอกนั้นเรื่องอื่นๆ มาว่ากันอีกครั้ง
เมื่อถามว่า การใช้ร่างของรัฐบาลในการพิจารณาเป็นหลักอาจทำให้เกิดการไม่ยอมรับ นายวิรัชกล่าวว่า เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ บางทีจะเอาใจข้างหนึ่งข้างใดไม่ได้ ต้องยึดเกณฑ์กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

ชวนถกตั้งกก.สมานฉันท์ 21 คน
ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พร้อมด้วยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล แถลงผลการหารือร่วม 3 ฝ่าย ในการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบองค์ประกอบของกรรมการให้มีกรรมการทั้งสิ้น 21 คน ดังนี้ 1.ผู้แทนฝ่ายผู้ชุมนุม 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นต่างกับรัฐบาล) 2.ผู้แทนรัฐบาล 2 คน 3.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน 4.ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน 5.ผู้แทนสมาชิกวุฒิสภา 2 คน 6.ผู้แทนฝ่ายที่มีความเห็นอื่น 2 คน (กลุ่มเรียกร้องเห็นด้วยกับรัฐบาล) 7.ผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย บุคคลซึ่งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเสนอชื่อ 3 คน โดยคำนึงถึงตัวแทนให้ครอบคลุมถึงภูมิภาคต่างๆ, บุคคลซึ่งที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเสนอ 1 คน, บุคคลซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเสนอ 1 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ 4 คน, รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นเลขานุการ, เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 4 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

เดินหน้าศึกษารูปแบบปรองดอง
นายชวนกล่าวว่า สำหรับการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่ศึกษารูปแบบการสร้างความปรองดอง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบองค์ประกอบทั้งหมด 21 คน หลังจากนี้ให้ฝ่ายเลขาฯจะแจ้งให้แต่ละฝ่ายได้รับทราบ เพื่อส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมกรรมการสมานฉันท์เพื่อเริ่มเดินหน้าทำงานได้ทันที ส่วนประธานกรรมการสมานฉันท์ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกรรมการสมานฉันท์พิจารณาจากกรรมการสมานฉันท์ด้วยกันเอง ส่วนจะมีภาระหน้าที่และรูปแบบการพิจารณาแก้ไขปัญหาอย่างไรนั้นเห็นว่าให้กรรมการมีการประชุมปรึกษาหารือกันก่อน และจากการลงพื้นที่พบปะรับฟังความเห็นประชาชนในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ประชาชนเห็นด้วยหากกรรมการสมานฉันท์หากสามารถทำให้บ้านเมืองเป็นไปอย่างสงบ แต่ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งและความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางเรื่องมันป้องกันได้เพราะฝ่ายการเมืองรู้ดีว่าบางเรื่องมันเกิดขึ้นเพราะอะไร สามารถป้องกันได้โดยการสร้างเงื่อนไขไม่ให้มันเกิดขึ้นมาอีก แต่ก็ต้องยอมรับว่าในอนาคตไม่รู้ว่าความขัดแย้งจะเป็นเรื่องอะไร แต่รู้ปัญหาในอดีตต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพื่อลดปัญหาในอนาคต

ไม่หวั่นม็อบไม่เข้าร่วมด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า คาดหวังกับกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้ไว้อย่างไรบ้าง นายชวนกล่าวว่า ได้แจ้งต่อที่ประชุมวิปทั้ง 3 ฝ่ายแล้วว่าไม่ได้เล็งผลเลิศว่าจะต้องเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนทันทีทันใด แต่หวังว่าการได้มีช่องทางได้พูดคุยกันในปัญหาที่เกิดขึ้น หากผู้ร่วมชุมนุมไม่เข้าร่วมเป็นกรรมการ ยืนยันว่าไม่มีปัญหา แต่รัฐสภายังต้องทำหน้าที่ไปตามภารกิจต่อไป หากไม่เข้าร่วมก็ทำหน้าที่ไปเท่าที่มีอยู่ไปก่อน แต่พยายามจะให้มีทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และต้องให้เวลาแต่ละฝ่ายในการตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม กรรมการชุดนี้เป็นกรรมการชุดแรกจากทั้งหมด 2 ชุด ชุดที่ 2 เป็นกรรมการสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด โดยมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าพิจารณา ในรูปแบบที่ 2 นี้ได้มีการหารือกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว ทุกฝ่ายให้ความเห็นในทางที่เป็นบวก และสนับสนุนให้เดินหน้าแก้ไขปัญหานี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปเชิญแต่มาร่วมเป็นกรรมการ สัดส่วนกรรมการหลังจากนี้จะเป็นใครนั้นจะมีการหารือกันอีกครั้งกับองค์กรภาคส่วนต่างๆ