‘รังสิมันต์’ เตือน รบ.อย่าราดน้ำมันบนกองไฟ หลัง สมช.สายตรงผู้ว่าฯจัดมวลชน

‘รังสิมันต์’ เตือน รบ.อย่าราดน้ำมันบนกองไฟ หลัง สมช.สายตรงผู้ว่าฯจัดมวลชน

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ว่าจะมีการเสนอ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการ ซึ่งทางฝ่ายรัฐบาลจะมีการเสนอนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกรรมาธิการ โดยก่อนหน้านี้เป็นช่วงของกระบวนการลงประชามติว่าใครจะได้เป็นประธาน แต่ผลโหวตยังไม่ออก โดยองค์ประชุมทั้งหมดของฝ่ายค้านมีทั้งหมด 13 คน ดังนั้น โอกาสที่จะได้เป็นประธานก็น้อย

นายรังสิมันต์กล่าวว่า เบื้องต้นร่างที่เข้าสู่วาระการประชุมคือร่างของรัฐบาลและร่างของฝ่ายค้าน ส่วนร่างของภาคประชาชนไม่ผ่านการพิจารณา และร่างของรัฐบาลจะใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณา แต่ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาที่จะพิจารณาจะต้องเป็นของรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งสามารถนำร่างที่เป็นของฝ่ายค้านมาร่วมพิจารณาประกอบได้ รวมถึงเนื้อหาสาระของภาคประชาชนที่เสนอมาก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะนำมาใช้ได้มากน้อยต้องดูหลักการที่รับมาในวาระที่ 1 มีขอบเขตแค่ไหน โดยบางเรื่องที่ภาคประชาชนเสนอมาอาจผลักดันไม่ได้ และยืนยันว่าจากที่ประชุมเมื่อวานนี้ (23 พ.ย.) จะให้ความสำคัญร่างของประชาชนแน่นอน

“เพื่อยืนยันว่าร่างที่ประชาชนเสนอมามีความสำคัญและจะผลักดันให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้แทนของประชาชนก็พร้อมที่จะเอาเนื้อหาของประชาชนที่ร่วมกันเสนอมาแม้จะไม่ผ่านในวาระที่ 1 มาพิจารณาในวาระที่ 2 ซึ่งจะผลักดันต่อไป แต่ก็ยอมรับว่าการผลักดันตรงนี้มีข้อจำกัดในเรื่องขอบเขต เรื่องที่จะผลักดันก็จะมีเรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาของ ส.ส.ร. ในร่างของรัฐบาลที่มีความแตกต่าง และการเลือก ส.ส.ร.ที่ภาคประชาชนเสนอให้ประเทศเป็นเขตการเลือกตั้ง ในขณะที่ร่างของฝ่ายค้านจะใช้เขตจังหวัด และร่างของรัฐบาลมีการเลือกจากเขตจังหวัด และที่ประชุมอธิการบดี นักศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่เหมือนกัน” นายรังสิมันต์กล่าว

เมื่อถามว่าเรื่องของการลดอำนาจ ส.ว. นายรังสิมันต์กล่าวว่า ตนคิดว่าต้องไปคุยในเรื่องของเนื้อหาสาระ สิ่งหนึ่งที่เห็นจากการพิจารณาในวาระที่ 1 ในขณะที่ภาคประชาชนเสนอในที่ประชุม พบว่าการถกเถียงและการหักล้างด้วยเหตุผลมีน้อย อย่างไรก็ตาม หากไปดูจริงๆ เสียงที่ไม่รับจะมีน้อยกว่าเสียงที่รับ เพียงแค่ว่าเสียงที่รับก็ไม่พอ เนื่องจากมีคนที่งดออกเสียงจำนวนมาก เพราะฉะนั้นหากคิดในแง่ของหลักการร่างของประชาชนสามารถผลักดันได้ เพียงแค่ปัญหาที่เกิดขึ้นในเทคนิควิธีคือจะสามารถเอาเรื่องของประเด็น ส.ว.มาพูดได้มากน้อยแค่ไหน และเมื่อวานนี้ก็ได้มีการหารือเพราะร่างของประชาชนมีหลากหลาย เช่น เรื่องของนายกฯ รวมถึงเรื่องของการปฏิรูปประเทศต่างๆ ซึ่งจะนำมาใส่ตรงนี้ได้ต้องไม่ขัดต่อหลักการที่มีการรับมติของที่ประชุมสภาในวาระที่ 1 ส่วนนี้ต้องมีการพูดคุยกันก่อน

เมื่อถามว่าสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้มีหลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจไม่สำเร็จ นายรังสิมันต์กล่าวว่า ต้องขึ้นอยู่ที่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะออกมาในหน้าตาแบบไหน ถ้าออกมาในหน้าตาที่ไม่มาไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องเรียนตามตรงว่าการประวิงเวลาให้ฝ่ายค้านหรือตามกระบวนการรัฐธรรมนูญพรรคการเมืองที่ไม่มี ส.ส.เป็นรัฐบาลหรือเป็นประธานให้เห็นด้วยก็เป็นไปด้วยยาก และคงไม่สามารถเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในทางกลับกันสุดท้ายหากรัฐธรรมนูญนี้ออกมาเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตนยืนยันว่าคนที่ตัดสินว่ารัฐธรรมนูญนี้จะผ่านหรือไม่ท้ายที่สุดคือประชาชน ถ้าประชาชนหรือสังคมเห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่ออกมา ตน มองว่าทุกฝ่ายอาจจะเห็นด้วยก็ได้ แต่ความต้องการของประชาชนก็ต้องชัดว่ามีการยอมรับเช่นนี้ ซึ่งจะรู้ว่าชัดหรือไม่นั้นต้องไปคุยกันต่อว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งและการคัดเลือกส่วนหนึ่ง ก็พูดยากว่าประชาชนจะเห็นด้วยและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งโอกาสที่ฝ่ายค้านหรือพรรคการเมืองที่อยู่ในสัดส่วน 20% ที่จะให้คุณให้โทษบางอย่างกับกระบวนการที่กำลังจะเกิดขึ้น ตนมองว่ามันยาก ทั้งนี้ ตนคิดว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และหน้าตาของรัฐธรรมนูญจะเกิดอย่างไร เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่จะทำให้รัฐธรรมนูญนี้เป็นประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญนี้จะผ่านหรือไม่ แต่ตนยืนยันว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือประชาชน

“ถ้าประชาชนเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่สภากำลังทำ ส.ส.ร.กำลังร่างในอนาคตเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย ผมก็คิดว่าก็สามารถที่จะทำได้” นายรังสิมันต์กล่าว

เมื่อถามว่าสถานการณ์นอกสภาที่มีคนกลัวว่าจะเกิดการเผชิญหน้าของมวลชนจนนำไปสู่การรัฐประหารจนในที่สุดก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ นายรังสิมันต์กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญในรอบนี้ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นวิกฤตทั้งหมดจะจบปัญหารัฐธรรมนูญเป็นแค่ปัญหาหนึ่งที่ต้องมาจัดการ และต้องยอมรับว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะทำให้ปัญหาทุกอย่างในประเทศจบลงไป และต้องยอมรับต่อไปว่ากระบวนการที่กำลังทำอยู่เป็นกระบวนการระยะยาว เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และต้องมีกระบวนการระยะสั้นที่ต้องไปจัดการด้วย เช่น ปัญหาของมาตรา 272 ที่ถ้าหากสุดท้ายประเทศมีอุบัติเหตุทางการเมืองบางอย่าง แล้ว ส.ว.ต้องกลับมาโหวตเลือกนายกฯ อีกครั้งก็จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาใหม่หรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สภาก็ต้องคิดเหมือนกันว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร ที่จะให้ ส.ว.ที่มีบทสรุปแล้วว่าไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ถ้ามาโหวตอีกครั้งประเทศนี้จะต้องลุกเป็นไฟแน่นอน ซึ่งส่วนนี้เป็นปัญหาที่ตนมองว่าเป็นปัญหาระยะสั้น รวมถึงปัญหาที่ผู้ชุมนุมมีการเรียกร้องเรื่องสถาบันก็ต้องมาพูดคุยกันด้วยสันติวิธี ไม่ใช่การดำเนินคดี รวมถึงการใช้ความรุนแรง ปัญหาการคุกคามประชาชนที่ผู้ชุมนุมก็เรียกร้องเหมือนกัน ทั้งหมดต้องมีการพูดคุยกันด้วยเหตุผล ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้การปลุกระดม

“ผมได้เห็นหนังสือเข้าใจว่าเป็นหนังสือของ สมช.ที่มีการพูดในหนังสืออย่างชัดเจนว่ามีการต่อสายไปหาผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้จัดตั้งมวลชนมาปกป้องสถาบัน คำถามคือทำแบบนี้จะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้นหรือไม่ ถ้าเราอยากเห็นการคลี่คลายไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ให้เกิดการปลุกระดม เผชิญหน้ากัน สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นำไปสู่ความคลี่คลาย หรือนำไปสู่ความขัดแย้ง รัฐบาลกำลังทำให้ไฟที่ควรจะค่อยๆ ถูกเอาฟืนออกไป หรือรัฐบาลกำลังราดน้ำมันในกองไฟ เพื่อให้เปลวไฟแรงขึ้น ถ้าเป็นแบบนั้นผมคิดว่าสถานการณ์บ้านเมืองก็ไม่มีทางออก ดังนั้น หวังแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่ได้” นายรังสิมันต์กล่าว