‘ธีรัจชัย’ วิเคราะห์ท่าที ‘บิ๊กตู่’ พร้อมเปิดศึกปะทะ-ใช้ความรุนแรง หวั่นวนลูปล้อมปราบเหมือนปี 2553

‘ธีรัจชัย’ วิเคราะห์ท่าที ‘บิ๊กตู่’ พร้อมเปิดศึกปะทะ-ใช้ความรุนแรง หวั่นวนลูปล้อมปราบเหมือนปี 2553

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกแถลงการณ์ว่าจะใช้กฎหมายทุกฉบับและทุกมาตราที่มีต่อผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย ที่อาจรวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สะท้อนท่าทีอะไรบ้าง ว่า สะท้อนท่าทีของการไม่ประนีประนอม และแข็งกร้าว ต่อข้อเรียกร้องของ 3 ข้อของกลุ่มราษฎร เช่น 1.พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกนั้น นายกฯก็ปฏิเสธอย่างแข็งขัน และ 2.การแก้รัฐธรรมนูญ ก็ชัดเจนว่ารัฐบาล ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว.ก็ปฏิเสธร่างของประชาชน ร่างที่จะตัดทอนอำนาจ ส.ว. และร่างยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น

นายธีรัจชัยกล่าวว่า แถลงการณ์ของนายกฯที่จะใช้กฎหมายทุกมาตราเพื่อดำเนินคดีผู้ชุมนุมทั้งหมด ตนจึงคิดว่าเป็นที่ชัดเจนที่รัฐบาลต้องการจะสืบทอดอำนาจต่อไป โดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น รวมถึงพร้อมที่จะปะทะ และสร้างสถานการณ์อะไรก็ได้ เช่น การสลายชุมนุมเมื่อ 2553 ที่รัฐบาลปฏิบัติการกระชับพื้นที่ จนมีประชาชนเสียชีวิต โมเดลที่ใช้นั้น มีคนที่อยู่ในรัฐบาลชุดนี้เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนายกฯ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านอาจจะมีวิธีคิดแบบเดิมว่า หากใช้วิธีการเหมือนปี 2553 จะสามารถประสบความสำเร็จอีกหรือไม่ เป็นวิธีการก่อความรุนแรง ที่ไม่ควรจะปล่อยให้เกิดขึ้นอีก รัฐบาลควรจะถอยได้แล้ว

เมื่อถามถึง นายสมชาย แสวงการ ส.ว. จะไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 116 และมาตรา 215 จะยิ่งสร้างความขัดแย้งเพิ่มหรือไม่ นายธีรัจชัยกล่าวว่า แน่นอน เพราะมาตรา 112 ไม่ควรถูกนำมาใช้อีกแล้ว หากไปดูข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมยอย่างเปิดใจให้กว้าง และรับฟังทุกฝ่าย ก็จะเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้ต้องการจะล้มสถาบัน แต่ฝ่ายรัฐบาลก็มักจะบอกว่าเป็นการล้มสถาบัน ซึ่งตนคิดว่าไม่เป็นธรรมแก่ผู้ชุมนุม สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลไม่ควรนำสถาบันมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง เพราะเป็นเรื่องที่อันตรายมาก แต่ควรจะทำให้สถาบันอยู่เหนือการเมืองและอยู่ร่วมกับประชาชนทุกกลุ่มที่มีความเห็นต่างกันได้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ยุคใหม่ และควรรับฟังความเห็นต่างแบบมีวุฒิภาวะ เพราะอีก 20 ปี เยาวชนเหล่านี้จะเติบโตเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง แต่คนรุ่นนายกฯ  หรือรุ่นตนขึ้นไป ก็ต้องตายหายไปจากโลกนี้ สิ่งสำคัญคือให้เยาวชนเหล่านี้มาร่วมออกแบบอนาคตของเขา ไม่ใช่จะปิดและใช้ความคิดชุดเดิมชุดเดียว กดทับพวกเขาไว้จนไม่เห็นอนาคตของตัวเอง การใช้กฎหมายปรามผู้ชุมนุม ก็ยิ่งสร้างบาดแผลให้แก่ประเทศ หากนายกฯไม่ทบทวนตนคิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้