วัคซีนต้านโควิดดันหุ้นพุ่งปรี๊ด-ทองร่วง | ศก.ไทยเหนื่อยหนักเหตุพึ่งท่องเที่ยวมากเกิน | พลังงานลุยดึงต่างชาติลงทุนเพิ่ม

แฟ้มข่าว

วัคซีนต้านโควิดดันหุ้นพุ่งปรี๊ด-ทองร่วง

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานภาวะการซื้อขายหุ้นว่า หุ้นบวกแรงทันทีที่เปิดตลาดและปรับขึ้นตลอดวันจนปิดตลาดที่ระดับ 1,341.24 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 55.36 จุด หรือ 4.31% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่น 166,673.69 ล้านบาท ส่วนราคาทองคำสวนทางดัชนีหุ้น ทองคำในประเทศปรับลดลงทันที 1,200 บาทต่อบาททองคำ และราคาปรับขึ้นลงกว่า 10 ครั้ง รวมตลอดทั้งวัน ราคาปรับลดลง 1,150 บาทต่อบาททองคำ ส่งผลทองแท่งขายออกที่ 27,150 บาทต่อบาททองคำ รับซื้อ 27,050 บาทต่อบาททองคำ ทองรูปพรรณ ขายออก 27,650 บาทต่อบาททองคำ และรับซื้อ 26,560.32 บาทต่อบาททองคำ

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นร้อนแรงตามตลาดหุ้นในภูมิภาค ขานรับความคืบหน้าวัคซีนต้านโควิด-19 รวมถึงจิตวิทยาเชิงบวกจากที่นายโจ ไบเดน ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงปัจจัยในประเทศเรื่องการเมืองค่อนข้างทรงตัว ส่วนทิศทางต่อไปมองว่าจะยังขึ้นได้ต่อ ประเมินจากการปรับโทนซื้อหุ้นของนักลงทุน เปลี่ยนจากหุ้นอิงนิวนอร์มอลและเทคโนโลยีใหม่ กลับมาสู่หุ้นที่อิงการเติบโตจากปัจจัยโลกอีกครั้ง

ไทยเหนื่อยหนักเหตุพึ่งท่องเที่ยวมากเกิน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ยังมีความท้าทายทั้งจากเรื่องผลกระทบของโควิด-19 และการปรับตัวให้อยู่รอดในยุคดิสรัปชั่น เศรษฐกิจจึงอยู่ภายใต้ “พายุใหญ่แห่งยุค” หรือเพอร์เฟ็กต์ สตอร์ม ที่มีความรุนแรงและความไม่แน่นอน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทยอาจจะเจอกับความท้าทายมากกว่าหลายๆ ประเทศ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่เอื้ออำนวย อาทิ พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวในระดับสูง ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยพายุใหญ่แต่ละครั้งจะทิ้งมรดกแห่งการเปลี่ยนแปลงไว้ ในคราวนี้มองว่ามี 3 ประเด็นสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นนิว พาราไดม์ หรือกระบวนทัศน์ใหม่ ที่เกิดขึ้น โดยประเด็นแรกคือ การฟื้นตัวจะเป็นแบบเค-เชฟ รีโคเวอรี่ จะไม่ได้เป็นการกลับไปอยู่ที่จุดเดิม หมายถึงทิศทางการฟื้นตัวที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มแรกที่สามารถกลับสู่จุดเดิมได้เร็ว และกลุ่มที่สองที่กลับมาได้ช้าหรือกลับมาไม่ได้

“คมนาคม” ดันที่ดินราชพัสดุฟื้นเที่ยวไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมกรมธนารักษ์ ว่าได้มอบนโยบายให้กรมธนารักษ์ ใช้ที่ดินราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในเชิงพาณิชย์ที่จะเปิดให้เอกชนหรือผู้ประกอบการประมูลเช่าพื้นที่ และในเชิงประโยชน์เพื่อสังคม ล่าสุดการท่องเที่ยวในไทยที่ยังคงซบเซา โดยเฉพาะทางภาคใต้ของไทย จึงได้มอบนโยบายให้ทางกรมธนารักษ์ใช้โอกาสนี้พัฒนาท่าเรือต่างๆ ที่เป็นพื้นที่ราชพัสดุร่วมกับกระทรวงคมนาคมให้ดียิ่งขึ้น ให้มีความทันสมัย เตรียมพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาภายใน 1-2 ปีข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดูแลเรื่องการประเมินราคาที่ดินที่จะนำมาใช้ในรอบใหม่ คือในปี 2565 ให้มีความเหมาะสม ส่วนกรณีธนาคารกรุงไทยพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ในกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากผู้ถือหุ้นในธนาคารกรุงไทยยังเป็นกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ธนาคารกรุงไทยจึงยังคงมีหน้าที่ในฐานะหน่วยงานของรัฐเหมือนเดิม

ก.พลังงานลุยดึงต่างชาติลงทุนเพิ่ม

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้จัดชุดมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหญ่ ขณะเดียวกันปี 2564 ทางกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นหารือการส่งเสริมลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง รวมถึงรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งสินค้า ซึ่งจะส่งเสริมผลิตชิ้นส่วนหลักในประเทศ ส่วนอัตราภาษียานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร จะมีการหารือกันต่อไป ขณะนี้ภาษีนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าเฉพาะรถยนต์นั่งจากจีน อัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ 0% ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนจีน โดยกระทรวงพลังงานกำลังจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี ปี 2022 ขยายกรอบการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศใหม่ นับรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า สถานีชาร์จ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 13 สาย รวมถึงรถไฟที่บางส่วนใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนควบคู่กับการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม สำหรับนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ตั้งเป้าผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้มีสัดส่วน 30% ของจำนวนรถยนต์ที่วิ่งบนถนน หรือประมาณ 750,000 คันภายในปี 2030 หรือ 10 ปีข้างหน้า

คนละครึ่งดันยอดใช้จ่ายพุ่ง 1.1 หมื่นล้าน

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการคนละครึ่งล่าสุด ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5.7 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิจำนวน 7,387,647 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 11,021.55 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 5,618.27 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 5,403.28 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 212 บาทต่อครั้ง โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ โดยในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 มีสิทธิคงเหลือจากผู้ไม่ผ่านการตรวจสอบสิทธิและผู้ไม่เริ่มใช้สิทธิภายในกำหนด 14 วัน ที่จะนำมาเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเป็นจำนวน 2.3 ล้านสิทธิ โครงการคนละครึ่งจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ระหว่างเวลา 06.00 น.-23.00 น. ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com จนกว่าจะครบจำนวน

ซึ่งผู้ที่สามารถลงทะเบียนได้จะต้องเป็นผู้ไม่เคยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมาก่อน หรือเป็นผู้ที่ลงทะเบียนแต่ไม่สำเร็จเท่านั้น