แบงก์มองเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงหนัก | ผลพวงมะกันตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย | ครม.ไฟเขียวต่อลมท่องเที่ยว

แฟ้มข่าว

บัตรคนจนช่วยดึงคนไทยจนน้อยลง

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำ ปี 2562 ว่า สัดส่วนคนยากจนลดลงจาก 9.85% ในปี 2561 มาอยู่ที่ 6.24% หรือมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยตรง สำหรับกลุ่มคนไทยที่ยังยากจน จากการวิเคราะห์กลุ่มนี้พบว่าครัวเรือนยากจน 1 ใน 3 เป็นผู้ไม่ปฏิบัติงานในเชิงเศรษฐกิจ หรือมีการพึ่งพิงสูง โดยมีเด็กและผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น และกว่า 79.18% จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า อีกทั้งผู้มีงานทำที่ยากจนส่วนใหญ่ทำงานในภาคการเกษตร ปี 2562 มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 ล้านคน จากปี 2561 มีจำนวน 11.4 ล้านคน และแม้สัดส่วนคนจนในปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และการจ้างงานเป็นวงกว้าง รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนในปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง

แบงก์มองเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงหนัก

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เกิดผลกระทบหนักสุด หรือตกอยู่ในภาวะบิ๊กช็อก ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ทำให้เกิดช่องว่างของการเติบโตในแต่ละธุรกิจมีไม่เท่ากัน ทั้งยังประเมินว่าผลกระทบในครั้งนี้จะอยู่นานพอสมควร เพราะยังไม่แน่ใจว่าภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงใด “เศรษฐกิจติดลบลดน้อยลง จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 10% แต่ก็ทยอยฟื้นมาติดลบ 7% ถึง 8% แทน แต่การฟื้นตัวยังไม่แน่นอน เพราะจากเดิมคาดว่าจะฟื้นไตรมาส 3/2563 แต่ก็ยังไม่ได้ฟื้นขึ้นมามากนัก ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวนเช่นนี้ ประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะกระทบยาวนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จึงประเมินว่าการปล่อยสินเชื่อ ชะลอตัวกว่าอัตราเงินฝาก ส่วนสถานการณ์หนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ได้ทยอยออกจากการช่วยเหลือแล้วประมาณ 80% การตั้งสำรองของธนาคารยังสามารถรองรับไว้ได้ รวมถึงเห็นคุณภาพสินเชื่อของรายใหญ่และรายย่อยอยู่ในระดับค่อนข้างดี ธนาคารจึงคาดว่าน่าจะฝ่าเศรษฐกิจไปต่อได้

มะกันตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย 231 รายการ

นายกรีติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ถึงประกาศประธานาธิบดีสหรัฐที่ได้พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) เป็นรายประเทศ โดยสินค้าไทยโดนตัดสิทธิด้วย 231 รายการ เพราะสหรัฐเห็นว่าการเปิดตลาดสินค้าไทยไม่อยู่ในระดับที่เท่าเทียมและสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมนี้ ส่งผลให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราปกติ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบรายละเอียดพบว่ามีสินค้าไทยที่ใช้สิทธิจีเอสพีปี 2562 จำนวน 147 ราย ที่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีอัตราปกติประมาณ 3-4% จาก 0% คิดเป็นที่ต้องเสียภาษีเพิ่ม 19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 600 ล้านบาท และเชื่อว่าจะไม่มีผลต่อการส่งออก ผู้นำเข้าสหรัฐคงยังต้องการสินค้าไทยเหมือนเดิม นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากเหตุดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยแล้วโดยทำแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างหลากหลาย และประสานสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ให้ความช่วยเหลือด้านการส่งออก สินเชื่อ และการเสริมสภาพคล่อง นอกจากนี้ ไทยร่วมกับอีก 25 ประเทศได้ทำหนังสือถึงสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (ยูเอสทีอาร์ป ให้เร่งพิจารณาต่ออายุโครงการจีเอสพีที่จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เพื่อให้ต่อเนื่องในเดือนมกราคม 2564

ครม.ไฟเขียวต่อลมท่องเที่ยว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ว่า มีมติเห็นชอบการแก้ไขข้อติดขัดและขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึง และมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.ปรับเพิ่มวงเงินซอฟต์โลนของธนาคารออมสินจากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย โดยปล่อยกู้ผ่านสถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยผู้ประกอบ 2% ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 2.ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภายใต้โครงการพีจีเอส ซอฟต์โลน พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้รับสินเชื่อ คิดค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี 3.ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อซอฟต์โลน ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี และ 4.ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อเอ็กซ์ตร้า แคช วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี และลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการสายการบิน

มีผลหลังเวลา 24.00 น.ของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564