‘อังคณา’ ปาฐกถา จวกปมอุ้มหาย ชี้ ‘เตียง ศิริขันธ์’ คนแรกในปวศ.ที่ถูกบันทึก

‘อังคณา’ ปาฐกถา จวกปมอุ้มหาย ชี้ ‘เตียง ศิริขันธ์’ คนแรกในปวศ.ที่ถูกบันทึก

เมื่อวันที่14 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ10.45 น. มูลนิธิ 14ตุลาได้จัดงานปาฐกถาเรื่อง สิทธิมนุษยชนที่สูญหาย การไม่มีอยู่และวัฒนธรรมไร้ยางอายในการรับผิดของรัฐ โดยนางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการมูลนิธิ14ตุลา กล่าวแนะนำองค์ปาฐก ต่อมานางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวถึงกรณีการสูญหายของสามี นายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทย ว่า คดีนี้เป็นคดีการอุ้มหายคดีแรกที่ได้ขึ้นสู่ชั้นศาลแม้จะพ่ายแพ้แต่เรื่องของสมชาย ได้นำไปสู่การเปิดโปงเจ้าหน้าที่รัฐ ผ่านมาแล้ว 16 ปี ตอนนี้มีคนหนุ่มสาวออกมาเรียกร้องสิทธิจากทางรัฐมากขึ้น นอกจากนี้ตนเคยพูดคุยกับชาวหญิงอาเจนตินาที่เป็นแม่ของลูกๆที่ถูกอุ้มหาย พวกเธอได้ออกมาเรียกร้องสิทธิไม่ต่างจากตน

การบังคับให้สูญหายเป็นความรุนแรงที่เกิดจากภาครัฐที่ซึ่งเกิดขึ้นในหลายประเทศ ในไทยมีการบังคับสูญหายมาตลอด พร้อมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบอื่นด้วยทั้งข่มขู่ คุกคาม การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่เชื่อว่าการที่ใครบางคนหายไปจะทำให้ปัญหานั้นหายไปด้วย การบังคับสูญหายในไทยคนแรกที่ถูกบันทึกไว้คือ การหายไปของนายเตียง ศิริขันธ์ สส.สกลนคร 5 สมัย เหตุการณ์นี้เกิดจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐกำจัดคนเห็นต่าง นโยบายของรัฐมีส่วนทำให้เกิดการอุ้มหาย เช่นนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์จนทำให้ นายจิตร ภูมิศักดิ์ถูกยิงและเกิดเหตุการณ์ถังแดงที่พัทลุง

นโยบายกวาดล้างผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ทำให้เกิดการอุ้มหายหลายราย เช่นผู้นำเกษตรกรที่เชียงใหม่ 3 คน ต่อมามีการหายตัวไปของนายทนง โพธิ์อ่าน ในปี2534 หลังรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลทหารไม่ให้ยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐบาลรสช.ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง

ต่อมาคือนโยบายต่อต้านความไม่สงบในภาคใต้ ทำให้เกิดการบังคับสูญหายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก นโยบายปราบปรามนโยบายยาเสพติด ได้เกิดการสังหาร บังคับสูญหายและใช้ความรุนแรง นโยบายที่ทำให้เกิดการบังคับสูญหายของนักสิทธิมนุษยชน เช่นกรณีของนายพอละจี รักจงเจริญหรือบิลลี่  จากเหตุการณ์นี้ นางพิณนภา พฤกษาพรรณหรือมึนอได้สืบหาการหายไปของสามีและต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อย แม้สุดท้ายจะไม่พบก็ตาม

ต่อมามีการบังคับสูญหายนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนและล่าสุดคือกรณีของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นี่เป็นครั้งแรกในไทยที่ประเด็นการบังคับสูญหายเป็นประเด็นสาธารณะ การอุ้มหายเกิดขึ้นเพราะรัฐเชื่อว่า ปัญหาจะหายไปหากใครบางคนหายไป และเจ้าหน้าที่รัฐพยายามทำให้ทุกคนเชื่อว่าผู้ที่ถูกอุ้มหายเป็นคนไม่ดี จึงสมควรหายไป ทำให้คนในสังคมไทยไม่รู้สึกผิด เพราะคิดว่าคนไม่ดีหายไปก็ดีแล้ว

การสูญหายของคนหนึ่งคนคือการสูญเสียของคนหลายคน ตนไม่ได้ต้องการให้ยกย่องคนที่หายการหาย แต่ต้องการให้มองว่าเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ตนยกคำพูดของมงแต็สกิเยอว่าไม่มีความเลวร้ายใดที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำโดย อาศัยอำนาจตามกฎหมาย

การแก้ไขปัญหาของรัฐ เต็มใจ หรือเจตนาปกปิด รัฐพยายามทำให้ญาติของผู้บังคับสูญหายถอนเรื่องเพื่อลดจำนวนของผู้บังคับสูญหาย ไม่ว่ารัฐจะพยายามปกปิดเรื่องนี้มากเท่าใด ใบหน้าของผู้ถูกบังคับสูญหายยังคงอยู่

การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมโดยรัฐและทำให้เกิดคำสาปของความคลุมเครือ เพราะรัฐไม่เปิดเผยความจริง ไม่ยอมรับผิด ทิ้งไว้เพียงความคลุมเครือ ลูกไม่สามารถตอบได้ว่าทำไมพ่อของตนจึงไม่กลับบ้าน จึงเกิดคำถามว่าทำไมเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้เลยทั้งที่เป็นคนลงมือและเหตุใดจึงมีกฎหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าประชาชน

การเยียวยาและชดเชยเป็นสิ่งที่ต้องทำตามหลักสากล แต่กฎหมายไทยยังไม่มีการบัญญัติไว้เฉพาะ นอกจากรัฐจะไม่มีการเยียวยา ยังได้ข่มขู่ญาติของเหยื่อว่าไม่ให้มีการฟ้องภาครัฐอีก ตนหวังว่าเหตุการณ์ในอดีตจะช่วยป้องกันเหตุการณ์ในอนาคต

ไม่ว่าการอุ้มหายจะจบลงอย่างไรแต่ตนเชื่อว่าจะนำมาสู่การปฏิรูปสังคมไทยให้ดีขึ้น กฎหมายต้องไม่มีใว้เพื่อจัดการผู้เห็นต่าง ตนเชื่อว่าสักวันความจริงจะถูกเปิดเผย

จากนั้น นายวิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ14ตุลากล่าวปัจฉิมกถา