กกต.เคาะเลือกตั้งชิงเก้าอี้นายก อบจ.-ส.อบจ. หย่อนบัตร 20 ธ.ค. วิษณุแจงใช้งบ 3.2 พันล้าน

กกต.เคาะเลือกตั้งชิงเก้าอี้นายก อบจ.-ส.อบจ. หย่อนบัตร 20 ธ.ค. รับสมัคร 2-6 พ.ย. วิษณุแจงใช้งบ 3.2 พันล. เพื่อไทยลั่นพร้อมลุยทุกระดับ

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม บรรยากาศการเลือกตั้งท้องถิ่นกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลายพรรคการเมืองเริ่มวางตัวผู้สมัครในการชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิก อบจ. ล่าสุดนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ว่า ก่อนเข้าวาระการประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงให้ครม.ทราบถึงจัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตามที่ ครม.มีมติรับทราบให้จัดการเลือกตั้ง 76 จังหวัด ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานขั้นตอนไปแล้ว พร้อมประเมินค่าใช้จ่ายประมาณ 3,236 ล้านบาท โดยจากนี้ กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้งภายในเดือนธันวาคมนี้ สำหรับประเด็นเรื่องการตรวจสอบนายก อบจ. และผู้บริหารท้องถิ่น 16 แห่ง ที่ถูกร้องเรียนตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ได้ดำเนินการยุติเรียบร้อยแล้ว ไม่มีตกค้างให้ตรวจสอบ โดยลงโทษไป 5 แห่ง สอบสวนยุติแล้ว 10 แห่ง และเสียชีวิต 1 แห่ง ทั้งนี้ เมื่อประกาศวันเลือกตั้งแล้ว นายก อบจ.จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที สำหรับผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งจะเสียสิทธิใน 2 เรื่อง คือ ลงรับสมัคร ส.ส. และ ส.ว.ไม่ได้ภายใน 2 ปี และเป็นรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองไม่ได้ภายใน 2 ปีเช่นกัน

กกต.เคาะเลือกตั้งอบจ.20ธ.ค.

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารข่าวภายหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการตามร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง อบจ. โดยวันที่ 26 ตุลาคม กกต.จะออกประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิก อบจ. และนายก อบจ. เปิดรับสมัครเลือกตั้งระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายน และวันเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคม

นิกรยันไม่มีเหตุยื้อแก้รธน.

นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ รัฐสภา กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มรี-โซลูชั่น นำโดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระบุถึงกระบวนการยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภาว่า การทำงานของ กมธ.กำหนดเวลาชัดเจน วันที่ 22 ตุลาคมนี้จะทำรายงานให้เสร็จ ในฐานะประธานอนุ กมธ.จัดทำรายงาน และเป็นอนุ กมธ.พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ได้กำหนดเวลาทำงานให้แล้วเสร็จตามเวลาดังกล่าว โดยการประชุมของอนุ กมธ.ประเด็นข้อกฎหมาย จะนัดประชุมอีก 3 ครั้ง คือ วันที่ 14-15 ตุลาคม และวันที่ 19 ตุลาคม เพื่อสรุปความเห็นของอนุ กมธ.ทั้ง 6 ประเด็นข้อกฎหมาย โดยจะไม่มีการลงมติเพื่อชี้ขาด แต่จะนำเสนอรายงานให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา และมีมติในวาระรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไป จึงไม่มีประเด็นที่จะยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เพราะมีปฏิทินทำงานชัดเจน และไม่มีประเด็นใดต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนรัฐสภาลงมติรับหลักการ

ทำประชามติก่อนนำทูลเกล้าฯ

นายนิกรกล่าวว่า สำหรับประเด็นข้อกฎหมายที่พิจารณาแล้วเสร็จ ได้แก่ 1.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติ อนุ กมธ.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ เพราะในมาตรา 256 (8) กำหนดให้ทำประชามติหลังจากที่รัฐสภาทำเนื้อหาแล้วเสร็จ และก่อนการนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ และ 2.การทำประชามติ ทำครั้งเดียวหลังจากที่สภาทำเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมแล้วเสร็จ

นายนิกรกล่าวด้วยว่า ส่วนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนของกลุ่มไอลอว์ จากการสอบถามสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทราบว่าขณะนี้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยืนยันผู้เข้าชื่อสนับสนุน 1 แสนรายเสร็จแล้ว และมีรายชื่อเป็นผู้มีตัวตน มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 9 หมื่นกว่ารายชื่อ และจากนี้สำนักงานเลขาธิการสภาจะส่งจดหมายไปยัง 9 หมื่นรายชื่อ เพื่อสอบถามว่าจะคัดค้านรายชื่อที่สนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ส่วนรัฐสภาจะชะลอการลงมติรับหรือไม่รับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ เพื่อรอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และมติของที่ประชุมร่วม ส.ว. ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และ ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล

สมพงษ์โชว์ทิศทางการทำงาน

ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค พท. ภายหลังการปรับโครงสร้างพรรคเป็นครั้งแรก โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค พท. ได้ออกสารในนามหัวหน้าพรรค พท. เรื่อง ทิศทางการทำงานของคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ตอนหนึ่งว่า เมื่อรัฐบาลไม่อาจเป็นที่พึ่งหวังได้ พรรค พท.จะคิดใหม่ ทำใหม่อีกครั้ง ร่วมกับประชาชน สรรหาโอกาส เพื่อต่อสู้วิกฤต ทั้งนี้ กว่า 6 ปี 4 เดือนที่ผ่านมา ประชาชนต้องทนอยู่ภายใต้การบริหารประเทศโดยผู้นำชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชีวิตไม่เคยเปลี่ยนแปลง และยิ่งเลวร้ายลงทุกที ขณะที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของโควิด-19 วันนี้ประชาชนทุกระดับต่างได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า

นายสมพงษ์กล่าวอีกว่า ประเด็นปัญหาหลักที่พรรค พท.จะเร่งให้ความสำคัญ มี 3 เรื่องหลักคือ 1.การแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ 2.การร่วมขับเคลื่อนกับเครือข่ายทุกภาคส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับ เริ่มจากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ 3.การแก้ไขปัญหาทางด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ สร้างรากฐานการพลิกเปลี่ยนประเทศในระยะยาว

แบ่งงาน10ด้านให้กก.บห.

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า พรรคให้ความสำคัญในการเร่งมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้กรรมการบริหารพรรค เพื่อเริ่มทำงานให้ทันกับความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเบื้องต้นได้แบ่งคณะทำงานเป็น 10 คณะ ดังนี้ 1.คณะทำงานกิจการสภาผู้รับผิดชอบ ประกอบด้วย หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และประธานวิป 2.คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรค มาช่วยกันรับผิดชอบ 3.คณะทำงานด้านนโยบายและวิชาการ ผู้รับผิดชอบมีนายนพดล ปัทมะ เป็นหลัก 4.คณะทำงานด้านการสื่อสารการเมือง และกองโฆษก ผู้รับผิดชอบ คือนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรค และน.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรค

ลั่นพร้อมเลือกตั้งทุกระดับ

5.คณะทำงานด้านการพัฒนาฐานสมาชิก ผู้รับผิดชอบ คือนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ผู้อำนวยการพรรค 6.คณะทำงานพัฒนาพื้นที่เลือกตั้ง ผู้รับผิดชอบคือหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค โดยจะจัดแบ่งโซนภาคเพื่อบริหารจัดการเขตเลือกตั้ง 7.คณะทำงานบริหารและพัฒนากิจการพรรค ผู้รับผิดชอบคือ เลขาธิการพรรค และผู้อำนวยการพรรค 8.คณะทำงานด้านกฎหมายผู้รับผิดชอบ คือนายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. 9.คณะทำงานด้านต่างประเทศผู้รับผิดชอบ คือ นางนลินี ทวีสิน และ 10.คณะทำงานเครือข่ายและแนวร่วมกลุ่มวิชาชีพต่างๆ ผู้รับผิดชอบ คือ หัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค

นอกจากนี้ ในประเด็นเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคเตรียมตั้งคณะอำนวยการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับ ซึ่งหัวหน้าพรรคจะเป็นประธาน เพื่อให้พร้อมทำงานทันทีที่มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งท้องถิ่น และเร็วๆ นี้ พรรค พท.จะร่วมกับประชาชน ช่วยกันหาวิธีรับมือมหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่กำลังมาถึง พบกับทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ในงานเพื่อไทย Talk เรื่อง คิดใหม่ ทำใหม่ กู้มหาวิกฤตเศรษฐกิจไทย ในวันที่ 21 ตุลาคม

ใช้ส.ส.พิจารณาตัวผู้สมัคร

เมื่อถามว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นได้มีการพูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเรื่องการส่งตัวผู้สมัครหรือไม่ นายสมพงษ์กล่าวว่า คงจะมีการพูดคุยเพื่อหารือกันเท่านั้น ซึ่งต่างคนต่างก็ต้องส่งกันไป เพราะต่างคนต่างก็อยากทำพื้นที่ของตัวเอง พรรคจะพยายามส่งให้ได้ทุกจังหวัด แต่ต้องดูปัจจัยด้วยเพราะไม่ได้มี ส.ส.ทุกจังหวัด ก็ต้องดูความพร้อม เนื่องจากเวลาเหลือน้อย ทั้งนี้ทางผู้บริหารของพรรค พท.จะแบ่งกำลังกันลงไปช่วยหาเสียงด้วย

เมื่อถามว่า พรรค พท.จะส่งผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นทุกเขตหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า สำหรับในจังหวัดที่มี ส.ส.ของพรรค ให้ ส.ส.เป็นผู้เลือกว่าจะส่งใคร โดยให้ยื่นเป็นมติมา แต่หากมีความเห็นไม่ตรงกันก็ให้ส่งในนามอิสระ