‘ครูทิว’ ลั่น พร้อมเคียงข้างเด็ก กระตุ้นจรรยาบรรณ เพิ่มหลักมนุษย์ อย่าให้ ‘ระบบราชการ’ กลืนกิน

‘ครูทิว’ ลั่น พร้อมเคียงข้างเด็ก กระตุ้นจรรยาบรรณ เพิ่มหลักมนุษย์ อย่าให้ ‘ระบบราชการ’ กลืนกิน

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่หน้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แขวงสวนหลวง กรุงเทพฯ “กลุ่มเกียมพัฒนาประชาธิปไตย” จัดกิจกรรม “ชมพูพันธุ์ทิพย์แตกกิ่งใบ ประชาธิปไตยจะผลิบาน”

เวลา 16.42 น. ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือครูทิว ครูวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนวัดธาตุทอง ผู้ก่อตั้ง เพจครูขอสอน ขึ้นเวที โดยขอชื่นชมสรรเสริญนักเรียนที่ปราศรัยว่าชัดเจน ตรงประเด็น หลังจากที่พูดเตรียมอุดม และขึ้นเวทีหน้ากระทรวงศึกษาธิการ ถามว่าหวั่นใจหรือไม่ ด้วยความเป็นข้าราชการครูก็กลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่เมื่อคำนวณราคาที่ต้องจ่ายแล้ว พบว่าคุ้มที่จะเสี่ยง มีผู้ใหญ่บางท่านด้วยความเป็นห่วง บอกเลิกไปพูดได้แล้ว มีแต่เด็กไม่ดี ไม่ตั้งใจเรียนไปให้ท้าย ผู้ใหญ่ก็จะมองไม่ดี จะเพ่งเล็ง อยากบอกว่าเพ่งก็เพ่งไป ก็ฟังบ้างที่พูดว่าต้องการจะสื่ออะไร แล้วแก้ปัญหาสักที พอบอกว่านักเรียนที่มาชุมนุมไม่ตั้งใจเรียน เตรียมอุดม บดินทร์เดชา ถามว่าถ้าเขาไม่ตั้งใจเรียนจะมาอยู่โรงเรียนพวกนี้ได้อย่างไร ไม่ได้ฟังแล้วไปตัดสินได้อย่างไร เป็นผู้ใหญ่แบบไหนกัน ฟังแล้วหงุดหงิดใจแทน การที่มาอยู่ตรงนี้ ที่ยอมแลก เพราะต้องการลดช่องว่าง สร้างความเข้าใจให้ครูเข้าใจเด็กมากขึ้น เด็กเขาเข้าใจพวกเราอยู่แล้ว ทำไมผู้มีวุฒิภาวะมากกว่าไม่ฟังเขาบ้าง

ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ กล่าวว่า ปัญหาที่เราเจอ ที่เด็กเรียกร้องต้องการคืออะไร เรามองข้ามความวุ่นวาย ทะลุความก้าวร้าว มองถึงแก่นสารที่เด็กเรียกร้องว่าเขาต้องการสื่อสารอะไร ด้วยวุฒิภาวะที่ว่าเข้าใจมากกว่า อาบน้ำร้อนมาก่อน เข้าใจว่าผู้ใหญ่หลายคนอยู่กับความเคยชิน หากไม่มีครูคนไหนกล้ามายืนเคียงข้างพวกเขา ผมขอยืนเคียงข้างแทน

ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ กล่าวว่า ระบบการศึกษาและระบบราชการ เมื่อเช้านี้ กลุ่มคุณครูที่โรงเรียน เตรียมไปสอน เรียกให้ดูโปสเตอร์งานวันนี้ ถามว่า LGBT คืออะไร ทั้งที่เป็นครูสุขศึกษา ดีใจที่อย่างน้อยเขาเรียกไปถาม พยายามทำความเข้าใจ

“สิ่งที่เราเรียกร้อง หลายคนบอก เป็นเด็กจะไปรู้อะไร เลิกคิดแบบนี้เถิด บางเรื่องเด็กรู้กว่าเรา ฟังเขา และเรียนรู้จากเด็ก ไม่มีใครอยากก้าวร้าว แต่เรามักจะเจอเสมอ ที่พ่อแม่มักบอกว่า ‘พูดดีๆ ไม่ฟังใช่ไหม’ อยากให้ผู้ใหญ่เข้าใจ ถึงเวลานี้ถึงยุคที่เด็กเขาพูดบ้างแล้ว เมื่อเขาพูดดีๆ ฟังเขา อย่าตัดสินและลดทอนคุณค่าเขา ความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งคือ กระทรวงมีคำสั่งให้เขตพื้นที่และโรงเรียนฟังความคิดเห็น แต่การฟังความเห็นต้องรอคนส่งด้วยหรือ คำสั่งนี้ สะท้อนระบบราชการไทย ว่า 1.ระบบราชการไทยไม่เคยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนของนักเรียนและครู และกลัวอะไรก็ตามที่คิดว่าจะควบคุมไม่ได้ ให้เราทำแต่หน้าที่

“30 กันยา วันเกษียณอายุราชการ สิ่งที่มักได้ยินคือ เดี๋ยวพี่เกษียณคงมีความสุข หน้าตาแจ่มใส ถ้าการศึกษาดีจริง ครูที่ทำงานอยู่ทุกขณะไม่มีความสุขเลยใช่หรือไม่ ทำไมต้องรอมีความสุขหลังวัยเกษียณ สะท้อนใจว่า หากครูไม่มีความสุขแล้วไปสอน ดูแลนักเรียน ใกล้ชิดนักเรียนที่สุด แล้วนักเรียนจะมีความสุขได้อย่างไร มีหลายอย่างที่น่าจะเข้าใจได้ ระบบราชการ จากคำสั่ง นโยบาย เป็นแบบรวมศูนย์ พ.ร.บ.การศึกษา 2542 หากกระจายอำนาจแล้วจริง ทำไมเรามีปัญหา นักเรียนยังไปประท้วงที่กระทรวงอยู่ แสดงว่าไม่เคยมีการกระจายจากส่วนกลาง ซึ่งรัฐไม่เคยไว้ใจ ในครูและนักเรียน เลย

“ระบบนี้มองเราเป็นแรงงาน แต่ไม่ให้ครูเป็นแรงงาน กล่าวคือ มองทุกอย่างเป็นสินค้า ครูแค่พนักงานที่จงรักภักดี คอยทำตามที่ผู้บริหาร คณะกรรมการ ให้ทำ โดยเฉพาะการแข่งขันให้โรงเรียนมีคุณภาพ แต่คุณภาพดีดูได้จากตัวเลขไม่กี่หลัก ของโอเน็ต นั่นไง

“ครูเหมือนคนดูแลฟาร์ม ต้องคาดคั้นผลผลิตจากสัตว์ต่างๆ ในฟาร์ม เหมือนครูในโรงเรียนที่ไม่เคยถามว่านักเรียนต้องการจะเรียนอะไร เป็นอะไร บอกแค่ให้เราอดทน ระบบราชการทำให้เรามักง่าย ทำอะไรก็ตามด้วยวิธีการง่ายๆ ส่วนใหญ่จัดล็อกไว้แล้วว่า ห้องนี้เรียนวิชาเพิ่มเติมอะไร ทั้งที่เด็กในห้องมีความหลากหลาย ถามว่าทำไมไม่เปิดให้โอกาสเด็ก ‘มันวุ่นวาย จัดอย่างนี้เลย ง่ายดี'” ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ กล่าว

ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ประเด็นต่อมา ทรงผม เคยทะเลาะกับที่โรงเรียนเก่ามาก่อนว่าเราให้โอกาสได้หรือไม่ บอก ‘มันตรวจยาก ตัดเกรียนเดินผ่านก็รู้ได้เลย ลองทรงต้องคอยไปวัด ครูบางคนก็มาตรฐานไม่เท่ากัน’ ระบบราชการต้องการความง่าย สวยงาม เรียบร้อยเท่านั้น แล้วความเป็นมนุษย์ไม่สำคัญเลยหรือ


“รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ระบุไว้ว่า การจัดการศึกษาจะต้องเป็นไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่การศึกษาที่ไม่ให้เราได้เลือกทำตามความฝัน กดขี่ ควบคุม การศึกษาที่ลิดรอนสิทธิ ร่างกาย เนื้อตัว ทำให้ธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความฝันอันแตกต่าง ต้องมาทำอะไรดีที่เหมือนๆ กัน เพื่อความเป็นระเบียบ แล้วการศึกษาจะทำให้เราเป็นมนุษย์ได้อย่างไร เมื่อลดทอนความเป็นมนุษย์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อยู่กับความเคยชิน โดยที่ไม่เคยตั้งคำถามกับมันเลย อย่าให้ระบบราชการกัดกิน กลืนเราไป

“เชื่อว่ามีหลายคนที่คิดเหมือนผมเลือกมาเป็นครูเพราะตั้งใจจริง  เพราะคำพูดของเนลสัน แมนเดลา ที่บอกว่า อาวุธที่ทรงพลังที่สุดที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ คือ การศึกษา วันนั้นที่เลือกมาทำ เพราะอยากเปลี่ยนแปลงให้ดีกว่านี้ แต่สิ่งที่พบเจอ และครูหลายคนกำลังเป็นอยู่ คือการศึกษาที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพื่อความเจริญงอกงาม แต่เพื่อการปกคลุม ครอบครอง ผลิตซ้ำ รีบใช้อำนาจและทุน” ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ กล่าว

ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ไม่สามาถโทษครูได้อย่างเดียว หากระบบยังเป็นแบบนี้ ตอนนี้นักเรียนเป็นเป็นพลเมืองตื่นรู้ พอเข้าตื่นรู้ ออกมาพูด ก็มาปิดปาก ปิดประตูใส่เขา ไม่ให้ส่งเสียง คนเป็นครูเราต้องการสร้างนักเรียนอย่างไร เราต้องเป็นอย่างนั้น

“ครูทั้งหลายจงตระหนักในความเป็นพลเมือง อย่าให้ระบบราชการมาคอยบีบคอคุณ อย่าให้ห้มายาคติหลายอย่างทำให้ๆ ต้องก้มหน้าก้มตา ลืมความเป็นมนุษย์ จงตื่นเถิดครู กล้าลุกมาตั้งคำถามว่าอะไรคือสิ่งผิดปกติ อะไรคือเป้าหมายที่เราอยากไปถึง วิพากษ์อย่างผู้มีความรู้ อย่างที่ครูมักอ้างกัน มีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์นำ และเปลี่ยนแปลงให้ระบบการศึกษาดีขึ้น หากยังไม่ตระหนักว่าการศึกษาคือการปลดปล่อย เปลี่ยนแปลง คือความเจริญงอกงาม หากแต่ยังใช้อำนาจผลิตซ้ำ รับใช้ทุน ไม่เคยชวนนักเรียนตั้งคำถาม ครูจงลุกมาเปลี่ยนแปลง ยืนหยัดบนหลักการที่แน่นหนา ตั้งคำถาม หากไม่ลุกขึ้นมาเคียงข้างนักเรียน ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง มองไปยังอนาคต คุณคือส่วนหนึ่งของปัญหา จนถึงวันที่คุณเกษียณ จรรยาบรรณครู ไม่มีท่อนไหนพูดถึงหลักสิทธิมนุษยชนเลย ขอให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชนด้วย ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ กล่าว

 

https://matichonbook.com/promotion/index?fbclid=IwAR2PPZDuIKyX_8g8GX9NFI6D-ODOrp6jJgsD-yiA2QMFtFZ8pBkonejgk9s