รำลึก 44 ปี 6 ตุลา 19 จัดใหญ่! ทั้งกิจกรรม-นิทรรศการ AR ให้คนรุ่นใหม่สัมผัสเหตุการณ์จริง

เมื่อวานนี้ (25 กันยายน 2563) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความสิทธิมนุษยชนและสมาชิกกลุ่มโดมรวมใจ กลุ่มศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลา ได้ออกมาเปิดเผยว่า การจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 44 โดยปีนี้จะจัดงานใหญ่ขึ้นและนานกว่าหลายปีก่อน โดยในส่วนนิทรรศการจะมาการจัดภายในโถงหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเดือนตุลาคม 2516-2519 และยังมีนิทรรศการเสมือนจริงแบบ AR ที่ให้คนรุ่นใหม่ส่องผ่านแอพซึ่งจะฉายภาพเหตุการณ์จริงตรงจุดนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยนิทรรศการจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 25 ตุลาคม 2563 เพื่อให้สาธารณชนได้มีโอกาสศึกษาเรื่องราวที่เกิดขึ้นแต่ถูกพูดถึงน้อยมากในสังคมไทยวงกว้าง

นายกฤษฎางค์กล่าวอีกว่า ในส่วนของกิจกรรมใหญ่ จะมีตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 4 ถึงวันอังคารที่ 6 ตุลาคม ซึ่งมีกลุ่มองค์กรเคลื่อนไหวส่งเสริมประชาธิปไตยหลายกลุ่มเข้าร่วมจัดครั้งนี้ ไม่ว่า สถาบันปรีดี พนมยงค์ คณะทำงานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) กลุ่มผู้หญิงปลดแอก คณะทำงานคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เครือข่่ายเดือนตุลาฯ 2519 ที่มาจัดทั้งงานเสวนา ฉายหนัง กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะจัดกันในหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

สำหรับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 หรือเป็นที่รู้จักกันในล่าสุดตามเทรนด์ทวิตเตอร์คือ วันสังหารหมู่ธรรมศาสตร์ เป็นการนองเลือดทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ที่ทางการกล่าวถึงน้อยมากและมีเพียงกลุ่มผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์รวมถึงผู้สนใจเหตุการณ์นี้จะจัดงานรำลึก ผิดกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 ที่มีการรำลึกกันอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม กระแสการศึกษาลงเมืองไทยอย่างจริงจังในกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ ได้เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลแบบแฟลชม็อบของคนหนุ่มสาวทั้งระดับมหาวิทยาลัยและมัธยม และการออกมาตอบโต้ของมวลชนขวาจัดที่ออกมาข่มขู่ปราบการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของคนรุ่นใหม่ อาจซ้ำรอยกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แทนที่จะสร้างความกลัวเพื่อลดทอนพลังการเคลื่อนไหว กลับยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่เข้าไปศึกษาแบบลึกซึ้งซึ่งโรงเรียนทางการในไทยบรรจุเนื้อหาเหตุการณ์สังหารหมู่นี้น้อยมาก จนเกิดเทรนด์ทวิตเตอร์ในเวลาต่อมาคือ #สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ และออกมาแชร์การศึกษาค้นคว้ามาไม่ว่าบุคคลที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์แวดล้อม และภาพเหตุการณ์ที่ไม่เคยที่ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน เพื่อแสดงให้เห็นว่า ความรักชาติรักสถาบันนำไปสู่การกระทำอันผิดต่อมนุษยธรรมขนานใหญ่ได้อย่างไร