สมาคมทนายฯ ยกคำวินิจฉัยศาลรธน. กรณีกปปส. เทียบม็อบปลดแอก ยันชอบด้วยกฎหมาย

นายกสมาคมทนายความ ยกหลักคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการชุมนุม กปปส. เทียบม็อบประชาชนปลดเเอก ยันชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก นักเรียน และนักศึกษา ในวันที่ 19 ก.ย. เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3.ยุบสภาภายใต้กติกาที่เป็นประชาธิปไตย

นายนรินท์พงศ์ ระบุว่า มีผู้กล่าวหาว่า จะเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดรัฐธรรมนูญ นั้น สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงว่า การชุมนุมทางการเมืองของประชาชนในอดีต เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นบรรทัดฐาน คือ กรณี ในปี 2556 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกลุ่ม กปปส. ได้ชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน

โดยมีการปิดเส้นทางจราจรบนถนนราชดำเนินจากแยกสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปจนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการเคลื่อนขบวนปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ รวมทั้งได้ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล โดยประกาศผ่านสื่อมวลชนว่า จะยึดอำนาจการปกครองให้กลับมาเป็นของประชาชน เพื่อจะได้เปลี่ยนแปลงประเทศ

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย โดย นายกิตติ อธินันท์ กรรมการฯ เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การชุมนุมของนายสุเทพฯ กับพวกดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2550) มาตรา 3 และ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง และเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย


ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีตามคำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย นั้น

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงเห็นว่า ในการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอก นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นการต่อต้านเผด็จการ เพื่อเรียกร้องให้ “หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ ยุบสภา” โดยประชาชนจำนวนมากที่ไม่ไว้วางใจการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา และการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ นั้น

เป็นการชุมนุมและใช้สิทธิเรียกร้องตามเสรีภาพที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธแล้ว ย่อมต้องได้รับความคุ้มครองทั้งตามหลักกฎหมายสากล รัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นบรรทัดฐาน กรณี กปปส. ไว้ เช่นเดียวกัน

สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย จึงขอให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เคารพการใช้สิทธิเสรีภาพของกลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนี้ เฉกเช่นเดียวกันกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เคยเรียกร้องทางการเมืองในอดีตทุกกลุ่มโดยเสมอภาค