‘นิพิฏฐ์’ ชี้หัวใจของ ปชต.คืออดทน อดกลั้น ฟังคนอื่นในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย

‘นิพิฏฐ์’ ชี้หัวใจของ ปชต.คืออดทน อดกลั้น ฟังคนอื่นในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย

ประชาธิปไตย – เมื่อวันที่ 13 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กชื่อ “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” ข้อความว่า

หัวใจของประชาธิปไตย คือ เสรีภาพในการพูด และความอดทน อดกลั้น ฟังเรื่องที่คนอื่นพูดในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย และสุดท้ายหลังจากเราอดทน-อดกลั้น ฟังสิ่งที่เขาพูดจนจบแล้ว เราก็จะลงมติไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด หัวใจของประชาธิปไตยมันมีแค่นี้แหละครับ เรื่องเสรีภาพในการพูดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในบรรดาเสรีภาพทั้งหลาย ในขณะเดียวกัน ผู้พูดก็ต้องยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการพูดของตน เรื่องเสรีภาพในการพูดนี้ถึงกับมีนักปรัชญาวางหลักไว้ว่า “ข้าพเจ้ายอมเสียสละชีวิตให้ท่านได้พูดในสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย”

-บททดสอบวัฒนธรรมประชาธิปไตยมีหลักง่ายๆ แค่นี้แหละครับ แต่เป็นเรื่องง่ายที่ปฏิบัติได้ยาก/

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านั้น นายนิพิฏฐ์ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

ไม่ง่ายครับ ที่จะคุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญต่างกับกฎหมายธรรมดา เพราะรัฐธรรมนูญมีอุดมคติของประชาธิปไตย และอุดมคติแห่งรัฐอยู่ในนั้นด้วย ถ้าเราไม่ทราบอุดมคติแห่งประชาธิปไตย และอุดมคติแห่งรัฐ ก็ยากที่จะคุยกันรู้เรื่อง เริ่มต้นก็ล่ารายชื่อคนแก้ และคนไม่แก้รัฐธรรมนูญกันแล้ว มันก็ขัดแย้งกันอย่างนี้แหละ เราไม่เคยตกผลึกในเรื่องรัฐธรรมนูญ เราใช้รัฐธรรมนูญเปลืองมากที่สุดในโลก ถามว่า รัฐธรรมนูญปี 40, 50, 60 ต่างกันอย่างไร มีข้อดีขัอเสียอย่างไร ถ้าเราไม่รู้ เราก็ไปไม่ถูกหรอก ก็ไปตายเอาดาบหน้ากันอีก การจะรู้ว่าทำไมรัฐธรรมนูญ 40, 50, 60 เป็นอย่างนั้น ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้นในประเทศ ถ้าเราไม่รู้ประวัติศาสตร์ เราก็ให้เหตุผลไม่ถูกหรอก

ที่กล่าวว่า รธน.ปี 40 เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ก็ต้องรู้ประวัติศาสตร์ว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศมีประชาธิปไตยสูงสุด ต้องยกความดีให้รัฐบาลชวน และรัฐบาลบรรหาร ที่เป็นผู้ก่อกำเนิดให้มีรัฐธรรมนูญ ปี 40 แต่การจะให้ประชาชนรู้รายละเอียดมันยากมาก เพราะประชาชนต้องทำมาหากิน ประชาชนจึงต้องมีผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนตัดสินเรื่องนี้ให้ ปัญหาคือ ผู้แทนราษฎรของเรา รู้เรื่องเหล่านี้ดีพอที่จะตัดสินใจแทนประชาชนหรือไม่ คนนอกวงการอย่างเราก็ได้แต่นั่งดู ดูให้สนุกครับ ดูกึ๋นผู้แทนของเราว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

– เวลาพูดถึงผู้แทนราษฎร บางคนก็ด่าว่าผู้แทนราษฎรแบบสาดเสียเทเสีย ผมนี่ไม่ด่าผู้แทนราษฎรนะ ผมให้กำลังใจเสียด้วยซ้ำ เพราะผู้แทนราษฎรของเรา เราไม่ได้ไปขุดเขาออกมาจากโพรงไม้ แต่เราเดินเข้าไปในคูหาแล้วไปเลือกเอาตามที่เราชอบ เหมือนเราไปเลือกสินค้าอย่างไรอย่างนั้น ผู้แทนราษฎรจึงเป็นสินค้าส่งออกของชุมชนของเรา ผู้แทนเป็นอย่างไรประชาชนก็เป็นอย่างนั้นแหละ ไม่มีทางที่ผู้แทนจะดีกว่า หรือเลวกว่าประชาชน ด่าผู้แทนของเรา ก็เหมือนเราด่าตัวเราผู้ผลิตสินค้าส่งออกของเรานั่นแหละ

– หาอุดมคติของประชาธิปไตย และอุดมคติแห่งรัฐให้เจอ เราก็จะผลิตรัฐธรรมนูญที่ดีได้ ถ้าเราเลิกด่าคนอื่น หันมาด่าตัวเองเสียบ้าง นั่นเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องครับ/