แนะรัฐจ้าง น.ศ.จบใหม่แทนแจก 5 พัน | “อุตฯ” หวังเจรจาหาข้อยุติเหมืองอัครา | คลังไฟเขียวยืดจ่ายภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง

แฟ้มข่าว

“อุตฯ” หวังเจรจาหาข้อยุติเหมืองอัครา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ กรณีที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ที่ฟ้องร้องรัฐบาลไทยกรณีสั่งระงับการประกอบการกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศ ทำให้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ต้องระงับการประกอบกิจการไปตั้งแต่ปี 2560 ว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมยังคาดหวังที่จะใช้แนวทางเจรจาหาข้อยุติก่อนที่ศาลอนุญาโตตุลาการ จะมีคำตัดสินออกมา โดยกำชับให้คณะทำงานเจรจาทำทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบมากที่สุด

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการไต่สวนของคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดได้ ยืนยันว่า คณะทำงานเจรจา ประกอบด้วยหลายฝ่าย อาทิ ทีมผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ทีมทนายความ และผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างชาติกว่า 20 คน ทำทุกอย่างเต็มที่ ด้วยความรอบคอบ รัดกุม คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและประชาชน

คลังไฟเขียวยืดจ่ายภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเรียกเก็บและการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปีภาษี 2563 ซึ่งเดิมต้องชำระภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 นั้น การเรียกเก็บและการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ การส่งใบประเมินเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปยังเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในกรณีที่ตรวจสอบใบประเมินดังกล่าวแล้วพบว่าถูกต้อง ผู้เสียภาษีค่อยไปชำระภาษี ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายช่องทาง เช่น สำหรับกรุงเทพมหานครสามารถชำระที่เคาน์เตอร์ธนาคาร หรือผ่าน QR code ของระบบ Online Banking ในท้ายใบประเมิน หรือที่สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ส่วนในต่างจังหวัดสามารถชำระได้ที่สำนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือตามช่องทางอื่นที่กำหนด ส่วนประชาชนไม่ได้รับใบประเมินเรียกเก็บภาษี หรือท้องถิ่นขยายหรือเลื่อนกำหนดเวลาในการชำระภาษีออกไป ประชาชนก็จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งในขณะนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานครได้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษีออกไปแล้ว

ถาวรชงผลสอบบินไทยให้ ป.ป.ช.-บิ๊กตู่

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งประสบปัญหาและตกอยู่ในสภาวะขาดทุน ตามคำสั่งกระทรวงที่ 302/2563 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 โดยได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดย่อย 6 คณะ เพื่อตรวจสอบการทุจริตในด้านการเงินและบัญชี การขายตั๋วโดยสาร ฝ่ายช่าง คลังสินค้า ครัวการบินไทย และการบริหารกิจการของบริษัทการบินไทย มีการประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง โดยคณะทำงานมีเวลาตรวจสอบเป็นเวลา 43 วัน ก่อนที่การบินไทยจะพ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจแบบเด็ดขาด โดยคณะทำงานได้รวบรวมข้อมูลที่ได้รับจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง จากผู้ที่เกี่ยวข้องภายในบริษัทและผู้มาให้ข้อมูลทั้งหมด ทั้งแบบเปิดเผยตัวตนและไม่เปิดเผยตัวตน รวมกว่า 100 คน โดยนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดส่งต่อให้กับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีอำนาจควบคุมการบินไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อทราบและดำเนินการแก้ไขต่อไป โดยสรุปคือ การบินไทยขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 5 ปี แผนฟื้นฟูทำแล้วทำอีกก็ยังไม่สามารถหยุดภาวะการขาดทุนได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

แนะรัฐจ้าง น.ศ.จบใหม่แทนแจก 5 พัน

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้มีการเสนอแนะไปแล้วหลายเรื่อง อาทิ เรื่องการจ้างงาน ได้เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนภาคเอกชนในเรื่องของการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ เป็นระยะเลา 1 ปี แทนวิธีการแจกเงิน 5,000 บาท มองว่าถ้านำเงินงบประมาณในส่วนดังกล่าวมาจ้างงานเด็กจบใหม่อย่างน้อย 1 ปี น่าจะสร้างประโยชน์ให้มากกว่า นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังยินดีให้นักศึกษาเข้ามาฝึกงานในองค์กรเป็นเวลา 1 ปีเพื่อเป็นการเพิ่มประสบการณ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีงานรองรับหลังเรียนจบให้กับนักศึกษาอีกด้วย ส่วนอีกหนึ่งเรื่องที่ทางภาคเอกชนได้นำการเสนอไปแล้วคือมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงาน ด้านประกันสังคม นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนฐานราก เรื่องการออกมาตรการช่วยผ่อนบ้านหลังแรกอย่างน้อย 3 เดือน รวมถึงช่วยค่าน้ำ ค่าไฟให้กับประชาชนฐานราก และผู้ประกอบการรายเล็ก หรือไมโครเอสเอ็มอี

รวมทั้งต้องการผลักดันให้เกิดการจ้างงานแบบรายชั่วโมงเพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุและแม่บ้าน โดยกำหนดให้มีการจ้างงานอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้เกิดรายได้เลี้ยงชีพต่อไป