“เฉลิม” ร่อนแถลงการณ์ 3 ข้อทางออกประเทศ จำเป็นต้องเลิกใช้รธน.ปัจจุบัน

วันที่ 7 สิงหาคม 2563 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์เสนอทางออกประเทศไทย มีใจความสำคัญว่า 1.ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 60 ทันที 2.ให้นําเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้บังคับเป็นการชั่วคราวทันที 3.นายกรัฐมนตรีต้องประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน โดยเป็นการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 40

จากนั้นจึงมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ถาวรต่อไป เพื่อให้เป็นรูปธรรมที่สามารถปฏิบัติได้จริง
โดยตนจะได้เสนอให้สมาชิกพรรคร่วม ฝ่ายค้านพิจารณาเห็นชอบใน 3 ข้อดังกล่าว โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 63 ซึ่งจะมีเพียง 3 มาตราดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีเนื้อความยุ่งยากใดๆ พิจารณาเพียง 3 วันก็แล้วเสร็จ จากนั้นก็จะนําส่งให้ผู้นําฝ่ายค้านนําขึ้นกราบบังคมทูลทรงพระราชวินิจฉัยประกาศใช้ต่อไป

ทั้งนี้ทราบดีว่า ข้อเสนอของตนจะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้านและสนับสนุนอย่างหลากหลาย และกว้างขวาง ซึ่งตนก็ประสงค์เช่นนั้น และยินดีอย่างยิ่งที่จะมีนักวิชาการ นักการเมือง นักประชาธิปไตย นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนออกมาแสดงความเห็น ต่อข้อเสนอนี้ โดยตนขอยืนยันว่าหากเราจะได้ใช้สติไตร่ตรองให้ดีแล้วจะพบว่าประวัติศาสตร์ชาติไทย ได้ถูกบันทึกว่า รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ เมื่อได้ใช้ไประยะหนึ่งก็มักจะถูกยกเลิกโดยวิธีฉีกทิ้งด้วย การปฏิวัติรัฐประหารเสมอๆ ดังเช่น เมื่อ คสช. ปฏิวัติก็ได้ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเช่นกันแล้ว คสช.ก็ใช้ บทบาทที่ไม่มีกฎหมายใดรองรับเลย เสนอประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2557 เป็นการชั่วคราว เช่นกัน แม้ว่าบ้านเมืองขณะนี้วิกฤตยิ่งกว่าก่อนการปฏิวัติเมื่อปี 2557 แต่ตนก็ไม่ส่งเสริม ให้มีการปฏิวัติเพื่อฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญนี้อีก แต่การออกใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันทีเพื่อยกเลิก ฉบับปี 60 นี้แล้วนําเอาฉบับปี 40 มาใช้ก่อนเป็นการชั่วคราวแล้วจัดการเลือกตั้ง สามารถกระทําได้ทันที

แถลงการณ์ระบุอีกว่า หากจะมีผู้กล่าวอ้างว่าวิธีนี้ไม่มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 60 ขอเรียนว่า ถูกต้อง เพราะมีแต่บทบัญญัติเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นความจริงที่ไม่มีบทบัญญัติ ว่าด้วยการออกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม กรณีจึงเป็นที่แน่ชัดว่าไม่มี บทบัญญัติเขียนให้กระทําได้ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้กระทํา ซึ่งย่อมต้องถือว่ากระทําได้ เพราะได้มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นี้ ไว้ในมาตรา 5 วรรคสองว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข”

ดังนั้นการที่ตนจะดําเนินการร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านจนในที่สุดเสนอให้ท่านผู้นําฝ่ายค้านในรัฐสภานําร่างรัฐธรรมนูญใหม่ปี 63 ที่มีเพียง 3 มาตรา ขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงพระบรมราชวินิจฉัยประกาศใช้ จึงเป็นสิ่งที่พึงกระทําได้ โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 5 และแน่นอนที่สุดย่อมเป็นวิธีการที่ดีกว่าและชอบธรรมกว่าการปฏิวัติแล้วฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญดังที่เมื่อปี 57 ที่คสช.ได้กระทําไป ซึ่งตนเชื่อว่าประชาชนจํานวนมากเช่นกันที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีของ คสช. ที่กระทําไปเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญดังกล่าว

“ข้าพเจ้าตระหนักดีและมั่นใจว่า ข้อเสนอของข้าพเจ้าดังกล่าวมานี้จะได้รับการสนับสนุน จากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะนักเรียน นิสิต นักศึกษาและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้อง ประชาชนทุกคน ซึ่งท่านมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งตัวแทนของท่านให้มาบริหารประเทศชาติ และในที่สุดแล้วพวกเราทุกคนก็จะช่วยกันนําพาประเทศชาติบ้านเมืองให้พลิกฟื้นฟันฝ่าอุปสรรค ทั้งปวง ให้ประเทศไทยกลับเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและทุกคนอยู่ดีกินดีได้อย่างแท้จริงโดยเร็วที่สุด” ร.ต.อ.เฉลิม ระบุ