เอกชนประเมินอีก 3ปีเศรษฐกิจไทยฟื้น รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดฮวบเหลือแค่ 2%

เอกชน ประเมินอีก 3ปีเศรษฐกิจไทยฟื้น รายได้นทท.ต่างชาติลดฮวบเหลือ 2%

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างลำบาก และเป็นไปแบบกระท่อนกระแท่น เนื่องจากภาคธุรกิจกำลังประสบปัญหาค่อนข้างมาก เพราะไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาสัดส่วนรายได้ และอุปสงค์จากต่างประเทศสูงมาก โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่คาดการณ์ว่าจะติดลบ 10% ซึ่งการส่งออกไทยคิดเป็นประมาณ 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ทำให้หากวิเคราะห์การหายไปของจีดีพีจะอยู่ที่ 5% เฉพาะการส่งออกเท่านั้น แต่หากรวมภาคการท่องเที่ยว ที่นับสัดส่วนการเข้ามาของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ คิดเป็น 12% ของจีดีพี ซึ่งการเกิดโควิด-19 ส่งผลกระทบ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ไม่นับการอนุญาตให้เข้ามาได้ของต่างชาติที่มีความจำเป็น แต่ต้องกักตัว 14 วัน

ซึ่งการปิดไม่ให้ต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่าจะทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือเพียง 2% จากที่เคยทำได้กว่า 12% เท่านั้น ประกอบกับการท่องเที่ยวหรือการทำกิจกรรมต่างๆ ในประเทศของคนไทย ยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ 100% เพราะถูกย้ำว่าการ์ดห้ามตก ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศที่คิดเป็น 8% ของจีดีพี จะหายไปอีก 4% รวมตัวเลขจีดีพีที่หายไปทั้งหมดอยู่ที่ 19% การที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นหรือการเยียวยา ทำทุกวิถีทางออกมานั้น อาจช่วยดึงตัวเลขจีดีพีกลับมาได้สักครึ่งหนึ่งของตัวเลขที่หายไป ทำให้ประเมินว่าจีดีพีปี 2563 จะติดลบอยู่ที่ 10% และกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นได้ดีเหมือนก่อนช่วงโควิด-19 น่าจะต้องรอถึงปี 2565-2566 ภายใต้ปัจจัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

“หากพิจารณาสิ่งที่รัฐบาลทำคือ การใช้วงเงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คิดเป็นเพียง 2% ของจีดีพีรวม ซึ่งจีดีพีไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 17 ล้านล้านบาท โดยหากพยายามใส่เม็ดเงิน 4 แสนล้านบาทเข้าระบบ คิดเป็นเพียง 2% ของจีดีพีเท่านั้น แล้วถามว่าประสิทธิภาพที่ได้กลับคืนมีสูงมากหรือไม่ ซึ่งประเมินแล้วคงไม่ได้สูงมากนัก ทำให้ไม่ว่าจะคำนวณอย่างไร จีดีพีไทยก็ไปไม่ไหว” นายศุภวุฒิกล่าว

นายศุภวุฒิกล่าวว่า หากประเมินตัวเลขจากทางการที่ประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) 1 ล้านราย มีมูลค่าหนี้สินรวมอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ขึ้น ผู้ประกอบการเหล่านี้ ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติ แต่เมื่อมีโควิด-19 เข้ามา รัฐบาลได้ประกาศให้ธุรกิจปิดชั่วคราว เพื่อควบคุมการปแพร่ระบาดของไวรัส ทั้งที่ภาคธุรกิจไม่ได้ทำอะไรผิด ซึ่งแม้จะคลายล็อกดาวน์และอนุญาตให้ธุรกิจกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังไม่รู้ว่าจะจบลงได้เมื่อใด รวมถึงปัจจัยภายนอกก็ไม่ได้ดี จึงมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) วงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ควรต้องปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีเพิ่มมากขึ้น หรือปล่อยเต็มวงเงิน ไม่ใช่ปล่อยออกมาได้ไม่ถึงครึ่งของวงเงินรวม เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถก้าวข้ามภาวะวิกฤตไปได้อย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้น มีสภาพคล่องในการขับเคลื่อนธุรกิจ และสามารถจ้างแรงงานได้ต่อไป