‘ส.ส.ก้าวไกล’ โต้ ‘วิษณุ’ อย่าอ้างไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วทำงานลำบาก

‘ส.ส.ก้าวไกล’ โต้ ‘วิษณุ’ อย่าอ้างไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วทำงานลำบาก

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึง กรณีการให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า จะมีการประกาศต่อหรือจะมีมาตรการออกมาในรูปแบบใดนั้น ส่วนตัวเห็นว่า ตั้งแต่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันโรคระบาดไวรัสโคโรนา มาตรการป้องกันด้านการสาธารณสุข การปิดสถานที่ป้องกันการเคลื่อนที่ของผู้คน หรือใช้อำนาจในทางที่มีผลต่อการกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะการเดินทาง ถึงตอนนี้ระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน กำลังเข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว หากวิเคราะห์ในสถานการณ์ปัจจุบันต้องถือว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้เสียชีวิตนั้นน้อยมาก และขณะนี้ก็ไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศเกิน 14 วันแล้ว อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในตอนนี้กลัวเรื่องปัญหาปากท้อง กลัวเรื่องไม่มีจะกินมากกว่าโรคติดต่อ

“ส่วนเรื่องอำนาจในทางกฎหมายนั้นที่คุณวิษณุบอกว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ หลายเรื่องไม่สามารถที่จะบริหารจัดการเหมือนอย่างการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน หรือเพราะการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ทำให้สามารถปิดสนามบินได้ หรือเพื่อควบคุมผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่งให้ฟังรัฐบาลออกมาตรการในทิศทางเดียวกันนั้น เห็นว่า ต่อให้ไม่มีอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน รัฐบาลก็สามารถสั่งการได้อยู่แล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล สั่งการผ่านยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดังนั้น ถ้าบอกว่ารัฐบาลสั่งปิดสนามบินไม่ได้ สั่งผู้ว่าฯ ให้มีมาตราการไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลไม่ได้ ก็แสดงว่านากยรัฐมนตรีไม่มีภาวะผู้นำทางการเมือง หรือบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ” นายจิรวัฒน์ กล่าว

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า การคง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เอาไว้นั้น จะสวนทางกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่ขณะนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนกับมาเกือบเป็นภาวะปกติทั้งหมดแล้ว และเท่ากับว่าสถานการณ์ปัจจุบันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตไม่ถือว่าประเทศชาติอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังมากกว่า ซึ่งหากดูคำนิยามของคำว่า ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ ตาม พ.ร.ก. ต้องถือว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมายในการประกาศใช้ แ

ต่รัฐบาลยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินการบังคับใช้ต่อ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่ากฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจรัฐมากเกินไป เกินกว่าที่ประชาชนและสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถตรวจสอบได้ เพราะการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถขอให้ศาลปกครองตรวจสอบการใช้อำนาจได้ รวมถึงไม่ต้องมีการขออนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้ต้องคิดต่อไปว่าในวาระโอกาสหน้ากฎหมายนี้ควรจะแก้ อย่างน้อยประชาชนสามารถร้องต่อศาลปกครองให้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อให้ยกเลิกได้ รวมถึง ควรได้รับการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภาเป็นคราวๆ ไป


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่