กลุ่มคนดนตรีระดมทางออก จ่อส่งคู่มือจัดอีเวนต์ให้รัฐบาล หวังปลดล็อกดนตรี

กลุ่มคนดนตรีร่วมหาทางออก เตรียมยื่นเอกสารถึงรัฐบาลหวังปลดล็อคธุรกิจดนตรี

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ห้องประชุม หอศิลป์และวัฒนธรรมกรุงเทพฯ กลุ่มคนดนตรีที่ได้จัดประชุมหารือ “ทางออก และ อนาคตธุรกิจดนตรีของไทย ในวิกฤต Covid-19 ” ที่รวมตัวกันทั้งนักดนตรีและผู้ประกอบการทั่วประเทศ โดย นายธเนส สุขวัฒน์ จาก มิวสิคกูรู ได้เผยว่าวันนี้เป็นการรวมกลุ่มของคนดนตรี ทั้งสมาคมนักร้อง สมาคมนักดนตรี สมาคมผู้ประกอบการกิจการร้านอาหาร สมาคมแสงสีเสียง รวมถึงอาชีพอิสระที่ทำงานในสายดนตรี ที่ได้รับผลกระทบจากภาคธุรกิจบันเทิงทั่วประเทศ มาร่วมหารือเพื่อบอกกล่าวไปยังรัฐบาล

“ในธุรกิจดนตรีนี้มีคนเบื้องหลังหลายแสนคน ถ้าทั่วประเทศน่าจะแตะถึงล้านคนได้เลย โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวซึ่งตรงนี้จะช่วยด้านของธุรกิจที่เราเปิดสามารถเปิดให้เขาปลดล็อคทีละภาคส่วนเล็กๆ ได้ครับ ให้นักดนตรีเขาได้ขยับตัว หรือร้านอาหารได้ทำงานหรือมีโอกาสได้หายใจ เพราะก็มีเบื้องหลังของร้านอาหารที่เป็นองค์ประกอบขึ้นมา”

นายธเนส ยังกล่าวต่ออีกว่า ทางรอดคือการนำเสนอไทม์ไลน์ เพราะภาคธุรกิจดนตรีไม่มีไทม์ไลน์ที่แน่นอนและชัดเจน เราลุ้นกันมาตลอดรอมา 3 ระยะแต่เรายังทำงานไม่ได้ แล้วนักธุรกิจต้องคำนึงถึงสายป่านว่ายาวพอไหมพี่แต่อยู่ได้ภายในระยะเวลานี้ หรือเปลี่ยนไปทำธุรกิจเสริมอย่างอื่นหรือต้องเลิกกิจการไปอย่างที่รัฐบาลบอก

ทั้งนี้ได้หาทางรอดด้วยการทำเช็คลิสต์รายการเพื่อส่งเสนอให้รัฐบาลและสาธารณสุขช่วยดูว่าข้อเสนอที่เราส่งไปว่าสามารถใช้ได้หรือไม่ และผลกระทบส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ใช้เอไอในการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งเอไอไม่เข้าใจว่านักดนตรี, การทำธุรกิจอีเวนต์คืออะไร ใส่เข้าไปก็เลยไม่ผ่าน เลยอยากเป็นภาคส่วนที่เข้าไปร่วมประชุมให้เข้าใจถึงการลงลึกในงานอย่างไร

ด้านของ นายวรพจน์ นิ่มวิจิตร ตัวแทนกลุ่ม Music Digital Content & Copyright ก็ได้เผยว่าความมั่นใจในการจัดงานหากได้รับการปลดล็อค หลังจากได้เอกสารที่ผู้เชี่ยวชาญที่จากสหรัฐอเมริกาทำขึ้นมา โดยเป็นคู่มือการจัดงาน สำหรับคนทำงาน เตรียมสถานที่ มีรายละเอียดที่ครอบคลุมตั้งแต่การจอดรถ การเตรียมรับคน ที่นั่ง และคู่มือนี้ก็ได้รับการแจกจ่ายไปทั่วโลก ซึ่งก็จะนำเอกสารชิ้นนี้เข้าไปคุยกับรัฐบาลด้วย รวมถึงจะแปลเป็นภาษาไทยและจัดทำในรูปแบบวิดีโอเผยแพร่ให้คนเข้าใจถึงการทำอีเวนต์ที่ปลอดภัยว่าทำอย่างไร

“นักดนตรีจะเป็นผู้ปฏิบัติตามคู่มือนี้ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากเดิมบ้าง เช่นการยืนบนเวทีของนักร้องนักดนตรี และคนจัดงานจะเป็นคนที่เข้ามาดำเนินการร่วมกับเจ้าของสถานที่ ที่ต้องจัดการเรื่องพวกนี้ให้เรียบร้อย ก็ต้องมาซักซ้อมทำความเข้าใจกันใหม่ว่าต้องทำอย่างไร รวมถึงผู้ที่จะเข้ามาชมว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้มีความปลอดภัย และต้องเริ่มทำจากงานเล็กๆ ก่อน”

ทางด้านของ นางสุดา ชื่นบาน นักร้องชื่อดังและ อุปนายก ฝ่ายบริหารสมาคมดนตรี กล่าวว่า อาชีพนักร้องนักดนตรีถูกมองว่าเป็นพวกไม่มีอาชีพชัดเจน อย่างเช่นเวลาตนไปเสียภาษีก็ต้องกรอกอาชีพว่า อื่นๆ ก่อนที่จะไปลงรายละเอียดว่าเป็นนักร้องนักแสดง เพราะฉะนั้นการเยียวยาเลยไม่ทราบว่าถูกมองข้ามไปได้อย่างไร

“เราไม่ประท้วงนะแต่ว่าเรางง เพราะว่าอันดับแรกที่เดือดร้อนคือพวกเรา สถานประกอบการ นักดนตรี คนทำครัวทั้งหลายทั้งปวง และรู้สึกว่าอาชีพเราจะเป็นอาชีพสุดท้ายที่ได้ทำงาน ตอนนี้เราอยากรู้ว่าสถานประกอบการจะได้ปลดล็อคเมื่อไหร่ เมื่อปลดล็อคนักร้องนักดนตรีจะได้ทำงาน”

ในส่วนของการทำงานที่อาจจะต้องเปลี่ยนไปนั้น นางสุดาก็ว่า นักร้องก็ควรมีไมค์เป็นของตัวเอง ดูแลเรื่องความสะอาดกันได้เพราะทุกคนก็กลัวที่จะติดโรคเช่นกัน เจ้าของสถานที่ก็ต้องจัดการทำความสะอาดให้เต็มที่เพื่อที่จะเปิดให้คนมาเที่ยวได้อย่างสบายใจ ทุกคนทำตามกฏของรัฐบาลทุกอย่าง

นางสุดา ชื่นบาน นักร้องชื่อดังและ อุปนายก ฝ่ายบริหารสมาคมดนตรี
นายวรพจน์ นิ่มวิจิตร ตัวแทนกลุ่ม Music Digital Content & Copyright
นายวรพจน์ นิ่มวิจิตร ตัวแทนกลุ่ม Music Digital Content & Copyright
นายธเนส สุขวัฒน์ จาก มิวสิคกูรู