ส.ว. นัดผ่านพ.ร.ก.กู้เงิน 1-2 มิ.ย. “วันชัย” ขึงขัง จี้ รบ.เข้าสภาฯ อย่าฝันเป็นของตาย โหวตให้ง่ายๆ

ส.ว. นัดผ่านพ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านๆทันที 1-2 มิ.ย. เข็น 50 คนชำแหละ จัดหนักหามรุ่งหามค่ำแน่ๆ “วันชัย” ขึงขัง จี้ รบ.เข้าสภาฯ อย่าฝันเป็นของตาย โหวตให้ง่ายๆ

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสภา กล่าวถึงการเตรียมพิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทของส.ว.ว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 1 -2 มิถุนายนนี้ทันที ซึ่ง ก่อนหน้านี้ส.ว.ได้เตรียมพร้อมส่งพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับให้สมาชิกได้ศึกษา โดยทราบว่าคณะกรรมาธิการแต่ละคณะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้นำไปศึกษา แยกแยะ ลงลึกในรายละเอียด เชื่อว่า การอภิปรายจะเป็นไปด้วยเนื้อหาที่ถึงลูกถึงคน ถึงปัญหา และแนวทางแก้ไข ทั้งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะอย่างเข้มข้น ในฐานะสภากลั่นกรองตรวจสอบ และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอย่างถึงพริกถึงขิง เพราะทราบว่าคณะกรรมาธิการแต่ละคณะ มีทั้งอดีตรัฐมนตรี อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้บริหารระดับสูง ผู้มีประสบการณ์ที่ผ่านเรื่องเหล่านี้มามากมาย ย่อมรู้ย่อมเห็น และจะเป็นข้อมูลอย่างสำคัญในการอภิปรายตรวจสอบพ.ร.ก.ในครั้งนี้ ล่าสุด มีส.ส..แจ้งความจำนงที่จะอภิปรายถึง 50 คน

“การประชุมทั้ง 2 วันนั้นส.ว.จะอภิปรายแบบหามรุ่งหามค่ำ จัดหนักจัดเต็มจัดใหญ่ ทุกเม็ดทุกดอกของเนื้อหาสาระ บางคนบางคณะจะเล่นเรื่องแร้งลง รุมทึ้ง เชื้อชั่วไม่เคยตายจากการหากินงบประมาณ บางคณะก็ลงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐเป็นผู้กำหนดแต่ฝ่ายเดียวจนประชาชนขาดการมีส่วนร่วม ภาคประชาสังคมจะต้องมีส่วนอย่างสำคัญในการร่วมพิจารณาเยียวยาแก้ไข มีการอุ้มคนรวยช่วยคนจน กู้มาแล้วนำมาใช้ถูกต้อ มีการโกงกินทุจริตคอร์รัปชั่นในสถานการณ์วิกฤตจะเข้มงวดกวดขันได้อย่างเต็มที่หรือไม่ กู้มาแล้วนำมาใช้ไม่ให้มันรั่วไหลอย่างไร เหล่านี้คือประเด็นหลักๆใหญ่ๆที่เป็นความห่วงใยของส.ว.”นายวันชัย กล่าว

นายวันชัย กล่าวว่า รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องจะต้องรับฟัง ไม่ใช่มาแถลงแล้วก็ไม่อยู่ในที่ประชุม จะมาอีกทีก็ตอนมากล่าวขอบคุณเมื่อส.ว.โหวตผ่านแล้ว ทำเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ไม่ได้มีความจริงจังหรือจริงใจต่อส.ว. โดยไม่มานั่งรับฟังการอภิปรายให้ตลอด มีสมาชิกบางคนบางกลุ่มถึงกับบอกว่า ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับสภาก็อาจจะเห็นดีกัน อย่าคิดว่าส.ว.จะโหวตให้เสมอไป สถานการณ์เปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ทุกคนต้องเปลี่ยนเพื่อประเทศและประชาชน คิดแบบเดิมทำแบบเดิมอาจจะเป็นเรื่องของที่อื่น แต่วันนี้ เวลานี้วุฒิสภาไม่ใช่แล้ว และก็เปลี่ยนแล้ว เป็นมิติใหม่ของการทำงาน